ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คืบหน้าพบเชื้อสถานกักกันทางเลือก ASQ จ.สมุทรปราการ หลังหญิงฝรั่งเศสติดเชื้อโควิด พบมีผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 2 รายติดเชื้อเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องเชื้อที่พบในฟิตเนส เหตุไทม์ไลน์ไม่ได้ ส่วนรายละเอียดการติดเชื้อรอถอดรหัสสารพันธุกรรม 2-3 วัน

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวความคืบหน้ากรณีการสอบสวนโรคเพิ่มเติมผู้ป่วยหญิงชาวฝรั่งเศสอายุ 57 ปีติดโควิดในสถานที่กักกันทางเลือก หรือ Alternative State Quarantine (ASQ) และพบเชื้อในฟิตเนตภายในพื้นที่ส่วนกลางของ ASQ รวมทั้งความคืบหน้ากรณีอ.แม่สอด จ.ตาก ว่า ในกรณีอำเภอแม่สอด จ.ตาก ได้มีการตรวจหาเชื้อเพิ่มเติมกว่า 8,500 รายแต่ไม่พบผู้ติดเชื้อ ซึ่งถือว่า ขณะนี้แม่สอดเข้าสู่ขั้นปลอดภัย เพราะมีการเฝ้าระวัง มีการปรับระบบขนส่งสินค้าชายแดนให้ขนถ่ายที่พรมแดน คนขับรถบรรทุกจากฝั่งเมียนมาไม่ให้ลงจากรถ ส่วนคนขับรถบรรทุกไทยต้องตรวจทุกสัปดาห์ ไม่พบเคสเพิ่มเติม

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนกรณีหญิงชาวฝรั่งเศสที่ไปเที่ยวสมุยพบติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งติดจากสถานที่กักกันตัวทางเลือก (ASQ) พื้นที่ จ.สมุทรปราการ นั้น แม้จะอยู่ระหว่างสอบสวนโรคหาต้นตอเชื้อ แต่รายนี้สามารถติดตามผู้สัมผัสทุกระดับได้ครบแล้ว ทั้ง 126 ราย ยังไม่พบใครติดเชื้อแม้แต่ลูกและสามีที่ใกล้ชิดที่สุด อย่างไรก็ตามได้ให้โรงแรมที่เป็น ASQ ที่คาดเป็นจุดที่หญิงฝรั่งเศสติดเชื้อให้หยุดรับผู้เข้ากักตัวรายใหม่เพิ่มชั่วคราว ส่วนคนเก่าที่อยู่ระหว่างกักตัวให้อยู่ไปก่อนจนครบ 14 วัน โดยให้มีการติตดามดูอาการทุกวัน และเมื่อครบกำหนดออกให้มีระบบตามตัวต่ออีก 7 วันให้แน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อและแพร่เชื้อ ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่กรมควบคุมโรคคาดการณ์ไว้แล้ว แต่ส่วนขอจุดบกพร่องใน ASQ ที่กลายเป็นโอกาสแพร่เชื้อจะเร่งสรุปเพื่อจัดการ ASQ ทั้งระบบให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นต่อไป

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การลงพื้นที่สอบสวนโรคเพิ่มเติมที่สถานกักกันทางเลือกดังกล่าว พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเวลาไล่เลี่ยกันมี 3 ราย รวมหญิงชาวฝรั่งเศส แต่ทั้ง 3 รายเมื่อพิจารณาจากไทม์ไลน์การติดเชื้อและการออกจากสถานกักกันทางเลือก เพื่อเข้าสู่การรักษาที่สถานพยาบาลนั้น ไม่น่าเกี่ยวข้องกับฟิตเนสที่พบเชื้อ อย่างไรก็ตาม ขอให้รอผลการถอดรหัสสารพันธุกรรมเชื้อภายใน 2-3 วัน ก็จะทราบผลว่า ติดเชื้ออย่างไร และเกี่ยวพันอย่างไร

นพ.ธนรักษ์ ผลิตพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การตรวจเจอเชื้อในพื้นที่ฟิตเนส ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลาง แปลว่า เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายความว่า สถานที่กักกันจำเป็นต้องเข้มเรื่องแนวทางเฝ้าระวังและควบคุมโรคภายใน ASQ มากขึ้น เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้จะมีการถอดบทเรียนและทำเป็แนวทางเพื่อให้มีการดำเนินการเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ทีมงานสอบสวนโรคำลังสรุปว่า สถานที่กักกันทางเลือกต้องปรับอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพว่า ทางทีมสอบสวนโรคเจออะไรมา และให้คำแนะนำไป เพื่อให้ทางสบส.ดำเนินการกำชับ ASQ แล้ว อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่เกิดขึ้นอยากให้ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะขณะนี้เกาะสมุยได้มีการดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวัง ผุ้ใกล้ชิดทั้งหมด และขอย้ำว่า การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การเว้นระยะห่าง การล้างมือบ่อยๆ แนวทางเหล่านี้ยังสามารถป้องกันการแพร่กระจายและการติดเชื้อโควิด-19 ได้  

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีเคส 3 รายเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน และเป็นการติดเชื้อใน ASQ หรือไม่ หรือติดเชื้อจากแหล่งใด นพ.โสภณ กล่าวว่า ขอให้รอผลการถอดรหัสสารพันธุกรรมเชื้อก่อน ประมาณ 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลของผู้ป่วย 3 ราย ขณะนี้รักษาตัวที่รพ.ทั้งหมด โดยรายแรก คือ หญิงชาวฝรั่งเศสที่ติดเชื้อ โดยเข้าสถานที่กักกันทางเลือกวันที่ 30 ก.ย. 2563 ออกจาก ASQ วันที่ 15 ต.ค. และตรวจพบเชื้อวันที่ 20 ต.ค.2563 ส่วนรายที่ 2 เข้าสถานที่กักกันทางเลือกวันที่ 8 ต.ค. ตรวจเจอเชื้อครั้งที่ 2 พบเชื้อวันที่ 19 ต.ค. และรายที่ 3 เข้าสถานที่กักกันทางเลือกวันที่ 12 ต.ค. และพบเชื้อวันที่ 15 ต.ค. ซึ่งตรวจเจอครั้งแรก โดยทั้ง 3 ราย เมื่อพบเชื้อก็เข้าสู่รพ.เพื่อทำการรักษาทันที และสอบถามทั้ง 3 รายก็บอกว่าไม่ได้ไปฟิตเนส อยู่แต่ในห้อง ยกเว้นตอนตรวจเชื้อ

“ ขณะที่ฟิตเนตเจอเชื้อติดที่อุปกรณ์ออกกำลังกาย โดยเก็บตัวอย่างในวันที่ 23 ต.ค. และรายงานผลวันที่ 24 ต.ค.ดังนั้น จึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับ 3 รายนี้ แต่เชื้อจากไหนยังบอกไม่ได้ ต้องรอการสอบสวนโรคเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นทำให้ต้องมีการกำชับและตรวจ ASQ อื่นๆในเรื่องของการเข้มงวดเชื้อที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม แต่กรณีนี้เชื้อที่เจอฟิตเนสก็ไม่ได้พบในปริมาณมาก” นพ.โสภณ กล่าว และว่า ดังนั้น อย่าไปกังวลเรื่องเชื้อที่พบในฟิตเนส และไม่ได้กระทบออกไปสู่ภายนอกสถานที่กักกันทางเลือกแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องมีการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎระเบียบ หรือบทลงโทษอะไรหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ได้มีบทลงโทษ แต่เป็นความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ระยะสั้นได้มีการหารือกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดย 1.ขอความร่วมมือใหเ ASQ แห่งนี้หยุดรับคนเข้ามาใหม่ 2. ส่วนคนเก่า ยังไม่ให้ย้ายไปสถานที่ไหน ให้อยู่ครบจนถึง 14 วัน และเมื่อครบแล้วจะมีการติดตามต่อเนื่อง 7 วัน และตรวจหาเชื้อซ้ำ

“กรณีที่พบเชื้อในฟิตเนสพื้นที่ส่วนกลางของ ASQ นั้น นับเป็นครั้งแรกที่เจอว่ามีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งในสถานที่กักกันทางเลือกอื่นๆก็ยังไม่ได้มีการตรวจ ซึ่งจะเป็นอีกขั้นตอนว่า ควรต้องมีการตรวจเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของกฎหมายนั้น ขณะนี้มีการพิจารณาในส่วนของพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยจะทำเป็นนโยบายระดับชาติที่เรียกว่า national quarantine policy เพื่อออกเป็นหลักเกณฑ์การกักตัวที่ต้องมีการควบคุมโรคอย่างไร และต้องให้สมดุลกันระหว่างการควบคุมโรค กับเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งตรงนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ จะมีข้อระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ขณะนี้บทลงโทษก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไรได้” รักษาการอธิบดีคร.กล่าว