ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมุนไพรบางอย่างเป็นพืชผักพื้นบ้านที่หาได้ง่ายอยู่ใกล้ตัว กระแสแพทย์ทางเลือกจึงเป็นที่นิยมในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อหวังตัดปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง

ล่าสุดมีการเผยแพร่ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์หลายแห่งระบุว่า “น้ำต้มหญ้าไข่เหารักษาโรคมะเร็งทุกชนิด” ซึ่งกรมการแพทย์ และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็น “ข้อมูลข่าวปลอม”

หญ้าไข่เหา (Mollugo pentaphylla Linn.) วงศ์ AIZOACEAE เป็นไม้ล้มลุก มีชื่อเรียกในภาษาไทยแตกต่างกันไปแล้วแต่ภูมิภาค เช่น สร้อยนกเขา หญ้านกเขา สมอตีนเป็ด สมอตีนนก สมอหิน กานน นมตีนนก เป็นต้น

จากการค้นหาข้อมูลสรรพคุณของหญ้าไข่เหาที่ได้รับการเผยแพร่ในหลายๆสื่อ ระบุว่า รับประทานเป็นฝัก มีรสขม ใช้เป็นยาแก้ไข ดีพิการ ร้อนในกระหายน้ำ และธาตุพิการ ในอินเดียใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ยาระบายอย่างอ่อน และยาฆ่าเชื้อ นำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาขับประจำเดือน และควบคุมให้มีอย่างสม่ำเสมอ , ใบมีรสขม ใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่น ในมาเลเซียใช้เป็นยาพอกแผลที่ขา ในอินโดนีเซียใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร

ทั้งนี้ หญ้าไข่เหาในประเทศไทยนั้น มีข้อมูลทางวิชาการอ้างอิง ให้ความรู้ว่าชาวบ้านในแต่ละภูมิภาคนิยมบริโภค ดอกอ่อน ยอดอ่อน ใบอ่อน ด้วยการนำมาปรุงในอาหาร เช่น แกงป่า แกงใส่ปลาร้า หญ้าไข่เหา พบในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ตามที่กลางแจ้ง ชอบขึ้นอยู่ทั่วไป ให้ใบให้ยอดอ่อนตลอดปี ส่วนคุณค่าทางอาหาร ยังไม่มีข้อมูล

“การใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติสำหรับแทะเล็มของ โค กระบือ ปลูกขึ้นปรับตัวได้ดีในสภาพดินเหนียวเนื้อละเอียดและดินเหนียวปนลูกรัง” ข้อมูลจากการเปิดเผยของเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับพืชผักแห่งหนึ่ง

ในขณะที่ชาวบ้านบางแห่ง เข้าใจว่าหญ้าไข่เหา กับ “หญ้าลิ้นงู” ชื่อวิทยาศาสตร์: Panicum incomtum Trin. วงศ์: Poaceae เป็นสมุนไพรชนิดเดียวกันเนื่องจากลักษณะใบ-ต้น-ดอก คล้ายกัน และหญ้าลิ้นงูนี่เองที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตหลายเว็บไซต์ โดยระบุว่า สามารถนำทุกส่วนของหญ้าลิ้นงูมาต้มดื่ม โดยอ้างตำราแพทย์แผนไทยโบราณในการใช้รักษามะเร็งมักใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น อาทิ ต้นไฟเดือนห้า, หญ้าปีกไก่ดำ, เหง้าข้าวเย็นเหนือ, พุทธรักษา และต้นลิ้นงูเห่า โดยนำมารักษามะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้

หากย้อนไปดูการศึกษาทดลองเรื่องสมุนไพรกับการรักษามะเร็งที่ผ่านมา พบว่า ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเพื่อเผยแพร่ตามแผนการจัดการความรู้ ปีงบประมาณ 2556 เรื่อง “Strengthening Research Society” ชื่อผลงานวิจัย “การศึกษาสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง โดยบุษราวรรณ ศรีวรรธนะ, สุภาพร สุภารักษ์, ทัศนีย์ ทองดี, สมภพ คชหาร ,สุภัชฌา พูนศรัทธา ,และ ปราณี ชวลิตธำรง ฝ่ายปฏิบัติการด้านเชื้อถ่ายทอดทางการให้เลือด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข , สถาบันวิจัยสมุนไพร ,สำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้รับรางวัล “ผลการปฏิบัติงานโครงการ/งานวิจัยเด่น” ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2555 เป็นผลการวิจัยที่มีผ่านกระบวนการและไดัรับการยอมรับชิ้นหนึ่งในทางการแพทย์ กลุ่มผู้วิจัยพบว่า การศึกษาจากสมุนไพรหลายชนิดไม่ผ่านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทยช์เพื่อยืนยันสรรพคุณกลไกการออกฤทธิ์และปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภค

“คณะผู้วิจัยได้ทดสอบฤทธิ์ชองสารสกัดสมุนไพรต่อการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ในหลอดทดลอง ทั้งสิ้น 46 ชนิด พบ 2 สารสกัดสมุนไพรมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งได้ในระดับที่ดี ได้แก่ สารสกัดงิ้วป่า สารสกัดจามจุรี ต้องใช้ความเข้มข้นที่ค่อนข้างสูงจึงจะสามารถยับยั้งได้”

จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีผลการวิจัยหรือการศึกษาทดลองใด ออกมาประกาศผลสรุปทางการแพทย์ที่ยืนยันได้ว่าสมุนไพรใดเมื่อนำสารสกัดมารักษาจะยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดไหนได้

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่าการรักษามะเร็งมี 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา

ในขณะที่ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยืนยันว่า การใช้สมุนไพรอาจส่งผลข้างเคียงกับผู้ใช้ได้ ดังนั้นควรศึกษารายละเอียดด้านสรรพคุณ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และวิธีการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

 

ภาพประกอบจาก กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช