ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช อัปเดตสถานการณ์การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดมี 11 บริษัทเข้าสู่การทดลองระยะ 3 อันไหนใกล้ความจริงที่สุด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 พ.ย.63 ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กรณีความคืบหน้าวัคซีนป้องกันโควิด19 ว่า ณ เวลานี้เรายังอยู่ในช่วงขาขึ้นของโควิด ทุกๆ 2 วันมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 1 ล้านคน ขณะเดียวกันในหลากหลายประเทศรอบ 2 กลับมา หลายประเทศล็อกดาวน์ ปิดกิจการต่างๆ เพื่อควบคุมอย่างรวดเร็ว มีบางประเทศคนไข้เริ่มทะลัก ดังนั้น เรายังต้องเตรียมพร้อม ไม่ประมาท และต้องยึดมาตรการป้องกันโควิด ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เป็นต้น

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด19 นั้น ณ วันนี้มี 88 บริษัทที่อยู่ระหว่างศึกษาสัตว์ทดลอง ซึ่งใช้เวลาหลักเดือนก็ตอบได้แล้วว่า วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ และเมื่อจากสัตว์ทดลองได้ผล ก็จะเข้าสู่การศึกษาในคนเฟสที่ 1 ซึ่งดูความปลอดภัยเป็นหลัก ใช้จำนวนศึกษาไม่มาก 35 บริษัท และมี 14 บริษัทเข้าเฟสที่ 2 และมีอีก 11 บริษัทที่ทะลุไปเฟสที่ 3 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพ โดยการศึกษาระยะนี้ต้องใช้จำนวนมากเป็นหลักหมื่นคนมีทั้งยาจริงและยาหลอก และติดตามไป หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่เฟส 3 เรียบร้อยแล้วก็จะมีวัคซีนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในระยะทดลองเฟส 3 แต่เกิดความจำเป็นในประเทศนั้นๆ จนต้องอนุโลมให้ใช้วัคซีนได้มีอยู่ 6 บริษัท ที่มีการอนุโลมให้ใช้ในบางพื้นที่ และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนตัวใดได้รับการรับรองว่าใช้ได้ คือ ผ่านการทดสอบทั้งหมดแล้วยังไม่มี

ดังนั้น การทดลองวัคซีนที่เข้าสู่ระยะ 3 ณ ตอนนี้มีอยู่ 11 บริษัท ดังนี้

วัคซีนตัวที่ 1 อย่างของสหรัฐอเมริกา ใช้วิธีใหม่ mRNA เริ่มศึกษาระยะ 3 เมื่อเดือนก.ค. และศึกษาครบ 3 หมื่นราย ไปเมื่อปลายเดือนต.ค.2563 ซึ่งกำลังดูประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อ แต่อาจขอใช้แบบฉุกเฉินปลายปีนี้

วัคซีนตัวที่ 2 เป็นวัคซีนของเยอรมนี สหรัฐและจีน ใช้วิธี mRNA โดยศึกษาครบ 4.3 หมื่นรายเมื่อเดือนต.ค. ขณะนี้เช่นเดียวกันกำลังรอดูประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ คาดว่าจะผลิตได้เพียงพอต่อประชากรโลกในปลายปี 2564

วัคซีนตัวที่ 3 ของจีน เป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า Adenovirus เริ่มศึกษาระยะที่ 3 เมื่อเดือนส.ค. ศึกษาในซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน และรัสเซีย

วัคซีนตัวที่ 4 ของรัสเซีย สถาบันวิจัย Gamaleya ใช้ Adenovirus 2 ตัว เป็นตัวนำเชื้อ มีชื่อว่า Sputnik V โดยอยู่ในช่วงศึกษาระยะ 3

วัคซีนตัวที่ 5 สหรัฐอเมริกา ของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นการใช้วัคซีนเข็มเดียว อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ภูมคุ้มกันที่เกิดขึ้นในโควิด ซึ่งอยู่ในร่างกายของเรา เป็นภูมิคุ้มกันระยะสั้น จึงเป็นเหตุผลว่า การออกแบบวัคซีนทั้งหลายที่มีการออกแบบเป็น 2 เข็ม แต่มีของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ใช้เข็มเดียว แต่ก็มีภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มทดลอง 1 รายจึงหยุดไป 11 วัน ขณะนี้มาทดลองอีกครั้ง น่าจะเสร็จปลายปีนี้ และผลิตได้ 1 พันล้านโดสในปี 2564 หากได้ผล

วัคซีนตัวที่ 6 เป็นวัคซีนร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและแอสตราเซเนกา โดยได้มีการศึกษาระยะที่ 3 จำนวน 3 หมื่นราย ในบราซิล อเมริกาใต้ และสหรัฐ เคยเกิดภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มทดลอง 1 ราย เกิดการอักเสบของไขสันหลัง ต้องหยุดศึกษา 1 สัปดาห์ และเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมากลุ่มทดลองเสียชีวิต 1 รายในบราซิล และวันที่ 23 ต.ค. ให้กลับมาศึกษาต่อ อย่างไรก็ตาม การเปิดข้อมูลเรายังไม่รู้ว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับยาหลอกหรือยาจริง จนกระทั่งต้องไปศึกษาข้อมูลจนครบ

วัคซีนตัวที่ 7 วัคซีนของสหรัฐ ศึกษาในระยะ 3 จำนวน 1.5 หมื่นราย ผลการศึกษาน่าจะเสร็จต้นปีหน้า

วัคซีนตัวที่ 8 เป็นของจีนในอู่ฮั่น เริ่มศึกษาระยะที่ 3 ก.ย. และขยายวงต่อมา จนกระทั่งวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา อาหรับเอมิเรสต์จึงอนุมัติให้ฉีดวัคซีนนี้แบบฉุกเฉิน จนถึงวันนี้ยังไม่มีผลกระทบเชิงลบจากวัคซีนนี้

วัคซีนตัวที่ 9 จีนในปักกิ่ง ศึกษาะเฟส 3 และอาหรับเอมิเรสต์อนุมัติให้ฉีดวัคซีนแบบฉุกเฉินเช่นกัน

วัคซีนตัวที่ 10 เป็นของอินเดีย เพิ่งเข้าสู่ระยะ 3 เมื่อเดือนต.ค.

และตัวสุดท้ายน่าสุดใจ วัคซีนตัวที่ 11 เป็นของจีน โดยบริษัท Sinovac Biotech ผลิตวัคซีนชื่อ Coronavac ใช้เชื้อ Coronavirus ที่อ่อนแรงหรือตาย โดยได้ทดลองเฟส 3 ในบราซิลแ อินโดฯ และตูรกี มีการศึกษาในเด็ก และวันที่ 19 ต.ค.63 บราซิลประกาศว่า เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุดในวัคซีน 5 ตัวที่ทำการศึกษาเฟส 3 และเมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนอนุมัติให้ฉีดวัคซีนนี้แก่บุคลากรที่ทำงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมทั้งบุคลาการที่ดูแลด้านสุขภาพ ทำงานให้บริการสาธารณะในเมือง Jiaxing อย่างไรก็ตาม คาดการณืว่าจะเริ่งผลิตวัคซีนให้ประชาคมโลก เบื้องต้น 40 ล้านโดส ให้อินโดนีเซียภายในเดือน มี.ค.64 และภายในต้นปีจะผลิตออกสู่โลก

“สรุปเรื่องวัคซีนได้ว่า มีเพียง 7% เท่านั้นของวัคซีนที่ทดลองในสัตว์จะประสบความสำเร็จในคน วัคซีนที่ผ่านเข้าสู่การศึกษาในคน ประสบความสำเร็จเพียง 20% วัคซีนที่ผ่านการศึกษาในคนระยะที่ 3 อาจประสบความสำเร็จในการใช้จริงเพียง 50% คนต่างพื้นที่ต่างวัย อาจตอบสนองตอ่การฉีดวัคซีนไม่เหมือนกัน ดังนั้น วัคซีนจะผลิตได้ไม่น่าเร็วกว่ากลางปีหน้า ซึ่งวัคซีนที่ได้ผลที่สุดคือ ตัวเราเอง ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เช็กอินเช็กเอ้าท์ เราทำดีมาตลอด ต้องทำต่อเนื่อง หากเราอยากเห็นเศรษฐกินดำเนินการไปได้ พวกเราต้องช่วยกัน หากเราทำแบบเดิม เราก็ยังใช้ชีวิตนอกบ้านได้ หากเราไม่ช่วยกันหมด ก็จะเกิดเหตุการณ์เหมือนในบางประเทศในยุโรป อย่างสหราชอาณาจักรประกาศปิดประเทศจนถึงวันที่ 2 ธ.ค. 2563” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง