ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอประสิทธิ์” เผยโควิดเป็นโอกาสใช้นวัตกรรมทางการแพทย์รักษาพยาบาล ลดการเผชิญหน้า ลดความแออัด ชี้หากรัฐหนุนการใช้ 5G ในงาน Healthcare จะเพิ่มศักยภาพมากขึ้น พร้อมเสนอนักวิจัยพัฒนาชุดตรวจเชื้อโควิดที่บ้าน ลดเสี่ยงรับเชื้อมาตรวจ รพ. ขณะที่สยามไบโอไซเอนซ์พร้อมรับเทคโนโลยีผลิตวัคซีนโควิด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 พ.ย. ที่โรงแรมริชมอนด์ สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการ แนวโน้มการพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการในสถานการณ์การระบาดของ โควิด19 โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงแนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังเพิ่มสูงขึ้น สิ่งสำคัญอยากย้ำในเรื่อง One Health คน สัตว์ สภาพแวดล้อมแยกกันไม่ได้ และด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเชื้อโรคก็จะยังอยู่

“สำหรับยุทธศาสตร์การจัดการโควิด19 ในประเทศไทย แบ่งเป็นยุทธศาสตร์ต้นน้ำ คือ การลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์ แต่คนไทยทุกคนช่วยกันด้วยการใช้วัคซีนประจำตัวของเรา คือ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และยุทธศาสตร์ปลายน้ำ คือ การลดอัตราการเสียชีวิตเพิ่มอัตราการกลับบ้าน อัตราการหาย โดยยุทธศาสตร์เหล่านี้จะนำเราไปสู่การเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดรอบใหม่ โดยในส่วนยุทธศาสตร์ต้นน้ำ จะทำอย่างไร อย่างกรณีวัคซีน เดิมเรานำเข้า เราซื้อ แต่ ณ วันนี้การผลิตวัคซีนเองเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ซึ่งผมเป็นหนึ่งในบอร์ดสยามไบโอไซนเอนซ์ ซึ่งกำลังเดินหน้าสร้างศักยภาพตรงนี้ในการผลิตวัคซีนให้ได้ และต้องผลิตให้เพียงพอแบบวันต่อวัน ซึ่งเราต้องพัฒนาศักยภาพการผลิตให้ได้อย่างรวดเร็ว ทันใช้ มีระบบรับรองคุณภาพที่มาตรฐานและคล่องตัว หากเราทำได้ ปลายน้ำก็จะลดค่าใช้จ่ายได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องใช้ระบบเอไอ เข้ามาช่วย ในการวินิจฉัย ซึ่งศิริราชได้เริ่มนำมาใช้ แต่ปัญหาคือ การใช้ระบบเอไอจะแม่นย้ำต้องมีคนติดโควิดจำนวนมาก เราจึงร่วมกับอินโดนีเซียในการทำข้อมูลโควิดร่วมกัน เพราะมีจำนวนคนติดเชื้อมากกว่าเรา ณ ปัจจุบัน รวมทั้งพัฒนาให้มีศักยภาพในการทำเทเลเมดิซีน ซึ่งโควิดเป็นตัวกระตุ้นที่เร็วและแรงมากในการทำให้หลายรพ. มาทำในเรื่องเทเลเมดิซีน รวมทั้งเทเลคอนซัลเทชั่น มีการปรึกษา มีการนัดหมายออนไลน์ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ตรงนี้เป็นโอภาส จากที่ผ่านมาคนไข้ 1 คนเดินมาที่ รพ. โอกาสจะเจออาจารย์แพทย์เป็นเรื่องยากมาก แต่การพูดคุยผ่านทางเทเลเมดิซีนเป็นเรื่องง่ายกว่า ทั้งหมดอยู่ในแพลตฟอร์มระบบไอทีแล้ว แต่ก็ยอมรับว่า ปัจจุบันก็มีคนไข้ส่วนหนึ่งกลับมาใช้ระบบเดิม เพราะอาจไม่คุ้นเคย แต่หากมีโควิดระบาดรอบสอง จำเป็นต้องมีการใช้ระบบนี้อีก ก็จะคุยเคยอีก สิ่งเหล่านี้หากรัฐบาลสนับสนุน มีการสนับสนุนการใช้ 5G ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในระบบ HealthCare ก็จะเพิ่มศักยภาพมากขึ้น

สำหรับยุทธศาสตร์ปลายน้ำในเรื่องอุปกรณ์ป้องกันเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ช่วงแรกเรามีปัญหาขาดอุปกรณ์ ทั้ง N95 แต่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีในการนำกลับมาใช้ได้ ซึ่งอนาคตเราอาจมีหน้ากากอนามัยที่ไม่ใช่ N95 ซึ่งผลิตด้วยคนไทยได้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้โรบอทมาช่วยเสริมการบริการทางการแพทย์ ซึ่งมีเยอะมาก ยกเว้นหุ่นยนต์หมอ ในแง่เทคโนโลยีจะพัฒนาได้อีก โดยลดโอกาสเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ผ่านทางโรบอททำแทน ทั้งหมดจะเป็นทั้งการเซฟทั้งตัวคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ ในเรื่องชุดตรวจเชื้อต่างๆ หรือ (test kit) ยังสามารถพัฒนาไปถึงขนาดใช้ตรวจที่บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล เพราะการมาโรงพยาบาลมีความเสี่ยงติดเชื้อ หรือแพร่ระบาดเชื้อได้ สรุปได้ว่า จากสถานการณ์โควิดทำให้เห็นศักยภาพของคนไทยในการคิดพัฒนานวัตกรรมมากมาย แต่คิดได้ก็ต้องได้มาตรฐานผ่านการรับรองด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง

ศ.นพ.ประสิทธิ์  ให้สัมภาษณ์ภายหลังกรณีความคืบหน้า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากบริษัทแอสตราเซเนกา ในการผลิตวัคซีนโควิด -19 ว่า คาดว่ากระบวนถ่ายทอดเทคโนโลยี จะมีได้หลังจากวัคซีนผลิตสำเร็จปลอดภัย ไปแล้ว 5-6 เดือน จากนั้น ก็รอการอนุมัติจากอย.ประมาณ 2-3 เดือน จึงจะเริ่มกระบวนการผลิตได้อย่างจริงจัง และคาดว่ากำลังการผลิตเต็มทีก็ได้วัคซีนประมาณ 20 ล้านโดส ซึ่งเงื่อนไขการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ต้องให้การช่วยเหลือแบ่งปันในภูมิอาเซียน ได้แก่ กลุ่ม ประเทศ CLMV

ส่วนเรื่องการยาเรมเดซิเวียร์ ที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าไม่ควรใช้นั้น และทำให้เหลือยาฟาวิพิราเวียร์ ตัวเดียว นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากการสอบถามกรมควบคุมโรค ทราบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ติดสิทธิ์บัตร แต่ว่ายังไม่จำเป็นต้องผลิต เพราะยังมีเพียงพอ และคาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด -19 จากนี้ อาจไม่รุนแรงเท่ารอบแรก เพราะมีการเตรียมตัวและเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้พร้อมแล้ว เชื่อรับมือได้

ทั้งนี้ ภายในงานยังประกาศผลผู้ได้รับรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นประจำปี 2563 ประกอบด้วยประเภทต่างๆ อาทิ ประเภทนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นแห่งชาติ ได้แก่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประเภทนักบริหารโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปดีเด่น ได้แก่ นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ สมัยดำรงตำแหน่งผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา ประเภทนักบริหารโรงพยาบาลชุมชนดีเด่น ได้แก่ นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น

ประเภทนักบริหารโรงพยาบาลเอกชนดีเด่น ได้แก่ นพ.ปิยะ เนตรวิเชียร ผู้อำนวยการรพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น ประเภทนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นเฉพาะด้าน ได้แก่ นพ.อภิชาติ วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร ประเภทนักบริหารรพ.ดีเด่นภาครัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ พล.อ.ต.ทวีพงษ์ ปางรีย์ ผอ.รพ.ภูมิพลอดุลยเดช นอกจากนี้ ยังมีประเภทรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่น สาขาบริหารทั่วไป ได้แก่ นายสุชาติ อรรณพไกรสร รองผอ.ฝ่ายบริหาร รพ.สวรรค์ประชารักษ์ และรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่น สาขาการพยาบาลภาครัฐและมหาวิทยาลัย ได้แก่ น.ส.เอื้อมพร กาญจนรังสิชัย หัวหน้าพยาบาลรพ.มหาราชนครราชสีมา นางบุษบา การกล้า หัวหน้ากลุ่มงานบริการปฐมภูมิและองค์รวม รพ.ตระการพืชผล และนางดารณี พิพัฒนกุลชัย หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล รพ.ศิริราช

 

ได้แล้วครับ