ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น ครบรอบ 10 ปี ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ถอดบทเรียนความสำเร็จ ขับเคลื่อน “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง” ใน 10 ประเด็น ชี้มีศักยภาพ ขีดความสามารถปรับตัวรับมือวิกฤตและความเปลี่ยนแปลง ลั่นพร้อมสนับสนุน กระตุ้น เคียงข้างชุมชนท้องถิ่น

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายภาค (ศวภ.) และสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น จัดงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ: ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ (A Decade of Togetherness in Co-Creating Healthy Communities) ระหว่างวันที่ 27 – 29 ตุลาคม 2563 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายแนวคิด แนวทาง และวิธีการสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสร้างทศวรรษที่น่าอยู่บนฐานทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น

โดยมีองค์กรหลักในพื้นที่ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ท้องที่ องค์กรชุมชน หน่วยงานรัฐในพื้นที่ ภาคียุทธศาสตร์ อาทิ กรมการพัฒนาชุมชน กรมกิจการผู้สูงอายุ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะทำงาน ร่วมงานกว่า 2,000 คน จากกว่า 600 ตำบล

น.ส.ดวงพร กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นครั้งนี้ เป็นการสรุปบทเรียน 10 ปีที่ผ่านมา ของแผนสุขภาวะชุมชน สสส. และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และเป็นการเสริมศักยภาพผู้นำชุมชนท้องถิ่นให้สามารถวิเคราะห์ และสังเคราะห์รูปธรรมการปรับตัว หรือตั้งรับ (resilience) ของชุมชนท้องถิ่นทั้งในสถานการณ์ทั่วไปและวิกฤต รวมถึงร่วมกันชี้ทิศทางและร่วมกันกำหนดทิศทางอนาคต 10 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การรับมือภัยพิบัติและรับมือภาวะฉุกเฉิน (2) การควบคุมโรคติดต่อ (3) ระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น (4) การดูแลกลุ่มเปราะบาง (5) การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน (6) การเสริมความเข้มแข็งโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมโดยชุมชน (7) การจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนท้องถิ่น (8) การควบคุมและลดการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (9) เศรษฐกิจชุมชน และ (10) การจัดการอาหารชุมชน ซึ่งสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนได้สนับสนุน กระตุ้น และรณรงค์ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดย อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรชุมชน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“สสส.มีเป้าหมายที่จะสร้างผู้นำ ใน 3,000 ตำบลของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งจะขยายตัวเต็มทั่วทั้งประเทศ เป็นการสร้างเครือข่ายโดยการดึงศักยภาพของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนจัดการทุนทางสังคมของตนเอง ไม่เป็นภาระ แต่เป็นพลังสำคัญของรัฐในการพัฒนาประเทศ และเชื่อมั่นว่า สสส. ทำได้อย่างแน่นอน และจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” น.ส.ดวงพรกล่าว

น.ส.ดวงพรกล่าว กล่าวด้วยว่า ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ประกอบด้วย กิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ 3 ประการ คือ (1) ระบบการจัดการพื้นที่(คน-กลไก-ข้อมูล) (2) การพัฒนานวัตกรรม และ (3) การบูรณาการภายในชุมชนและภายนอกชุมชน จนเกิดเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง มีรูปธรรมการพัฒนา ที่รองรับพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่เข้ามากระทบกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง