ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข สถาบันพระบรมราชชนก และมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ลงนามความร่วมมือพัฒนาบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ฯ และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม 93 แห่ง ตามนโยบายหมอ 3 คนดูแลทุกครอบครัว

วันที่ 28 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) พร้อมด้วยนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมชาย ธรรมสารโสภณ อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรในระดับปริญญาโท การพัฒนาหลักสูตรผู้นำ และหลักสูตรปรับฐานวิชาการแพทย์แผนไทย พร้อมทั้งรับมอบรถพยาบาลฉุกเฉิน 2 คัน มูลค่า 2 ล้าน 6 แสนบาท จากบริษัทซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อมอบให้ สอน.บ้านโป่งสา อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และสอน.ไอปาโจ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และประชุมสามัญประจำปีคณะกรรมการพัฒนา สอน. ปี 2563

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า มูลนิธิพัฒนา สอน.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน สอน. และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม ทั้ง 93 แห่งทั่วประเทศ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็งให้ทุกครอบครัว มีหมอ 3 คน ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพใกล้บ้าน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดแออัดโรงพยาบาลใหญ่ จึงได้ลงนามความร่วมมือ 3 หน่วยงาน ร่วมกันติดอาวุธทางปัญญา พัฒนาองค์ความรู้การบริหารจัดการ สร้างเครือข่ายนักจัดการระบบสุขภาพ ดูแลสุขภาพประชาชนตามบริบทของพื้นที่ ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน เป็นการพัฒนากำลังคนด้านการบริหารจัดการระบบสุขภาพของประเทศ ปฏิรูประบบสุขภาพให้เกิดความเข้มแข็ง รวมถึงการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนานาประเทศ โดยใช้แนวคิดการสาธารณสุขมูลฐาน และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

สำหรับการประชุมสามัญประจำปี คณะกรรมการมูลนิธิ ฯ ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนา สอน. และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม ปี 2564 – 2565 และแผนดำเนินงานของมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ประจำปี 2564 เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ องค์กรนำความรอบรู้ สง่างามสมพระเกียรติ

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการพัฒนา สอน. ซึ่งมี 82 แห่ง และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม 11 แห่งทั่วประเทศ คือ การบริการเชิงรุก สอดรับกับภาวะฉุกเฉินการระบาดโรคโควิด 19 และโรคอุบัติใหม่ รองรับการบริการที่จะลดแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ ให้บริการแบบ New normal เช่น การส่งยาโรคเรื้อรังที่บ้าน พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัคร/ จิตอาสา ทำงานเชิงรุกในชุมชนแบบ New normal และวางระบบ 3P Safety ปลอดภัยทั้งผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ และประชาชน รวมทั้งพัฒนามาตรฐานการทำงานในระบบบริการ การสร้างจิตสำนึกรักองค์กร ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ มีการบริหารจัดการทรัพยากรและระบบกำกับติดตาม

สำหรับสาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้คือ การพัฒนาหลักสูตรที่มีการออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม ได้แก่ หลักสูตรระดับปริญญาโท และหลักสูตรระยะสั้น 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร “สร้างผู้นำ” สำหรับผู้บริหารในการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ และหลักสูตร “ปรับฐานวิชาการแพทย์แผนไทยเพื่อการทำงานในระบบสุขภาพปฐมภูมิ” ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของชุนชน และเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง