ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"การรู้หนังสือด้านสาธารณสุข" หรือ "ปัญญาด้านสาธารณสุข" หรือ Health literacy คือความสามารถในการรับข้อมูล ทำความเข้าใจและใช้ข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพเพื่อตัดสินใจด้านสุขภาพที่เหมาะสมและปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษา (1) มีวิธีการหลายอย่างที่จะสร้างปัญญาด้านสาธารณสุข ตั้งแต่การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา การให้ความรู้โดยบุคคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

            แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนทั่วไปซึมซาบความรู้ก็คือการทำให้ข้อมูลและภาพประกอบง่ายขึ้น หลีกเลี่ยงศัพท์แสงที่ซับซ้อน และใช้วิธี "สอนย้อนกลับ" หรือ teach-back" ในผู้ที่มีความรู้ด้านสุขภาพต่ำ ซึ่งวิธีการอย่างหลังคือการที่บุคคลาการทางการแพทย์สอนผู้ป่วย (หรือผู้รับการดูแล) ให้เข้าใจข้อมูลด้านสาธารณสุขแล้วให้พวกเขาสอนย้อนกลับมาที่ผู้บอกข้อมูลอีกที หากผู้ป่วยเข้าใจก็จะสามารถสอนกลับได้อย่างถูกต้อง วิธีการนี้สามารถช่วยให้ประชาชนมีปัญญาด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นได้

            จากรายงานของสถาบันการแพทย์  (Institute of Medicine) ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2547 ระบุว่าหากปัญญาด้านสาธารณสุขต่ำจะส่งผลเสียต่อผลการรักษาและความปลอดภัยในการให้การดูแลผู้ป่วย แต่ปัญญาด้านสาธารณสุขไม่ใช่แค่เรื่องของการรับสารโดยตรงเท่านั้น เพราะเมื่อเรามีความรู้เรื่องสาธารณสุขต่ำ เราจะตกเป็นเหยื่อของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือข่าวปลอมได้ง่าย

            ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 มาร์โค เกรโค (Marco Greco) ประธานฟอรั่มผู้ป่วยแห่งยุโรป (European Patients Forum หรือ EPF) กล่าวว่าถึงแม้ว่าสื่อสังคมและสื่อดั้งเดิม รวมถึงองค์กรผู้ป่วยและผู้กำหนดนโยบายล้วนมีบทบาทในการให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน แต่หากไม่มีการลงทุนด้านความรู้ด้านปัญญาด้านสาธารณสุขที่โรงเรียนอย่างเหมาะสม เราก็จะไม่สามารถต่อสู้กับข่าวปลอมได้

            เกรโคให้สัมภาษณ์กับสื่ออิสระของยุโรป EURACTIV ว่าถ้าเราไม่สอนวิทยาศาสตร์พื้นฐานในโรงเรียน และหากรัฐบาลยังคงกับโรงเรียนลงทุนน้อยต่อไปแบบนี้ สังคมก็จะผลิตคนที่มีความสามารถน้อยหรือทำความเข้าใจได้ยากกับข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์

            เกรโคบอกว่าสื่อภาคโซเชียลมีเดียก็มีความสำคัญ แต่ไม่เพียงพอที่จะปกป้องประชาชนในวงกว้างที่ยังเข้าไม่ถึงสื่อโซเชียลฯ และปัญหาหลักอย่างหนึ่งก็คือวิทยาศาสตร์ปลอม (หรือข่าวปลอม) ก็คือมันสามารถทำความเข้าใจได้กว่าวิทยาศาสตร์ของจริงมาก (2)

            เกรโคยังยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ คือการระบาดของโควิด-19 เขาชี้ให้เห็นว่าในช่วงแรกแม้แต่ชุมชนวิทยาศาสตร์ก็ยังสับสนกันเอง เช่นความสับสนเรื่องการใช้หน้ากากอนามัยและความคิดเห็นที่แตกต่างกันของผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนซึ่งทำให้ผู้คนสับสน ตลอดจนแนวทางปฏิบัติของโรงเรียนที่ฉุกละหุกเกินไปก่อนที่จะมีการเปิดภาคเรียน

            ในเวลานี้ในมีการแก้ไขปัญหานี้แล้ว ความท้าทายต่อไปคือตอนที่วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นำออกมารใช้กับสาธารณชน เมื่อนั้นจะเกิดความสับสนอีกเพราะตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่แล้วมีขบวนการต่อต้านการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลายโดยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ และยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยอีกด้วย ดังนั้น เขาจึงชี้ว่า ข้อมูลที่โปร่งใสชัดเจนและอิงตามหลักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวัคซีนโรคโควิด-19 สามารถปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติทั่วไปเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนได้ไม่เฉพาะกับวัคซีนโรคโควิด-19 แต่รวมถึงความกังขาในการใช้วัคซีนโรคอื่นๆ ด้วย (2)

            นอกจากในยุโรปจะมีความตื่นตัวในเรื่องการติดอาวุธทางปัญญาด้านสาธารณสุข ในเอเชียยังมีตัวอย่างจากฟิลิปปินส์ที่เสริมสร้างความรู้ด้านนี้เพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ ในช่วงปลายเดือยนสิงหาคม 2563 ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Duterte) ผู้นำของประเทศฟิลิปปินส์ได้สั่งให้กรมสามัญศึกษาจัดให้เสริมทักษะครูในด้าน Health literacy ขั้นพื้นฐานเพื่อช่วยให้ชาวฟิลิปปินส์สามารถตอบสนองต่อการแพร่ระบาดและสถานการณ์ด้านสุขภาพอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ดูเตอร์เตแถลงต่อรัฐสภาว่าการรู้หนังสือด้านสุขภาพจะเป็นสิ่งสำคัญในหลักสูตรของโรงเรียนในปีหน้า เนื่องจากประเทศกำลังต่อสู้กับโรคโคโรนาไวรัส  ซึ่งมีผู้ป่วยกว่า 205,000 คนทั่วประเทศในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 โดยเขาแถลงว่าได้สั่งการให้ส่งเสริมให้นักการศึกษา/ครูมีข้อมูลที่เพียงพอและสมเหตุสมผลเพื่อช่วยให้พลเมืองของประเทศมีทักษะความรู้ด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อยเพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคหรือภัยพิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการติดเชื้อของโรค และการทำเช่นนี้ จะช่วยให้ประชาชนไม่ได้อยู่นิ่งเฉยรับความช่วยเหลืออย่างเดียว เพราะทุกคนจะมีส่วนป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ (3)

            นอกจาก Health literacy จะมีความสำคัญในการต่อสู้กับข่าวปลอมแล้ว สิ่งสำคัญพอๆ กันคือการสร้าง "ความรู้เท่าทันด้านดิจิทัล" หรือDigital literacy ความสามารถของแต่ละบุคคลในการค้นหาประเมินและเรียบเรียงข้อมูลที่ชัดเจนผ่านการเขียนและสื่ออื่น ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ

            Digital literacy ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในด้านการป้องกันข่าวปลอมในด้านต่างๆ รวมถึงการยับยั้งข่าวปลอมช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ โดยก่อนหน้านี้มีการสร้างแพลตฟอร์มบางตัวขึ้นมาเพื่อช่วยกลุ่มประชากรวัยต่างๆ ในการรับมือกับข่าวปลอม เช่น MediaWise ซึ่งเริ่มในปี 2561 ด้วยเงินทุนจาก Google โดยเริ่มแรกมุ่งเน้นไปที่วัยรุ่นและนักศึกษา แต่ล่าสุดพวกเขาหันมาจับกลุ่มประชากรสูงวัยด้วยการตั้งแพลตฟอร์ม MediaWise for Seniors เพื่อช่วยผู้สูงวัยในการรับมือกับข่าวปลอมโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อข่าวปลอมได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น (4)

            ดังนั้น การขาดความรู้ดิจิทัลในผู้สูงอายุจึงถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุจได้เหมือนกัน เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับชาวออสเตรเลียในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในเรื่องนี้ โจ เมดลิน (Jo Medlin) ประธานขององค์การ Australian Council for Adult Literacy กล่าวว่าทักษะความรู้ด้านดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวออสเตรเลียสูงวัยเพื่อค้นหาข่าวสารที่น่าเชื่อถือและคำแนะนำด้านสาธารณสุขที่ทันเหตุการณ์ในช่วงการระบาด

            เมดลินชี้ว่าความรู้ดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงแค่การเข้าสู่ระบบและการใช้แพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลเพื่อใช้ทักษะและตรวจสอบความถูกต้องของสิ่งที่ถูกเผยแพร่ เมดลินย้ำว่าสติปัญญาด้านสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกออนไลน์มีแหล่งข้อมูลมหาศาลที่เข้าถึงได้ และต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดมากๆ เพื่อทำความเข้าใจกับพวกมันเรื่องนี้จึงป็นประเด็นที่ใหญ่มาก  (5)

            แต่ไม่ใช่คนสูงวัยเท่านั้นที่เป็นเหยื่อของข่าวปลอมเพราะขาดความรู้ด้านสาธารณสุข แต่ยังรวมถึงเยาวชนและนักศึกษามหาวิทยาลัยด้วย เพราะการศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่ามีนักเรียน/นักศึกษาน้อยกว่า 50% ที่มีความรู้ด้านสุขภาพในระดับสูงและได้เรียนรู้เกี่ยวกับการระบาดของโควิด -19 ผ่านโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต งานวิจัยหนึ่งยังพบด้วยว่าความรู้ด้านสุขภาพในระดับต่ำทำให้ผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีอาการที่เกี่ยวข้องกับโควิด -19 รู้สึกเครียดและซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่มีความรู้ด้านสุขภาพในระดับสูง ดังนั้นการขาด health literacy จึงนำไปสู่ปัญหาสุขภาพโดยตรงเช่นกัน

            ตัวอย่างเช่น งานวิจัยโดย Andrea Moscadelli พบว่าการสำรวจออนไลน์ที่จัดทำขึ้นในอิตาลีระหว่างการล้อคดาวน์พบความชุกของอาการทางจิตเวชในประชากรทั่วไปที่เชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19  เช่น ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการแพร่กระจายของข่าวปลอมเ นื่องจากข่าวปลอมจะได้ผลเมื่อผู้รับสารมีสภาพทางจิตใจที่ตึงเครียด สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีกเพราะระหวางล้อคดาวน์ประชาชนไม่สามารถไปไหนได้จึงต้องใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมากขึ้นผลกระทบของข้อมูลเท็จจึงสูงกว่าปกติ (6)

            การเสริมสร้าง health literacy จึงจะช่วยทั้งยับยั้งข่าวปลอมได้อย่างยั่งยืนและช่วยให้ให้หลีกเลี่ยงผลกระทบด้านวิจตวิทยาที่เกิดจากความกังวลได้ด้วย

 

 

อ้างอิง

1. Roundtable on Health Literacy; Board on Population Health and Public Health Practice; Institute of the Medicine (10 February 2012). Facilitating State Health Exchange Communication Through the Use of Health Literate Practices: Workshop Summary. National Academies Press. p. 1

2. Michalopoulos, Sarantis. (18 September 2020) "Teach health literacy at schools to combat fake news, expert says". EURACTIV. Retrieved 27 September 2020.

3. Esguerra, Darryl John. (28 August 2020). "Duterte orders DepEd to boost health education amid COVID-19 crisis". Inquirer. Retrieved 27 September 2020.

4. Span, Paula. (11 September 2020). "Getting Wise to Fake News". The New York Times. Retrieved 27 September 2020.

5. Cassidy, Caitlin. (20 September 2020). "Lack of digital literacy in elderly Australians a health issue". Canberra Times. Retrieved 27 September 2020.

6. Moscadelli A, Albora G, Biamonte MA, et al. Fake News and Covid-19 in Italy: Results of a Quantitative Observational Study. Int J Environ Res Public Health. 2020;17(16):5850. Published 2020 Aug 12. doi:10.3390/ijerph17165850

 

ภาพจาก - Government of NCT of Delhi / creativecommons