ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดโควิด ล่าสุดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาอัปเดตแนวทางการรักษาโควิด-19 ยิ่งตรวจไว ยิ่งรอด!  พร้อมเผยการตรวจยีนไวรัส พบเชื้อได้ตั้งแต่ระยะฟักตัว ขณะที่ให้  "ยาฟาวิพิราเวียร์" ช่วยลดการเข้าไอซียู ลดอัตราเสียชีวิต 68 เปอร์เซนต์

ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอก 2 ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือร่วมใจทั้งด้านการคิดค้นวัคซีน ตลอดจนแนวทางการรักษาและวินิจฉัยโรคโควิด-19 ภายในงาน Virtual Policy Forum : Updating on Diagnosis, Treatment and Vaccine of COVID-19 ซึ่งจัดโดยกรมการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี สำนักข่าว Hfocus The Reporters และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุยในหัวข้อ "Update แนวทางการวินิจฉัยและการรักษา COVID-19" ที่โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าสาขาไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงระยะการติดเชื้อโควิด-19 ว่า การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อ ระยะห่างจากผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงภูมิคุ้มกันในร่างกาย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ทำให้การสัมผัสผู้ติดเชื้อนั้น เกิดการติดเชื้อสำเร็จ แต่ถ้าได้รับเชื้อเข้ามาแล้วจะอยู่ในระยะฟักตัว ตั้งแต่ระยะรับเชื้อจนมีอาการอยู่ระหว่าง 4-12 วัน ระยะที่มีอาการจะแพร่เชื้อได้ จริง ๆ แพร่ได้ตั้งแต่ก่อนมีอาการ จากนั้นระยะฟื้นตัวคนไข้หาย ไวรัสน้อยลงจากภูมิคุ้มกันที่ดีช่วยทำลายไวรัส แต่คนไข้บางคนไม่ได้หายอย่างที่ต้องการ 7-10 วัน อาการกลับรุนแรงขึ้น แม้จะไม่เจอไวรัสแล้ว เพราะคนไข้บางคนมีภูมิคุ้มกันที่ดี เมื่ออาการดีขึ้นแล้วภูมิคุ้มกันกลับไม่หายไปแต่กลับไปทำลายร่างกายตนเอง เช่น การหลั่งสารทำให้อักเสบทั่วร่างกาย หรือมีอาการปอดบวมจากภูมิคุ้มกัน ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิต แต่ก็มีเด็กที่เสียชีวิตได้เช่นกัน

การวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นโควิด-19 หรือไม่นั้น ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ อธิบายว่า การวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการจะแม่นยำมากขึ้นเมื่อคนไข้มีอาการ มีประวัติในการสัมผัสผู้ติดเชื้อ หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการติดเขื้อ ซึ่งการตรวจเจอเชื้อในห้องปฏิบัติการทำได้โดยการตรวจยีนของไวรัส (RT-PCR) จะพบได้ตั้งแต่ระยะฟักตัว จึงดูได้ตั้งแต่ตอนกักตัวว่าติดเชื้อหรือไม่ รวมถึงดูปริมาณเชื้อ เป็นวิธีที่มีมาตรฐานดีที่สุดขณะนี้ การตรวจโปรตีนของไวรัส (Antigen) ก็สามารถตรวจได้แต่ต้องใกล้ ๆ มีอาการถึงจะตรวจเจอ เหมาะแก่การตรวจเบื้องต้น แต่ถ้าเป็นการตรวจแอนติบอดี (Antibody) มักจะช้าเกินไป ซึ่งจะเจอตอนที่คนไข้อาการรุนแรงหรืออยู่ในระยะฟื้นตัวแล้ว นอกจากนี้ ยังมีเทสต์อีก 2 เทสต์แต่ไม่ได้ใช้บ่อยนัก การเพาะแยกเชื้อ (การนำเชื้อคนไข้มาเพาะ) วิธีนี้ใช้เวลานาน 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนวิธีที่เร็วกว่านั้นชื่อ Subgenomic RNA แต่ยังเป็นวิธีที่ต้องพัฒนาต่อไป

"ส่วนการตรวจเก็บตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อจะเก็บทางจมูก เอาสารสังเคราะห์ใส่เข้าไปจนชนด้านหลังของผนังลำคอปั่น 6 ครั้งค่อยดึงออกมา แล้วก็ทำการกวาดคอ จากนั้นใส่ในหลอดที่มีสารเลี้ยงเซลล์ สำหรับการตรวจเลือดจากปลายนิ้วเป็นการตรวจแอนติบอดี (การตรวจภูมิคุ้มกัน) ในระยะฟักตัวถึงมีอาการ ก็ตรวจไม่พบ จึงไม่ควรใช้ในการวินิจฉัย แต่การตรวจชนิดนี้จะมีประโยชน์ในการประเมินหลังจากติดเชื้อได้ หรือใช้ในรายที่ตรวจแล้วเป็นลบแต่อาการคล้ายโควิด-19 ก็มาตรวจภูมิคุ้มกันเพิ่ม" ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ เสริม

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า อาการผู้ป่วยโควิด-19 จะคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสทั่วไป โดยหลักการในการดูแลรักษาผู้ป่วย ต้องให้อยู่ในห้องแยกจะได้ไม่แพร่เชื้อต่อ ประเมินอาการ ตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์ปอด และตรวจเลือด ประเมินการทำงานของระบบต่าง ๆ เพื่อเช็คโรคร่วม ส่วนการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ ให้สารน้ำและออกซิเจนตามความต้องการของร่างกาย ให้ยาต้านไวรัสตามความรุนแรง ถ้าไม่รุนแรงหรือคนไข้เด็ก ก็อาจไม่ต้องให้ยา แต่บางรายก็ต้องให้ยาลดการอักเสบ ยาปฏิชีวนะ และยาอื่นเพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อน เฉพาะผู้ป่วยที่อาการมากหรือติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มเติม ผู้ป่วยโควิด-19 จำเป็นต้องประเมินและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนการให้กำลังใจเพราะผู้ป่วยต้องถูกจับแยกจากครอบครัว

การให้ยาสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ ศ.พญ.กุลกัญญา อธิบายว่า กลไกการใช้ยาต้านไวรัสรักษาโควิด-19 พบว่า ยาโลปินาเวียร์ (LPV/r) ซึ่งเป็นยารักษาเอชไอวี ใช้รักษาแล้วไม่ลดอัตราการตาย แม้ว่าในหลอดทดลองจะได้ผลดี แต่ข้อดีคือยาจะช่วยลดระยะเวลาการนอนไอซียูได้ ส่วนยาไฮดร๊อกซีคลอโรควิและคลอโรควิ (HCQ/CQ) ตระกูลยาต้านมาลาเรีย ใช้จริงแล้วไม่ได้ผลในคนจริงเช่นกัน ส่วนยาที่ใช้ยับยั้งการสร้างสายพันธุกรรม RNA ของไวรัส ยาตระกูลเรมเคสซิเวียร์ (RDV) ได้ผลดีในต่างประเทศ โดยฉีดเข้าทางเส้นเลือด เป็นยาที่ช่วยให้ร่างกายดีขึ้นได้เร็วแต่ไม่ลดอัตราการตาย ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่ายาทั้ง 3 ตัว หากใช้เป็นยาเดี่ยวๆจะไม่ได้ผล ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ (FPV) ยาตัวนี้ขึ้นทะเบียนที่อินเดีย ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย เป็นยากินตระกูลเดียวกับเรมเคสซิเวียร์ (RDV) ซึ่งถูกกว่า 10 เท่า จากการศึกษาพบว่าลดปริมาณไวรัสได้เร็วกว่า ทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่ตัวนี้ก็มีข้อเสีย หากตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกพิการ จึงเป็นยาที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงที่มีแนวโน้มจะตั้งครรภ์

จากการศึกษาผู้ป่วย 744 ราย ในโรงพยาบาล 9 แห่งในกรุงเทพฯ (การระบาดระลอก 1) ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 8 ราย เข้าไอซียู 66 ราย โดยผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นได้ไวคือ คนที่ไปโรงพยาบาลเร็ว ส่วนการให้ยาต้านไวรัสนั้น ศ.พญ.กุลกัญญา เพิ่มเติมว่า ต้องพิจารณาตามอาการของผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องให้ยา หากพบอาการน้อยให้ยาไฮดร๊อกซีคลอโรควิหรือคลอโรควิ และยาโลปินาเวียร์ ส่วนผู้ป่วยอาการน้อยแต่มีปัจจัยเสี่ยงจะให้ยาสองตัว ถ้าอาการรุนแรงจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งนี้ การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ รักษาภายใน 4 วัน พบว่าลดการเข้าไอซียู ลดอัตราเสียชีวิตได้ถึง 68 เปอร์เซนต์ ด้านการให้ยาสเตียรอยด์ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตหากมีอาการรุนแรง แต่ถ้าอาการไม่หนักใช้หรือไม่ใช้ก็ผลไม่ต่างกัน ส่วนการให้พลาสมาจะดีต่อเมื่ออาการรุนแรง แต่ไม่อาจช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเสียชีวิตได้ จากข้อมูลยังพบด้วยว่าผู้ป่วยชายมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ป่วยหญิง

ศ.พญ.กุลกัญญา เสริมด้วยว่า หากพบว่าเป็นโรคนี้แล้วต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 10 วัน จนไม่มีไข้ถึงกลับบ้านได้ หลังจากหายแล้วจะมีอาการปวดเมื่อย อ่อนล้า เพลีย คล้ายกับตอนเจ็บป่วย โดยอาการจะอยู่ได้นาน 2-6 เดือน การใช้ยาจึงอาจต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้นก่อนอาการหนัก เพื่อลดปัญหาป่วยเรื้อรังหลังจากหายจากโรค

ขณะที่ พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวถึงข้อมูลการรักษา ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบว่า กรณีผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคตับ โดยอาการของปอดอักเสบจะเริ่มราว ๆ 5 วันขึ้นไป พบเป็นที่ปอดทั้ง 2 ข้าง การรักษานอกจากการใช้ยาแล้วยังรักษาได้ด้วยการนอนคว่ำสำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบกรณีมีปอดอักเสบทั้ง 2 ข้าง การนอนคว่ำหัวใจจะกดไปด้านหน้า กดปอดด้านบนทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนดีขึ้น โดยท่านอนคว่ำ มือข้างหนึ่งชิดตัวอีกข้างทำคล้ายกับท่าว่ายน้ำ หน้าหันไปที่ไม่มีมือกั้น แนะนำว่าให้ทำเท่าที่ทำไหวหรือ 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป หากเป็นคนไข้รุนแรงใส่ท่อช่วยหายใจจะช่วยให้ออกซิเจนตกช้าลงได้ ทำให้การรักษาจัดการเชื้อได้ดีขึ้น ซึ่งต้องคว่ำ 16-18 ชั่วโมงโดยใช้ยาช่วยหลับ

"การรักษาปอดอักเสบรุนแรง หากใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ร่วมกับการนอนคว่ำ จะช่วยให้มีออกซิเจน ช่วยยื้อเวลา เมื่อรักษาผ่านไป 5 วันเห็นผลว่าคนไข้ดีขึ้น ส่วนการใช้ยากดการอักเสบ Tocilizumab จะเลือกใช้ในผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง หลังให้ยาแล้วอาการปอดอักเสบดีขึ้น แต่ตัวนี้เป็นการชะลอ ไม่ใช่ตัวหลักในการกำจัดเชื้อ นอกจากนี้ การรักษาผู้ป่วยวิกฤติโควิดในปัจจุบัน ยังมีการลดการใช้ท่อช่วยหายใจ เปลี่ยนเป็นให้ออกซิเจนผ่านการอัดหน้ากากหรือผ่านท่อแทน" พญ.เปี่ยมลาภ กล่าว

การวินิจฉัยและการรักษาโควิด-19 จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อคนไข้เข้ารับการตรวจอย่างทันท่วงที หากรู้ตัวว่าเสี่ยง พร้อมกับมีอาการไข้สูง ไอ มีเสมหะอาจพบเลือดปน ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อย หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ควรรีบมาโรงพยาบาล

เรื่องที่เกี่ยวข้อง