ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิด 10 จว.ผ่านประเมินสถานที่กักกันตามมาตรฐาน Area Quarantine อาทิ เชียงราย ปราจีนบุรี สมุทรปราการ ฯลฯ พร้อมผุดแนวคิด Safety To Safety วีซ่าจับคู่ประเทศจีน วางระบบตรวจคัดกรองโรคร่วมกัน

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวปาฐกถาภายในงานประชุมวิชาการแนวโน้มการพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการในสถานการณ์การระบาดของ โควิด19 สธ. ซึ่งจัดโดยสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย ว่า ในการดำเนินการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีนั้น ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นเรื่องของการควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นลักษณะของการอยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยยึดความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก สร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการเดินทางของคนจากภายนอกจำนวนมาก

ในปี 2562 มีคนเข้าประเทศไทยราว 40 ล้านคน ดังนั้น ในเรื่องเศรษฐกิจจะต้องใช้ระดับความเสี่ยงของประเทศต่างๆเปรียบเทียบกับประเทศไทยในการบริหารความเสี่ยง (Relative RiskCountry :RRC) โดยหลักการ ประเทศเสี่ยงน้อยกว่าหรือเท่ากับไทย น่าจะอยู่ในประเทศไทยได้โดยง่ายเพราะความเสี่ยงในประเทศต้นทางไม่ต่างจากไทย ส่วนประเทศเสี่ยงสูงก็กำหนดให้มีการกักกัน ก็เกิดแนวคิดการกักตัวไม่เท่ากันเกิดขึ้น

“ข้อมูลทางวิชาการในต่างประเทศระบุว่าการกักตัว 10 วันและ 14 วัน ผลไม่ต่างกัน บวกกับข้อมูลจากการปฏิบัติงานจริงในสถานที่กักกันของประเทศไทย จากการติดตามในประเทศเสี่ยงสูง คือ ซูดานใต้ จำนวน 77 คน พบติดเชื้อ 17 คน ทั้งหมดตรวจพบในช่วง 9 วัน และการทำในประเทศอื่นๆอีก 600 คน ก็ตรวจพบในช่วงวันที่ 9 มีเพียง 1 รายที่พบหลังวันที่ 9 แต่เป็นเพียงซากเชื้อ สธ.จึงเสนอการลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ซึ่งประเทศต้นทางที่เสี่ยงน้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับไทยหากมีคนติดเชื้อหลุดการกักกันในวันที่ 10 โดยมากที่สุด 10-12 คนต่อเดือน แต่ก็จะเป็นคนที่มีเชื้อน้อยแล้วโอกาสติดคนอื่นก็ไม่เหมือนช่วงวันที่ 1-2 ”นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ถ้าหากประเทศไทยสามารถลดวันกักตัวเหลือ 10 วันได้จะเป็นการจูงใจให้ประเทศต่างๆที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย อาทิ เวียดนาม ไต้หวัน มาเก๊า และจีน เป็นต้น เข้ามาท่องเที่ยวได้มากขึ้น โดยที่ประเทศไทยยังมีมาตรการต่างๆเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับคนไทย เช่น แนวคิดเรื่องของ Area Quarantine คือ การกำหนดพื้นที่และเส้นทางให้ผู้เดินทางเป้าหมายเป็นการเฉพาะ โดยไม่ปะปนกับบุคคลอื่นๆในชุมชนในระหว่างการคุมไว้สังเกต ซึ่งมีมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น กักกันในสถานที่กักกัน 0-10 วัน และมีการป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นระหว่างวันที่ 11-14 และมีการกำหนดพื้นที่และเส้นทางการเดินทางโดยมีการกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด 4 วัน เป็นต้น

“แม้ที่ผ่านมาไทยจะมีมาตรการดึงนักท่องเที่ยวกลับเข้าไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวประเภทวีซ่าพิเศษ STV จากจีนสนใจเข้ามาแล้ว แต่เป็นเพียงส่วนน้อยและรัฐบาลจีนเองก็ไม่สนับสนุนให้คนจีนเที่ยวนอกประเทศแม้จะเป็นไทยก็ตามเพราะเกรงจะติดโรคกลับไปประเทศจีนอีก เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดทำข้อตกลง Safety To Safety วีซ่า จับคู่ประเทศกับจีน วางระบบตรวจโดยให้แพทย์ไทยไปประจำที่จีน แพทย์จีนประจำที่ไทย ตรวจนักท่องเที่ยวเข้า-ออก ระหว่างกันเพื่อนำสู่การท่องเที่ยวอย่างมั่นใจว่าจะไม่มีฝ่ายใดแพร่เชื้อให้กัน”นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกด้วยว่า จังหวัดทีมีความพร้อมในการดำเนินการเรื่อง Area Quarantine นั้น จากการสำรวจตามการประเมินความพร้อมในการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ใน 3 ด้าน คือ ด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ด้านรักษาพยาบาล และด้านเศรษฐกิจ สังคมและการมีส่วนร่วมของเครือข่าย พบว่า มี 10 จังหวัดที่ได้คะแนนเต็ม 10 ผ่านประเมินทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ เชียงราย ปราจีนบุรี สมุทรปราการ นครพนม บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และพัทลุง ส่วนจังหวัดอื่นๆที่ยังไม่ผ่านประเมินทั้งหมด ก็จะมีการกำหนดนโยบทายสู่การปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดเพื่อให้ผ่านประเมินต่อไป อาทิ เสริมความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวังโรคในสถานพยาบาล เพิ่มหน่ววยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อจาก 1 ทีมเป็น 3ทีมต่ออำเภอ เตรียมสถานที่กักกันตามมาตรฐาน และเตรียมเวชภัณฑ์ ยา และวัสดุอุปกรณ์สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นต้น

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย ต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงความเสียสละของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ ที่ร่วมรับมือการระบาดของโควิด 19 จนทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี เป็นตัวอย่างของการควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีน แต่ก็สามารถจัดการและควบคุมโรคด้วยความรวดเร็ว และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงสร้างการรับรู้และวิธีป้องกันโรคแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง