ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอโอภาส” เผยเสนอลดวันกักตัว 10 วัน ศบค.สธ.พิจารณา 5 พ.ย. ด้าน “หมอธีระวัฒน์” ย้ำทำได้จริง พร้อมเสริมความมั่นใจตรวจเลือดหาภูมิฯ ร่วมกับตรวจเชื้อในโพรงจมูก เริ่มทดลองแล้วทหาร 77 คนกลับจากตปท.

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในการประชุมมีการพิจารณาถึงกรณีการลดจำนวนวันกักตัว ประกอบด้วย 1. จากข้อมูลวิชาการของทั่วโลกพบว่า 10 วันถือว่ามีความปลอดภัย 100% และเป็นจำนวนวันที่เหมาะสม 2.จะต้องมีมาตรการในการตรวจเชื้อเพิ่มขึ้น ด้วยการเจาะเลือดร่วมกับการตรวจเชื้อที่โพรงจมูก โดยจะทำวันที่ 1 ของการมาถึง และวันที่ 5 และวันที่ 9 โดยวันที่ 10 ,11 ,12,13 และ14 ก็จะมีการเฝ้าระวังติดตามด้วยการใส่ริสแบนด์ในการติดตามตัวของผู้ที่เดินทางเข้ามา จากนั้นก็จะมีการโทรศัพท์สอบถามทุกวัน และ3. เลือกประเทศที่เสี่ยงน้อยก่อน เช่น จีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ เป็นต้น

“เบื้องต้นเราต้องเลือกกลุ่มประเทศที่เสี่ยงน้อยเข้ามาก่อน ในการลดจำนวนวันกักตัวเหลือ 10 วัน จาก 14 วัน โดยเรื่องนี้จะเสนอต่อที่ประชุมศบค.สธ. ที่มีปลัดกระทรวงฯ เป็นประธาน ซึ่งจะประชุมพรุ่งนี้(5 พ.ย.)” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว Hfocus  ว่า  การกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วันทำได้อยู่แล้ว และอาจได้ถึง 7 วันด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ประกอบด้วยหลักฐานทางสถิติว่า กักตัว 10 วันโอกาสแพร่ไปไม่แพร่นัก ซึ่งคำพูดตรงนี้ประชาชนยังตกใจ จึงต้องควบรวมมาตรการที่ 2 คือ เวลาเราพิจารณาว่าคนนั้นติดเชื้อหรือไม่ ต้องถามด้วยว่าปล่อยเชื้อได้ด้วยหรือไม่อย่างไร จะทราบตรงนี้ คือ ใช้วิธีเจาะเลือด โดยขั้นตอนการเจาะเลือดนั้นได้มีการทดสอบในทหารไทยที่กลับจากประเทศหนึ่งจำนวน 77 ราย โดยเริ่มต้นตรวจเลือดทุกคน พบว่า วันแรกที่เข้ามาจับได้ 11 ราย ซึ่งตรงนี้เมื่อเราพบเลือดบวก เราก็จะได้แยงจมูกหาเชื้อซ้ำในเฉพาะคนที่เลือดบวกก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้

“การเจาะเลือดนั้น เป็นการหาภูมิว่าคนนั้นมีตำหนิ ก็จะติดอยู่โดยการดูผลในเลือด แต่ไม่ได้หมายความว่า คนนั้นสามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งตรงนี้จะทราบได้คือ ต้องตรวจในโพรงจมูก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีข้อมูลที่แม่นยำมากเรื่องนี้ ก็ต้องนำเรียนให้ศบค.ทราบและสื่อสารต่อประชาชนให้เข้าใจ เพราะถ้าปิดแบบนี้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพก็จะไม่มา สิ่งที่ต้องระวังคือ แรงงานที่เข้ามาตามตะเข็บชายแดนมากกว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาตามระบบมากกว่า” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว