ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้บริหารฯแถลงหลังอาจมีคนเข้าใจผิดนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” เบื้องต้นเฉพาะกทม. และในหน่วยบริการปฐมภูมิ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก ฯลฯ ส่วนกรณีไม่มีใบส่งตัวนำร่องพื้นที่เขตสุขภาพ 9 นครชัยบุรินทร์ ทั้งหมด 1 พ.ย.63

 

หลังจากกรณีนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ และประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊กกรณีนายกรัฐมนตรี ประกาศคลายล็อก 30 บาทรักษาทุกที่ ไม่จริง ความเข้าใจผิดต้องรีบบอก พร้อมขอ สธ.-สปสช. รีบแจงให้ปชช.เข้าใจนั้น

(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ประธานชมรมแพทย์ชนบท ชี้คลายล็อกบัตรทองรักษาได้ทุกที่...ไม่จริง! เป็นเรื่องเข้าใจผิด)

 

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าว “ไขข้อสงสัย ก่อนดีเดย์ 1 พ.ย.63 รักษาปฐมภูมิทุกที่ ในเครือข่ายหน่วยบริการบัตรทองพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 และ 1 ม.ค.2564 ระบบบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองจะเปลี่ยนแปลงไป โดยพลิกโฉมบัตรทองใหม่ใน 4 ด้านสำคัญ คือ 1. รักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเป็นแบ่งกลุ่มโซนแต่ละเขต ซึ่งสามารถรักษาบริการได้ จากเดิมประชาชน 1 คนจะผูกติดหน่วยบริการ 1 แห่งแต่จากนี้สามารถรักษาที่ไหนก็ได้ในเขตที่กำหนด 2.ผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว นำร่องในเขตสุขภาพที่ 9 หรือกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ โดยหากผู้ป่วยป่วยด้วยโรคที่เกินศักยภาพของคลินิก คลินิกจะส่งต่อไปรักษาต่อที่ รพ. ซึ่งทุกครั้งที่จะไปรพ. ผู้ป่วยต้องกลับมารับใบส่งตัวจากคลินิกก่อน นำมาสู่ความยุ่งยาก เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ท่ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นไปผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีก

“3.มะเร็ง ส่งตรงถึงรพ.เฉพาะด้านที่ไม่แออัด กรณีโรคมะเร็งจะเริ่มวันที่ 1 ม.ค.2564 โดยรพ.แห่งที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็ง หากผู้ป่วยใกล้ที่ไหนสามารถรักษา หรือเข้าไปทำการฉายรังสีรักษาได้ โดยจะมีศูนย์ประสานงานให้ และ 4. ย้ายหน่วยบริการปุ๊บ รักษาที่ใหม่ได้ทันที ที่ผ่านมาเมื่อมีการย้ายรพ.ต้องรออีก 15 วัน แต่หลังจากวันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป ผู้ใช้สิทธิทั่วประเทศจะไม่ต้องรอ 15 วันอีกแล้ว” ทพ.อรรถพร กล่าว

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การนำร่องรักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อนนั้น เนื่องจากเดิมที่จำเป็นต้องยกเลิกคลินิกที่ผิดสัญญาไป 190 แห่ง และประจวบกับการหาคลินิกหรือหน่วยบริการใหม่ จึงถือโอกาสในการพลิกโฉมการบริการบัตรทอง ให้มีความสะดวกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 โดยประชาชนที่อยู่ในกทม.สามารถรับบริการได้ที่ไหนก็ได้ที่ใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. เป็นแม่ข่าย และหน่วยบริการ ร่วมกับเครือข่ายหน่วยบริการต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็น 1.หน่วยบริการปฐมภูมิ มีประมาณ 50 แห่ง แต่ละหน่วยจะดูแลประชากรละ 10,000 คน และ2.คลินิกร่วมบริการ ซึ่งเป็นคลินิกเวชกรรม และคลินิกเฉพาะทางเปิดบริการตอนเย็นมีประมาณ 63 แห่ง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ประชาชนสามารถสอบถามมาได้ว่า มีคลินิกใดบ้างที่เข้าร่วม และสามารถรักษาจุดไหนเพื่อความมั่นใจ ซึ่งสอบถามมาทางสายด่วนสปสช. 1330 หรือผ่านแอปพลิเคชันก้าวใหม่ สปสช.

ด้าน นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ มี 50 เขต แบ่งออกเป็น 6 โซน โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการที่สามารถรับบริการสาธารณสุขได้รวม 136 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง โรงพยาบาลรัฐ 31 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 10 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น 26 แห่ง โดยจะให้บริการเป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิ มีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นแม่ข่าย และให้บริการร่วมกับหน่วยบริการร่วมต่างๆ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกพยาบาลและผดุงครรภ์ คลินิกทันตกรรม เป็นต้น

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมการแพทย์ ซึ่งมีสถานพยาบาลรักษาโรคมะเร็งในระดับภูมิภาค 7 แห่ง และได้ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็งเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการบริการผู้ป่วยมะเร็งในวันที่ 1 ม.ค.2564 โดยจะมีระบบลงทะเบียนมะเร็งทั่วประเทศ ทำให้ทราบว่ารพ.ไหนมีเครื่องฉายรังสีรักษา หรือมีเตียงพร้อมในการให้บริการ ก็จะมีข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยไปรับบริการใกล้บ้านได้ และไม่ต้องรอคิวนานในการฉายรังสีรักษาเหมือนในอดีตอีก นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมโดยจะดูตัวอย่างจากรพ.มะเร็งอุบลราชธานี ที่ร่วมกับยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการรถให้กับผู้ป่วยที่จะมารักษา เพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของผู้ป่วย เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ป่วยต้องเหมาค่ารถกันมาเอง ซึ่งตรงนี้จะดูว่าจะมีการร่วมมือลักษณะนี้ได้อย่างไร

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่วนตัว เบื้องต้นนำร่องในหน่วยบริการเขตสุขภาพที่ 9 หรือนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งเดิมกว่าจะรักษาที่ รพ.ได้ ต้องกลับมาคลินิกมาขอใบส่งตัวและถึงไปรพ.ได้ ทำให้เสียเวลชา เสียค่าใช้จ่าย แต่หลังจากวันที่ 1 พ.ย.2563 เป็นต้นไปไม่ต้องใช้ใบสี่งตัวอีกต่อไป