ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. – มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิด 22 งานวิจัยชุมชนลุ่มน้ำโขง หวังแก้ปัญหาระบบนิเวศเสียหาย ผลจากต่างประเทศสร้างเขื่อนกั้น ทำกระแสน้ำโขงตอนล่างขึ้นลงผิดธรรมชาติ ชาวบ้านจับปลาได้น้อยลง 50%

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องประชุม 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา“ทิศทางการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำโขง จากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยชุมชนลุ่มน้ำโขง” นำเสนอแลกเปลี่ยนผลการทำวิจัยโดยชุมชน เพื่อแก้ปัญหาและฟื้นฟูระบบนิเวศในลุ่มน้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรริมน้ำโขงทั้ง 7 จังหวัด ได้แก่ เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้น 22 งานวิจัย/พื้นที่

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ในปี 2562 สสส. ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนการจัดทำข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง ด้วยการใช้กลไกให้คนในชุมชนศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง ซึ่งที่ผ่านมามีสาเหตุหลักมาจากความผันผวนของสภาพดินฟ้าอากาศ และการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำสายหลักในต่างประเทศ และกระทบต่อมายังลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่คาบเกี่ยวมายังหลายจังหวัดในประเทศไทย สำหรับผู้ได้รับผลกระทบเป็นชาวบ้านกว่า 1,000 หมู่บ้าน ที่ประกอบอาชีพประมง เกษตรริมโขง และผู้เลี้ยงปลากระชัง ทำให้ขาดรายได้และแหล่งอาหารโปรตีนจากธรรมชาติที่ได้จากปลานานาชนิด

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า โครงการฯ สนับสนุนให้ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมประมง และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาระบบนิเวศ บนพื้นฐานข้อมูลงานวิจัยชุมชนทั้ง 22 พื้นที่ ทั้งนี้ปัญหาปากท้องนับเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเริ่มต้นในงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่จะต้องได้รับการแก้ไขก่อนเป็นอันดับแรก ๆ เพราะเมื่อประชาชนมีการบริโภคที่สมบูรณ์และมีเศรษฐกิจครัวเรือนที่ดีแล้ว จึงจะหันมาใส่ใจการมีสุขภาพดี

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

นายมนตรี จันทวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะฯ กล่าวว่า มูลนิธิทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับตัวแทนนักวิจัยซึ่งเป็นคนในชุมชน ได้ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบ และกำหนดทิศทางแก้ไขที่เหมาะสม โดยจำแนกชุมชนออกเป็น 7 กลุ่ม (1) กลุ่มที่มีภาคีความร่วมมือกับหน่วยงานของกรมประมงอย่างต่อเนื่อง คือกลุ่มที่เรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลากับกรมประมง จัดประชุมระดมความคิดเห็นต่างๆ (2) กลุ่มที่มีภาคีความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือกลุ่มที่ประสานความร่วมมือกับ อบต. ในการลงพื้นที่สำรวจระบบนิเวศและทำกิจกรรมร่วมกัน (3) กลุ่มที่บูรณาการแผนอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำร่วมกับการท่องเที่ยวชุมชน คือกลุ่มที่นำวัฒนธรรมชุมชนมาประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (4) กลุ่มที่มีการติดตามตรวจวัดการเจริญเติบโตของพันธุ์สัตว์น้ำในเขตพื้นที่อนุรักษ์ (5) กลุ่มที่มีแผนการขุดลอกในพื้นที่เขตอนุรักษ์ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศหนองน้ำเดิม เพื่อเตรียมแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำให้มีความพร้อมในช่วงน้ำน้อย(6) กลุ่มที่ต้องการการวางแผนปรับปรุงทางปลาผ่านให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบนิเวศแม่น้ำโขงได้ และ (7) กลุ่มที่มีระบบนิเวศย่อยเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบนิเวศแม่น้ำโขง คือกลุ่มที่มีการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสร้างแหล่งอาหารสำรอง

นายมนตรี กล่าวต่อว่า งานวิจัยจากชุมชนนำร่องจะเริ่มถูกนำไปปฏิบัติใช้ ซึ่งล่าสุดพบว่าหลายพื้นที่เริ่มทดลองนำแผนกำหนดทิศทางการจัดการทรัพยากรไปปฏิบัติ ยกตัวอย่างบ้านป่งขาม ม.1 ต.ป่งขาม อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาจับปลาได้น้อยลงถึง 50% จึงมีการจัดทำแหล่งอนุบาลปลาในหนองค้า ซึ่งเป็นหนองน้ำในชุมชน โดยปล่อยพันธุ์กุ้งไปจำนวน 20,000 ตัว ปลาบึก 1,300 ตัว ปลาเทโพ 700 ตัว ทำให้ชาวบ้านมีแหล่งทำกินอย่างยั่งยืน จากเดิมพึ่งพาการทำประมงในลำน้ำโขงเท่านั้น ซึ่งผลความก้าวหน้าเหล่านี้จะถูกนำไปเสนอต่อภาคนโยบาย อาทิ สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี และกรมประมง เป็นต้น