ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดรายละเอียดการตรวจทดสอบ แอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ชนิดรวดเร็ว ตรวจหาโควิดเสริม Real-time RT PCR

หลังจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุดตรวจทดสอบแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ชนิดรวดเร็ว หรือเรียกง่ายๆว่า เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อนำมาใช้ร่วมกับการตรวจหาเชื้อที่ใช้เป็นมาตรฐานทุกวันนี้ คือ การตรวจด้วยเทคนิค Real-time RT PCR

โดยชุดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาขึ้นมานั้น จะสามารถตรวจหาเชื้อได้ทั้งชนิด IgM และ IgG ซึ่งเป็นการตรวจอย่างเร่งด่วน สามารถทราบผลได้ภายใน 15 นาที โดยการตรวจวิธีนี้จะนำมาใช้เสริมกับการตรวจด้วยเทคนิค Real-time RT PCR คือ หากตรวจพบเชื้อจากการตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อก็จะส่งตรวจหาเชื้ออีกครั้งด้วย Real-time RT PCR

สำหรับรายละเอียดของการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิดจะแบ่งเป็นการตรวจชนิด ชนิด IgM และ IgG โดยการหา IgM หากผลเป็นบวกแสดงว่า ติดเชื้อ ส่วนการหา IgG หากผลเป็นบวกแสดงว่าติดเชื้อมานานแล้วกว่า 15 วันขึ้นไป ซึ่งไม่ใช่ช่วงแพร่เชื้อ

โดยการตรวจใช้หลักการอิมมูโนโครมาโตกราฟี โดยใช้ Anti-human IgM เคลือบบนเมมเบรนตรงบริเวณทดสอบ “M” ส่วน Anti-human IgG เคลือบบนเมมเบรนตรงบริเวณทดสอบ “G” และเคลือบแอนติเจนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ติดฉลากกับ colloidal gold บนแผ่นซับคอนจูเกต ซึ่งอยู่ระหว่างแผ่นซับตัวอย่าง และเมมเบรน เมื่อยหดตัวอย่างซีรัม พลาสมา หรือเลือดครบส่วนลงในหลุมตัวอย่างกรณีที่ในตัวอย่างมีแอนติบอดีชนิด IgM และ/หรือ IgG ต่อเชื้อไวรัส โดยแอนติบอดีนั้นจะจับกับแอนติเจนบนแผ่นซับคอนจูเกต จากนั้นจะเคลื่อนตัวมาตามเมมเบรน และทำปฏิกิริยากับ Anti-human IgM และ Anti-human IgG มองเห็นเป็นแถบสีชมพูม่วง ตรงบริเวณตลับทดสอบ “M” และ/หรือ IgG ต่อเชื้อไวรัส ก็จะไม่ปรากฎแถบสีที่บริเวณดังกล่าว แต่จะเห็นแถบสีชมพูม่วงตรงบริเวณตลับทดสอบ “C” ที่จะต้องเกิดขึ้นทุกครั้ง เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าการทดสอบถูกต้องแปลผลได้

ทั้งนี้ การเจาะเลือด จะเป็นการเก็บเลือดปลายนิ้ว ซึ่งเมื่อนำเลือดมาลงในชุดทดสอบดังกล่าวแล้วก็ให้ทำตามขั้นตอนที่กล่าวไว้ข้างต้น และรออ่านผลเมื่อครบเวลา 15 นาที สรุปคือ หากแปรผลออกมาตัวแถบสีชมพูม่วงขึ้นตรง “C” แสดงว่าไม่พบเชื้อ แต่หากขึ้น IgM แสดงว่าติดเชื้อ หรือเพิ่งติดเชื้อ แต่หากขึ้นที่ IgG แสดงว่าติดเชื้อมานานแล้วตั้งแต่ 7 วันหรือ 15 วันขึ้นไป หากพบเชื้อก็จะต้องส่งตรวจเชื้อด้วยเทคนิค Real-time RT PCR ต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์