ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาชุดตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ชนิดรวดเร็ว (Rapid test)             เพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด 19 โดยใช้หลักการตรวจหาภูมิคุ้มกันวิทยา อ่านผลด้วยตาเปล่าจากตัวอย่างซีรัม พลาสมาและเลือดจากปลายนิ้ว ยื่น อย.รับรอง

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว “แล็บไทย Fight COVID-19โดยมีการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข และเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการเพื่อรับมือการระบาดของ       COVID-19 ว่า ตั้งแต่มีการระบาดโควิด-19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการพัฒนาวิธีตรวจวินิจฉัย ด้วยเทคนิค Real-time RT PCRซึ่งเป็นวิธีตรวจมาตรฐาน ที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับ พร้อมทั้งดำเนินงานตามนโยบาย “1 แล็ป 1 จังหวัด 100 ห้องปฏิบัติการ” รายงานผลใน       1 วัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาโรค COVID-19โดยตอนนี้มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองแล้ว 236แห่งทั่วประเทศครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดเหลือเพียง 1จังหวัดจะพัฒนาให้ตรวจได้ทั้งหมดสามารถรองรับการตรวจได้มากกว่า 20,000 ตัวอย่างต่อวัน (แบ่งเป็นศักยภาพการตรวจในกรุงเทพมหานคร 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และศักยภาพการตรวจในต่างจังหวัด 10,000 ตัวอย่างต่อวันหรือ 835 ตัวอย่างต่อเขตสุขภาพ ปัจจุบันมีจำนวนตัวอย่างที่ได้รับการตรวจสะสมรวม 1,217,873 ตัวอย่าง

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสยามไบโอไซเอนซ์ ร่วมวิจัยพัฒนาและผลิตชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี Real-time RT-PCR สนับสนุนการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อให้รวดเร็วและทั่วถึง สร้างความมั่งคงด้านสุขภาพของประเทศไทย มีแหล่งผลิตชุดน้ำยาภายในประเทศ เพื่อการให้บริการตรวจคนไทย ตลอดจนสนับสนุนการคัดกรองเพื่อกักกันในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการควบคุมและป้องกันโรคภายในประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีชุดน้ำยาตรวจ Real-time RT-PCR สำหรับ COVID-19 รองรับไปตลอดช่วงระยะเวลาการระบาดของ COVID-19 มีการสำรองชุดน้ำยาตรวจไว้ใช้กว่า 700,000 ตัวอย่าง

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ทั้งชนิด IgM และ IgG เพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด 19 โดยใช้หลักการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยาด้วยวิธีอิมมูโนโครมาโตกราฟี ชนิดอ่านผลด้วยตาเปล่าจากตัวอย่างซีรัม พลาสมาและเลือดจากปลายนิ้ว ซึ่งชุดตรวจนี้ เป็นการตรวจคัดกรองเท่านั้นและจะให้ผลที่มีความแม่นยำในกรณีที่ใช้กับตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อที่มีอาการมากกว่า 15 วัน ทั้งนี้ การทดสอบและการแปรผลต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ และควรตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสร่วมกับระดับแอนติบอดีเพื่อเพิ่มความไว ความจำเพาะและความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคโควิด 19

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับชุดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 เป็นการผลิตครั้งแรกของประเทศไทยที่ผ่านการทดสอบว่ามีความไว ความจำเพราะและความแม่นยำต่อโรคโควิด-19 มากกว่า 90% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียน กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ  1 เดือน หากผ่าน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะผลิตเพื่อนำมาใช้ในการสุ่มตรวจหาภูมิคุ้มกันคนไทย 60,000 คนทั่วประเทศ สรุปข้อมูลความชุกของโรคโควิด-19 ของไทย หากผลออกมาความชุกต่ำแสดงว่าต้องคงการ์ดสูงต่อไป เพราะแสดงว่าอัตราติดยังต่ำ ซึ่งกรมวิทย์ฯ มีกำลังการผลิตชุดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ 3,000 เทสต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนที่สนใจ นำไปผลิตเพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งการผลิตได้เองในประเทศทำให้ต้นทุนต่ำเพียงกว่า 100 บาทต่อเทสเท่านั้น ขณะที่หากนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาอยู่ที่ 300-500 บาท

​“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้พัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปนเปื้อน                ในบรรจุภัณฑ์และอาหาร โดยใช้ชุดน้ำยา DMSc COVID-19 Real-time RT-PCR Kit ซึ่งห้องปฏิบัติการได้ผ่านการเข้าร่วมแผนทดสอบความชำนาญการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผลอยู่ในเกณฑ์ยอมรับ และพร้อมให้บริการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประมาณเดือนธันวาคม 2563 ในตัวอย่างทุเรียนแช่แข็งและบรรจุภัณฑ์ในราคา 7,000 บาท/ตัวอย่าง ใช้ระยะเวลาการตรวจประมาณ 3 วันทำการ เนื่องจากทุเรียนเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยอย่างมาก เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ส่วนอาหารทะเลแช่แข็งชนิดอื่นๆ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการทดสอบความใช้ได้ของวิธี ซึ่งจะเปิดให้บริการในลำดับต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง