ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดรายละเอียดยกระดับผู้ป่วยบัตรทอง วีไอพีทุกคน ขณะที่สปสช.ย้ำไม่ใช้งบประมาณเพิ่ม เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนระบบ ย้ำ “30บาทรักษาทุกที่” ยังยึดหลักรับบริการใกล้บ้านใกล้ใจ

ทันทีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประกาศยกระดับการบริการผู้ป่วยบัตรทองให้เปรียบเสมือนผู้ป่วย “วีไอพี” ทุกคน โดยเน้นประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง จนเกิดเกิดคำถามว่า จะทำได้จริงหรือไม่ เพราะภาพความแออัดในโรงพยาบาล การรอคิวรับบริการที่ต้องเดินทางมาตั้งแต่เช้าตรู่ การรวมกันของผู้ป่วยและญาติเหมารถจากอีกอำเภอเดินทางมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อรักษาพยาบาลกลายเป็นภาพคุ้นชินตาที่นานหลายปี

หากทำได้จริงย่อมถือเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่อีกครั้ง นับตั้งแต่ครั้งแรกที่มี “30 บาทรักษาทุกโรค” แต่ครั้งนี้มาในรูปแบบ “30บาทรักษาทุกที่” พร้อมยกระดับการบริการผู้ป่วยเป็นวีไอพีทุกคน

“การยกระดับผู้ป่วยบัตรทองให้เปรียบเสมือน “วีไอพี” คือ ต้องมีความแตกต่างจากการรับบริการรูปแบบเดิมๆ โดยคนไทยไปได้ทุกที่วีไอพีได้ทุกคน ความหมายคือ พวกเราเวลามองชาวบ้านต้องมองชาวบ้านเป็นตัวตั้ง จะทำอย่างไรให้พวกเขาได้ประโยชน์ มองพวกเขาเป็นคนสำคัญ เมื่อเป็นเช่นนั้นทุกคนจะเป็นวีไอพี..” ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อธิบายถึงการพลิกโฉมการบริการผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมการบริการสาธารณสุขอีกครั้งนับตั้งแต่มีนโยบาย “30บาทหรือบัตรทองรักษาทุกโรค”

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

โดยหลักการสำคัญของบัตรทอง คือ ประชาชนเจ็บไข้ได้ป่วยในเรื่องที่จำเป็นต้องมีสิทธิเข้าถึงบริการภายใต้สิทธิประโยชน์ที่พัฒนาขึ้นทุกปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่ง 18 ปี สปสช. มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนมาตลอด โดยการแสดงความคิดเห็นหนึ่ง คือ ประชาชนบอกว่าการเข้าถึงบริการดี แต่ไม่ต้องรอคิวนานได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อเข้าถึงปีที่ 19 ก็น่าจะมีการยกระดับอีกครั้ง และเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนที่ว่าจะปรับเปลี่ยนภาพความแออัด ในอดีตได้หรือไม่นั้น  ทพ.อรรถพร มองว่า จะค่อยๆดีขึ้น ภาพจะค่อยๆหายไป เห็นได้จากนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” หนึ่งในการยกระดับบัตรทอง ซึ่งนำร่องในพื้นที่กทม. บริการรักษาทุกที่ในระดับปฐมภูมิ คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข ของกทม. และคลินิกต่างๆ โดยปกติเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆน้อยๆ 80% ก็ไม่จำเป็นต้องไปรพ.ใหญ่ แต่จะไปหน่วยปฐมภูมิ ซึ่งหากขยายไปในต่างจังหวัดก็จะไปรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ซึ่งจะเป็นคลินิกย่อยๆ ที่เราสามารถเลือกใช้บริการได้ ในกลุ่มพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งจะลดการเดินทางไปรับบริการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ลดความแออัดได้ในส่วนหนึ่ง

“การบริการรักษาทุกที่ในระดับปฐมภูมินั้น เราเริ่มนำร่องในกทม. เมื่อวันที่ 1 พ.ย.63 ที่ผ่านมา ซึ่งหากสำเร็จผ่านพ้นไปด้วยดีก็จะทยอยขยายไปจังหวัดอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม การยกระดับบัตรทองกรณี “30บาทรักษาทุกที่” ต้องอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ใกล้บ้านใกล้ใจ นอกจากนี้ ในเขตสุขภาพที่ 9 เราก็เริ่มได้ทุกที่ในกรณีผู้ป่วยในไม่ต้องมีใบส่งตัว รวมทั้งโรคมะเร็งก็เช่นเดียวกัน ซึ่งในอดีตมีปัญหาเรื่องการส่งตัว กว่าคนไข้จะเดินทางมาเอาใบส่งตัวก็อาจทำให้มะเร็งลุกลาม แต่ระบบใหม่จะมีศูนย์ส่งต่อมะเร็ง โดยกรมการแพทย์จะเป็นเจ้าภาพ จะมีข้อมูลทั้งหมด ว่า ที่ไหนมีเครื่องฉายรังสี มีเตียง โดยประชาชนไม่ต้องประสาน ซึ่งศูนย์จะจัดการและบอกกับรพ.ให้ส่งต่อผู้ป่วย เรียกง่ายๆว่า ศูนย์นี้จะเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวก แบบนี้ก็เรียกว่าไปที่ไหนก็ได้เช่นกัน แต่เป็นกรณีโรคมะเร็ง”

นอกจากนี้ การยกระดับบัตรทอง ยังเพิ่มสิทธิการขอย้ายหน่วยบริการ คือ หากเรามีสิทธิอยู่รพ.แห่งหนึ่ง แต่เราย้ายบ้าน หรือไม่สะดวกเราก็ขอย้ายโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการปฐมภูมิได้ แต่เดิมย้ายวันนี้ จะไปใช้สิทธิก็ต้องรอระบบขึ้นวันที่ 16 และ30 ของเดือน แต่จากนี้เมื่อขอเปลี่ยนหน่วยบริการ อีกวันรับบริการได้ทันที ก็เป็นการไปรักษาที่ไหนก็ได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องอธิบายรายละเอียดนั่นเอง อย่างการไปรพ.ใหญ่ก็ไว้อาการหนักๆ แต่หากอาการน้อยๆ ไปรับบริการใกล้บ้านใกล้ใจ

“เบื้องต้นทุกโรครักษาได้ทุกที่ทั่วประเทศคาดว่าจะขยายได้ในปี 2565 โดยจะยึดหลักรักษาได้ทุกที่ในเขตพื้นที่ระดับหน่วยบริการปฐมภูมิ เหมือนกรณีกทม.นั่นเอง และก็ไม่ต้องมีใบส่งตัว ย้ายสิทธิได้ใช้บริการทันที ทั้งหมดเมื่อมีการดำเนินการควบคู่กันก็จะช่วยลดความแออัด ไม่ต้องไปรอคิวใช้บริการตั้งแต่เช้าตรู่ เนื่องจาก สปสช. พยายามทำระบบให้ง่ายขึ้น เช่น กลุ่มโรคเรื้อรัง อย่างโรคเบาหวาน ความดันโลหิต เราร่วมกับธนาคารกรุงไทย ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ทำระบบจองคิวให้คนไข้ เพื่อรพ.จะได้ทราบว่ามีคนไข้กี่คนจะเข้ามาในวันไหน เป็นต้น” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว

แฟ้มภาพ

การยกระดับครั้งนี้เกิดคำถามว่าจะมีการปรับเพิ่มงบประมาณมากขึ้นหรือไม่ เพราะข้อมูลการใช้งบประมาณในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(งบรวมเงินเดือน) ย้อนหลัง 3 ปี พบว่า ปีงบประมาณ 2561ใช้งบประมาณ 175,560 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 181,584 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 190,601 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2564 จำนวน 194,508 ล้านบาท

โดย ทพ.อรรถพร ย้ำว่า ไม่มีการใช้งบประมาณเพิ่มแต่อย่างใด เพราะการยกระดับบัตรทอง ภาพรวมส่วนใหญ่เป็นการปรับในส่วนของการบริหารจัดการ ทั้งดูแลผู้ป่วยใน ไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว และประชาชนได้รับสิทธิบริการทันที หลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ที่อาจมีในส่วนของการสนับสนุนเพื่อดำเนินการปรับระบบบ้าง แต่งบประมาณดำเนินการยังคงเป็นงบปี 2564 ที่บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีการเพิ่มเติมแต่อย่างใด ส่วนบริการเป็นการจ่ายชดเชยตามการให้บริการ ทั้งบริการรักษาทุกที่ ณ เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น และ ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเข้ารักษาโดยตรงที่โรงพยาบาลเฉพาะทางและไม่แออัด

“อย่างการเบิกจ่ายงบประมาณนั้น อย่างมะเร็งก็จ่ายตามโปโตรคอล แต่เป็นการยกระดับในการเข้าถึงบริการ โดยเปลี่ยนระบบการจ่ายตามรายการภายใต้หลักเกณฑ์เดิม ซึ่งงบประมาณไม่ได้ใช้เพิ่มเติมเลย โดยเราทำหลังบ้านคือ การเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งคลินิกสามารถดึงข้อมูล ประวัติการรักษาเดิมได้ จะมีก็ตรงเครื่องสมาร์ทการ์ด ซึ่งไม่แพงหลักพันบาท และการเบิกจ่ายงบนั้นก็ไม่ยุ่งยาก ใช้หลักการ คือ ใครบันทึกข้อมูลก็จ่ายตามไปยัง รพ.ที่บันทึกข้อมูล เป็นการจ่ายตรงไป เพราะเป็นเงินที่อยู่กองกลางอยู่แล้ว หากมีงบประมาณเพิ่มกรณีผู้เข้าถึงบริการจำนวนมากนั้น ก็สามารถของบประมาณเพิ่มได้ ดังนั้น เรื่องงบประมาณจึงไม่มีปัญหา”

ส่วนที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การยกระดับบัตรทองโดยเฉพาะ 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นเพราะเกิดประเด็นยกเลิกสัญญาคลินิกเบิกงบบัตรทองเกินความเป็นจริง โดยทพ.อรรถพร ย้ำว่า ไม่ใช่ แต่ประจวบเหมาะ การที่คลินิกเบิกงบเกิน ทำให้ทราบว่าเรามีช่องโหว่เรื่องพิสูจน์ตัวตน เพราะการตรวจสอบเราตรวจสอบเจออยู่แล้ว แต่เรื่องพิสูจน์ตัวตน ต่อไปเราจะใช้ระบบสมาร์ทการ์ดในการพิสูจน์ตัวตน โดยต่อไปเราไปรักษาก็ใช้บัตรประชาชนเพื่อเสียบในเครื่อง ซึ่งจะมีข้อมูลยืนยันตัวตน โดยต่อไปทุกรพ. และคลินิกทุกแห่งจะมีเครื่องมือเหล่านี้ทั้งหมด โดยในกทม.จะเริ่มใช้ช่วงปีใหม่ 2564 นี้ และจะขยายไปทั่วประเทศต่อไป

สรุปได้ว่า การยกระดับบัตรทองที่จะทำให้ผู้ป่วยทุกคนเปรียบเสมือนแขกวีไอพี คือ การจัด 4 บริการ 1.“รักษาทุกที่ ณ เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น” ที่ได้เริ่มดินหน้าแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา 2.บริการ “ดูแลผู้ป่วยใน ไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว” นำร่องเขต 9 นครราชสีมา ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ส่วนใน กทม. และปริมณฑล คาดว่าจะเริ่ม 1 ม.ค. 2564 ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป 3. บริการ “ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเข้ารักษาโดยตรงที่โรงพยาบาลเฉพาะทางและไม่แออัด” เริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 2564 พร้อมกันทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการจัดบริการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน การติดตามอาการและแนะนำการทานยาผ่านระบบสื่อสารทางไกล(Telehealth) และ 4. บริการ “ประชาชนได้รับสิทธิบริการทันที หลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ”

ส่วนภาพการรอคิว ความแออัดในรพ. การตื่นเช้าตรู่มารอรับบริการ สปสช.เชื่อว่าจะค่อยๆหมดไป....