ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยเล็งผลิตวัคซีนโควิด-19 จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของ “เอสตราเซเนกา” กลางปี 64 หลังแอสตราฯ เผยประสิทธิผลป้องกันโควิดกลุ่มทดลองเฟส 3 สูงถึง 70% หากสำเร็จตามคาด เตรียมใช้ในไทยล็อตแรก 26 ล้านโดส 13 ล้านคน

วันที่ 24 พ.ย. ที่กรมควบคุมโรค(คร.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวความคืบหน้ากรณีการจองซื้อวัคซีนโควิด-19 ว่า ปัจจุบันบริษัทที่มีความคืบหน้าในการทดลองวัคซีนป้องกันโควิดอย่างน้อยมี 3 บริษัท คือ บริษัท ไฟเซอร์ฯ บริษัท โมเดอนา และบริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้า เพราะเชื้อโควิด-19 เพิ่งรู้จักกันไม่นาน แต่ปัจจุบันมีความคืบหน้าของการวิจัยวัคซีนระยะที่ 3 โดยเฉพาะในส่วนบริษัทแอสตราเซเนกา ที่ไทยมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ทำให้มีความหวังว่าจะสามารถนำมาใช้ป้องกันโรคได้ในคนไทย ซึ่งขณะนี้เราเตรียมพร้อมทั้งการรับวัคซีน การดูแลการจัดเก็บ การขนส่ง การให้บริการฉีดวัคซีน รวมทั้งการเลือกกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีน โดยเบื้องต้นจะต้องฉีดให้คนไทยร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมด

“สำหรับการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนนั้น จะมีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในการพิจารณาคัดเลือกให้ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งหลักเกณฑ์ในการกำหนดกลุ่มเสี่ยง หลักๆ คือ 1. กลุ่มเสี่ยงสูงที่หากรับเชื้อมีความเสี่ยงเสียชีวิต และ 2. กลุ่มที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นสูง และต้องพิจารณาตามวัตถุประสงค์อื่นๆ โดยจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563 นี้ จึงจะทราบว่า กลุ่มเป้าหมายมีใครบ้าง แต่ที่ผ่านมาอย่างกรณีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่2009 จะให้กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงมีโรคแทรกซ้อน และบุคลากรสาธารณสุข แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอให้รอการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ ภายในเดือนธันวาคมนี้” นพ.โอภาส กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ทางกรมควบคุมโรคมีการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการใช้วัคซีน เพราะวัคซีนตัวนี้เบื้องต้นมีอายุการใช้งานสั้น อย่างน้อยสุด 6 เดือนไปจนถึง 1 ปี

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ล่าสุดบริษัท แอสตราเซเนกา ประกาศผลการทดสอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในมนุษย์ระยะที่ 3 พบว่ามีประสิทธิผลป้องกันโรคได้ 70% ภายใต้การวิจัยสูตรการฉีดวัคซีน 2 วิธี คือ 1. ฉีดโดยครึ่งโดสและตามด้วยเต็มโดส โดยวิธีนี้มีประสิทธิผล 90% และ 2. การฉีดเต็มโดส 2 เข็ม มีประสิทธิผล 62% ซึ่งเฉลี่ย 2 วิธีมีประสิทธิผลรวม 70% ดังนั้น ถือว่าเป็นข่าวดี แม้จะเป็นผลเบื้องต้น เพราะยังต้องรอทดสอบในระยะที่ 3 ต่อไปอีกเพิ่มเติม และระหว่างนี้จะได้ส่งข้อมูลให้ทางองค์การอาหารและยาของสหราชอาณาจักร และของยุโรป เพื่อขอขื้นทะเบียน โดยข่าวดี คือ ประเทศไทยทำข้อตกลงร่วมกับแอสตราเซเนกา ในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยไทยมี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และผลิตวัคซีน

“ตามขั้นตอนคือ หากวัคซีนโควิดสำเร็จ ทางแอสตราเซเนกา จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ทางบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์รับการผลิต ใช้เวลา 6 เดือนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากนั้นก็ต้องตรวจสอบคุณภาพและขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ซึ่งคาดว่าจะผลิตได้ในกลางปี 64 ซึ่งศักยภาพการผลิตเฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านโดส โดยตกปีละ 180-200 ล้านโดส แต่สำหรับประเทศไทยเราได้เจรจาและจองการซื้อวัคซีนไว้ 26 ล้านโดสสำหรับ 13 ล้านคน หมายความว่า เมื่อนำมาผลิตที่สยามไบโอไซเอนซ์ จะมีจำนวน 26 ล้านโดสที่เป็นของคนไทยในราคาที่ทางเอสตราเซเนกา ให้ราคาต้นทุน” นพ.นคร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าวัคซีนโควิดจะต้องฉีดทุกปีหรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ยังไม่มีใครทราบเรื่องนี้ จนกว่าจะผลิตและมีการใช้ในคนแล้ว แต่ที่มีข้อมูลคือ ต้องฉีดคนละ 2 เข็ม ดังนั้น หากวัคซีนสำเร็จมีการฉีด สิ่งสำคัญต้องทำความเข้าใจให้คนที่ได้รับวัคซีนต้องรับวัคซีนจนครบโดส ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เป็นผล เพราะถ้าเหลือก็จะฉีดให้คนอื่นไม่ได้ เพราะไม่ครบโดสอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า สิ่งสำคัญวัคซีนประจำตัวเราสำคัญสุด ยังต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และต้องล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง