ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอประกิต แนะจับตา " โจ ไบเดน" ดันนโยบายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า หลังติดอิทธิพล บ.ยาสูบมานาน ชี้ผลกระทบประเทศไทย เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า เอาอนาคตเด็กไทยเป็นเดิมพัน


เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า เมื่อประมาณเดือน ม.ค. นายโจ ไบเดน เคยกล่าวในการหาเสียงว่าหากได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด ซึ่งขณะนี้นาย ไบเดน ชนะการเลือกเป็นประธานาธิบดี คนที่ 46 ของสหรัฐฯ จึงเกิดคำถามตามมาว่าจะสามารถทำตามที่ได้หาเสียงเอาไว้หรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าการควบคุมยาสูบเป็นนโยบายสาธารณสุขที่สำคัญอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนเวลาอันดับหนึ่งของคนอเมริกัน เสียชีวิตปีละ 480,000 คน และอีก 16 ล้านคนที่ป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละ 5.2 ล้านล้านบาท เท่ากับ 1.5 เท่าของงบประมาณปี 2564 ของไทย แต่ที่ผ่านมาประธานาธิบดีของสหรัฐฯ หลายคนมีนโยบายดังกล่าวแต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จมากนัก เนื่องจากถูกขัดขวางจากบริษัทบุหรี่ซึ่งมีอิทธิพลมาก อีกทั้งยังส่งผลต่อการจำหน่ายบุหรี่ในประเทศไทยด้วย


ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่นายไบเดน ดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิก มีผลงานสำคัญคือ งานคุ้มครองผู้บริโภค ท่าทีที่เขาพูดว่าจะห้ามบุหรี่ไฟฟ้า จึงน่าจะพูดออกมาจากใจจริง ซึ่งจากข้อมูลปี 2019 (พ.ศ.2562) พบว่าวัยรุ่นระดับมัธยมปลายลงมา มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 5.2 ล้านคน กลุ่มอายุ 18-24 ปีจำนวน 2.1 ล้านคน และผู้ใหญ่จำนวน 6 ล้านคน โดยอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในผู้ใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปีที่มีการเก็บสถิติ แต่ไบเดนจะฟันฝ่าอิทธิพลทางการเมือง ที่บริษัทบุหรี่มีต่อรัฐบาลและรัฐสภาอเมริกา เพื่อที่จะห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตาติดตามต่อไป


ศ.นพ.ประกิต กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งมีกฎหมายห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าที่ออกมาตั้งแต่ พ.ศ.2557 แต่กำลังถูกบริษัทบุหรี่ข้ามชาติและเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่บริษัทบุหรี่ข้ามขาติสนับสนุน เคลื่อนไหวผ่าน ส.ส.ให้มีการตั้งกรรมาธิการ เพื่อเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในไทย โดยมีอนาคตของเด็กไทยเป็นเดิมพัน เด็กไทยจะรอดพ้นหรือตกเป็นเหยื่อของการเสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้าไปตลอดชีวิตเหมือนกับเยาวชนหลายล้านคนในสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ ในอดีตนโยบายการเมืองระหว่าง 2 พรรคใหญ่ในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการควบคุมยาสูบของโลกรวมถึงไทยด้วย อาทิ ปี 2532 ประธานาธิบดีจอร์จ บุช จากพรรครีพับลิกัน การพยายามกดดันให้ไทยเปิดการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศเสรี ด้วยการเจรจาแบบทวิภาคี ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ แต่ไม่สำเร็จ โดยประเทศไทยยืนหยัดเจรจาต่อรองจนสหรัฐฯ ยินยอมตามข้อเสนอของไทย ส่งเรื่องให้แกตต์ (องค์การการค้าโลก) เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการเปิดตลาดบุหรี่ ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ได้ออกคำสั่งประธานาธิบดี ห้ามเจ้าหน้าที่สถานฑูตสหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ แทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของประเทศอื่น แต่ธุรกิจยาสูบในสหรัฐฯ มีอิทธิพลมาก ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา  สนับสนุนให้สหรัฐฯ ลงสัตยาบันในอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่อยู่ในตำแหน่ง 8 ปีก็ทำไม่สำเร็จ เพราะถูกคัดค้านจากบริษัทบุหรี่ผ่าน ส.ส.ของพรรครีพับลิกัน


ขณะที่ในสมัยประธานาธิบดี ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ได้เคยประกาศว่าจะห้ามการเติมสารปรุงแต่งกลิ่นรสในบุหรี่ไฟฟ้า สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จ ออกมาประกาศว่า เขาบอกลูกอายุ 13 ปีที่เป็นวัยรุ่นว่า อย่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าเด็ดขาด