ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับเลือกรับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีนโควิดจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และ แอสตราเซนเนกานั้น คาดหากเป็นไปตามเป้าคนไทยได้วัคซีนกลางปี 64

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าว “ความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของประชาชนไทย” โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมการแถลงข่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีน ตั้งเป้าหมายครอบคลุมร้อยละ 50 ลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้โดยเร็วที่สุด โดย "ทีมประเทศไทย" กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันเร่งรัดการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ใน 3 แนวทาง คือ จัดหาวัคซีนโควิด 19 โดยการจองล่วงหน้าผ่าน COVAX Facility และการตกลงแบบทวิภาคี (Bilateral Agreement), การเจรจาขอความร่วมมือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด 19 จากต่างประเทศ และการพัฒนาวัคซีนเองในประเทศ

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมใน COVAX facility (Expression of Interest) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับกรมควบคุมโรค กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนในประเทศ เร่งประสานความร่วมมือเพื่อให้ประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ได้ รวมทั้งได้เจรจาความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 ทั้งในเอเชียและยุโรป ซึ่งได้ดำเนินการไปพร้อมกับการเจรจาแบบกลุ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนไทยมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตราเซนเนกา ในการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด 19 ชนิด Adenoviral vector (AZD1222) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563

สำหรับการพัฒนาวัคซีนเองในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 7 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ mRNA, DNA, Viral-like particle (VLP), Protein Subunit, Viral vector, Inactivated และ Live attenuated จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และมหาวิทยาลัย โดยการวิจัยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด และอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 มี 3 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีนชนิด DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเซีย จำกัด และวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช (Plant based) โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งผู้วิจัยได้หารือกับหน่วยงานด้านควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาวัคซีนโควิด 19 อยู่บนกฎเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

“สำหรับการเตรียมการนำวัคซีนมาให้บริการ กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างติดตามผลการวิจัยวัคซีนแต่ละชนิด เพื่อทราบข้อบ่งใช้ ประสิทธิภาพ ข้อควรระวัง เมื่อมีวัคซีนที่วิจัยสำเร็จพร้อมจำหน่าย จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณารับรอง และเตรียมคำของบประมาณสำหรับจัดหาวัคซีน โดยทำงานร่วมกับองค์การเภสัชกรรมในการนำเข้าวัคซีน เมื่อจัดหาวัคซีนได้แล้วจะจัดส่งวัคซีนแก่สถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถบริการวัคซีนแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่” นายอนุทิน กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับวัคซีนเป้าหมายต้องจัดหาให้ได้ 50% ของประชากรคนไทย หรือคิดเป็น 30 ล้านคน หรือประมาณ 65 ล้านโดส ซึ่งก็จะดำเนินการทั้งในส่วนการเจรจาจองวัคซีน การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งกรณีนี้จะมีการทำข้อตกลงร่วมกันสิ้นเดือนนี้

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งเป้าไว้ร้อยละ 50 ของประชากรคนไทยทั้งหมด ในการจัดหานั้นจะแบ่งออกเป็น 1. การจองวัคซีนกับโครงการ COVAX facility ประมาณ 20 % 2.จากแอสตราเซนเนกาและมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดอีก 20% และ3. อีก 10% เป็นการเจรจาวัคซีนกับแหล่งอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนโครงการ COVAX facility นั้นอยู่ระหว่างการเจรจาจองวัคซีน ซึ่งหากบริษัทใดกว่า 20 ประเทศทำเสร็จ ก็คาดว่าไทยจะได้ใช้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งตามไทม์ไลน์ตั้งไว้ไม่น่าเกินกลางปี 2564 แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ผลิตวัคซีนว่าสำเร็จเมื่อไหร่

“ส่วนกรณีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทางมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และ แอสตราเซนเนกานั้น ได้มีการมาสำรวจในประเทศไทยว่าโรงงานใดมีศักยภาพ ซึ่งพบว่า สยามไบโอไซเอนซ์ มีประสิทธิภาพในการผลิตได้ถึง 200 ล้านโดส จึงมีการคัดเลือก และหลังจากมีการทำข้อตกลงเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว โดยคนไทยจะต้องมีการฝึกอบรมรับเทคโนโลยีก่อน ซึ่งตามไทม์ไลน์ของแอสตราเซนเนกาต้องผ่านการทดสอบระยะ 3 และผลิตได้ในเดือน ธ.ค.63 จากนั้นต้องขึ้นทะเบียนอย. ประเทศต้นทาง คือ อังกฤษ และต้องขึ้นทะเบียน อย.ในไทย ซึ่งหากผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพร้อมผลิตได้ประมาณเดือน มิ.ย. 2564 ” นพ.นคร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ทราบราคาซื้อวัคซีนแล้วหรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดราคาชัดเจน แต่เบื้องต้นในส่วนของ COVAX facility ราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 10.55 US ต่อโดส แต่ในส่วนของแอสตราเซนเนกา คาดว่าต้องราคาถูกกว่า เนื่องจากคิดราคาต้นทุนเท่านั้น ไม่เอากำไร

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนของไทยเป็นอย่างไร นพ.นคร กล่าวว่า ในส่วนของการผลิตวัคซีนโควิดmRNA ของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในส่วนการทดลองในคนระยะที่ 1 และ 2 หากใช้ได้ผลดีกระตุ้นภูมิคุ้มกันดี ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนนำผลมาเทียบกับต่างประเทศที่มีการศึกษาได้ผลระยะที่ 3 แล้ว เนื่องจากไทยไม่ได้มีปริมาณที่จะทดลองระยะที่ 3 ได้ อย่างไรก็ตาม จากนั้นก็ต้องดำเนินการเสนอขออนุญาตการผลิตต่อ อย.ต่อไป