ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมกับ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย รณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี มุ่งให้ความรู้โรค IPD และปอดบวม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กไทย

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน จัดแถลงข่าว โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค IPD : SAFE THAI FIGHT IPD (การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ปีที่ 5) เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส สาเหตุสำคัญก่อให้เกิดโรคไอพีดี (IPD) ที่ โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เชื้อนิวโมคอคคัส” (Streptococcus pneumoniae) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค IPD เชื้อชนิดนี้พบได้ในทางเดินหายใจส่วนต้น (โพรงจมูกและคอหอย ) โดยในเด็กไทยปกติพบเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้น เฉลี่ยประมาณร้อยละ 35 โดยพบมากที่สุดในเด็กทารกและเด็กเล็กในช่วงอายุ 2-3 ปี ส่วนในผู้ใหญ่พบเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้นน้อยกว่าในเด็กมาก เฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 ซึ่งปกติเชื้อที่อยู่ในลำคอจะไม่ก่อโรค แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอลง เช่นเป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะสามารถรุกรานเข้าไปในร่างกายทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่รุนแรงหรือที่เราเรียกกันว่า “IPD” ได้

หากเชื้อแพร่ไปที่สมองจะทำให้เกิด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีอาการ ไข้สูง ชัก ซึมมาก อาเจียนบ่อยปวดศีรษะอย่างรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หากเชื้อแพร่ไปที่เลือด จะทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีอาการไข้สูง หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว อาจมีภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ หากเชื้อแพร่ไปที่ปอด ก็จะทำให้เกิดปอดบวมหรือเรียกอีกอย่างว่าปอดอักเสบ เด็กจะมีอาการ ไข้ ไอ หอบเหนื่อย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก โรค IPD จึงยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบปีแรก นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังทำให้เกิดโรค หูชั้นกลางอักเสบได้อีกด้วย แม้ไม่รุนแรงแต่พบได้บ่อย

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส (IPD) และ โรคปอดอักเสบจากโควิด-19 ที่สังคมให้ความสนใจกันอยู่นั้น มีความเหมือนและความแตกต่างกันในหลายประการ สิ่งที่ทั้ง 2 โรคนี้มีความคล้ายคลึงกัน คือ โรคมีการแพร่กระจายผ่านทางการไอและจาม ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย หากต้องการทราบแน่ชัดว่าเกิดจากเชื้อชนิดใดก็ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติมนอกจากนี้ ทั้งคู่ยังเป็นโรคที่อาจมีความรุนแรงได้ โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสเกิดภาวะออกซิเจนต่ำได้ร้อยละ 14 สำหรับผู้ป่วยโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสเอง ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อในกระแสเลือดได้ถึงร้อยละ 20 แต่สิ่งที่ทั้ง 2 โรคนี้มีความแตกต่างกันก็คือ กลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ สำหรับโควิด-19 มักพบผู้ป่วยในช่วงอายุระหว่าง 15-49 ปี (ร้อยละ 55.1%) แต่สำหรับโรค IPD กลุ่มเสี่ยงสูงคือเด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 5 ปี), เด็กและผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง (เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอด โรคไต เป็นต้น), ผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและอดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ยังคงมีความมุ่งมั่นเดินหน้าให้ความสำคัญเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่มีต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งในปัจจุบันนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างวิตกกังวลในเรื่องการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จึงทำให้เกิดการตื่นตัว ทั้งในระดับหน่วยงานขนาดเล็ก ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคีต่าง ๆ ในการให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อในภาพรวม ถึงแม้ว่าในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาก็ตาม การป้องกันโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส หรือโรค IPD ที่ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคได้แล้ว ก็ยังคงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เรายังได้เดินหน้าสานต่อจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยปีนี้เป็นปีที่ 5 และยังคงดำเนินตามเป้าหมายหลัก คือ การเป็นตัวกลางในการส่งมอบวัคซีนให้แก่โรงพยาบาลที่เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อโรค IPD ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการป้องกันโรคนี้ได้ เด็กกลุ่มนี้ได้แก่ เด็กมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคปอด โรคหอบหืด เด็กที่ไม่มีม้าม เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นเป็นโรคมะเร็ง ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ติดเชื้อเอชไอวี เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อนิวโมคอคคัส หรือ IPD มากกว่าเด็กปกติหลายเท่า อีกทั้งมีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการได้สูง หากเด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับวัคซีนก็จะช่วยลดโอกาสเจ็บป่วย ลดค่ารักษาพยาบาล ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่พ่อแม่ต้องหยุดงานเพื่อมาดูแลลูกที่ป่วย เพราะจากข้อมูลพบว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรค IPD มักต้องนอนรักษาตัวในรพ.นานมากกว่า 12 วัน9 และเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 50,000 บาทโดยเฉลี่ยแม้รักษาในรพ.รัฐก็ตาม เพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง ในปีนี้เราได้จัดหาวัคซีนได้ทั้งหมด 4,500 โด๊ส และจะส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 30 โรงพยาบาลทั่วประเทศ นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ เองก็พร้อมที่จะผลักดันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เด็กไทยได้รับวัคซีนป้องกันโรค IPD กันถ้วนหน้า เพราะอย่างที่เราทราบกันว่าวัคซีนตัวนี้ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการบรรจุอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติ”

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค IPD สูงมาก ยิ่งเด็กยิ่งเสี่ยง จากข้อมูลพบว่า อุบัติการณ์เกิดโรค IPD ของคนทั่วไปอยู่ที่ 3.6 ต่อแสนประชากร แต่เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี มีอุบัติการณ์เกิดโรค IPD อยู่ที่ 11.1 ต่อแสนประชากร และอุบัติการณ์เกิดโรคจะสูงขึ้นไปอีกในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี อยู่ที่ 33.8 ต่อแสนประชากรนอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือดจาก IPD มีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 23%11 ดังนั้นหน่วยงานหลายภาคส่วนต่างร่วมรณรงค์เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของเด็ก ๆ สำหรับกรุงเทพมหานครในฐานะหน่วยงานภาครัฐยังให้ความสำคัญและพยายามผลักดันให้กรุงเทพมหานครพิจารณาโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค IPD เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากการประชุมครั้งล่าสุด ได้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้การป้องกันโรค IPD ด้วยวัคซีนในเด็กเล็กอีกด้วย รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อโรคดังกล่าว จะสามารถลดความสูญเสียได้ กรุงเทพมหานครคาดหวังว่าหากสามารถผลักดันให้นำวัคซีนป้องกันโรค IPD มาฉีดนำร่องให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครในปี 2564 ได้นั้น จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและต่อสังคมในวงกว้างเป็นอย่างมากต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง