ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยบทเรียนสำคัญจาก 5 เหตุการณ์ช่วงโควิด-19 แนวทางแก้ไขให้คนร่วมมือในการแจ้งข้อมูลส่วนตัว เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของคนในสังคม

จากการระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 ทำให้ชีวิตของทุกคนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้เป็นนิวนอร์มอล ในครั้งนี้เวทีสัมมนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 14 ในวันที่ 26 พฤศจิกายน จึงนำเสนอในหัวข้อ สรุปบทเรียนชวนคิดว่าด้วยเรื่อง “พลเมืองดิจิทัลในการรับมือยุคนิวนอร์มอล” Year-end Digital Thinkers Forum #14 Think Pieces on Digital Citizens & New Normal นำโดยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ChangeFusion Wisesight Open Dream Center for Humanitarian Dialogue (HD) มูลนิธิ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และองค์กรวิชาชีพสื่อ นำร่องกลไกภายใต้โครงการโคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact)

สำหรับหัวข้อ “บทเรียนของประเทศไทยในการสร้างความเชื่อมั่นต่อการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวเพื่อป้องกันยับยั้งโรคระบาด” นำเสนอโดย อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญต่อวิกฤตโรคระบาด รัฐจะนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ในเรื่องการสัมผัสระหว่างใครในพื้นที่แบบไหน นำไปสู่การสอบสวนโรค ป้องกันและศึกษาวิจัยในอนาคต ซึ่งข้อมูลนั้นมีส่วนสำคัญในการยับยั้งโรคระบาด โดยกรมควบคุมโรคได้มีกฎเกณฑ์บังคับให้ส่งข้อมูลไปยังกรมควบคุมโรค เพื่อเป็นบทเรียนและจัดการในสภาวะตอนนั้น ด้วยเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวย ประชากรส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน โดยเฉพาะผู้อาศัยในเขตเมือง เมื่อรวมกันจะทำอย่างไรให้เกิดผลดีมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล ข้อมูลว่า เราไปไหน เจอใคร ใช้พื้นที่ไหน หรืออาการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะข้อมูลสุขภาพที่ต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษในภาวะปกติ แต่ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของสังคมด้านสาธารณสุข ถ้าเราไม่สามารถจำกัดวงการระบาดได้ก็กระทบต่อคนส่วนมาก ทั้งยังกระทบต่อกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการปกป้องตัวเองที่คนก็อยากรู้ว่า พื้นที่นั้นมีความเสี่ยงมากแค่ไหน การให้ข้อมูลภาพรวมเกี่ยวกับโรคระบาดจึงส่งผลต่อแต่ละบุคคลเช่นกัน ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างคุณค่า สิทธิ และเสรีภาพ

"ในช่วงปีที่ผ่านมา กฎเกณฑ์ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ชัดเจน โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จำเป็นต้องเลื่อนการประกาศใช้ไป 1 ปี เพราะโควิด-19 แต่ในสภาวะโรคระบาดแบบนี้ก็ยังมีข้อสงสัยว่า จำเป็นต้องคุ้มครองข้อมูลให้มากขึ้น หรือคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนมากขึ้นกันแน่ แต่ก็ยังมีประกาศกระทรวงที่ออกมาพูดถึงมาตรฐานความปลอดภัย และข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ก็มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยด้วยงานราชการ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ทำให้สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพส่วนรวมได้"

ด้านหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีหลัก ๆ 3 ข้อ 1.จำเป็น เช่น การใช้ข้อมูลป้องกันการแพร่ระบาดของโรค 2.โปร่งใสเป็นธรรม เช่น นำข้อมูลมาแล้วมีใครรับรู้บ้าง เก็บข้อมูลไว้นานแค่ไหน และต้องเป็นธรรมกับคนที่นำข้อมูลมาให้ 3.ปลอดภัย เช่น เมื่อได้รับข้อมูลมาแล้วต้องดูแลให้ปลอดภัย โดยโรคระบาดที่เกิดขึ้นก็มีบทเรียนต่าง ๆ ที่เราต้องเรียนรู้ อาจารย์ฐิติรัตน์ เพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่ไม่เคยต้องเปิดเผย ก็ต้องเปิดเผยในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่า เมื่อไปที่ไหนก็ตามต้องมีการวัดอุณหภูมิ อาจจะเห็นชื่อหรือเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งที่ผ่านมาข้อมูลพวกนี้เป็นเรื่องส่วนตัว

วิกฤตครั้งนี้ อาจารย์ฐิติรัตน์ ยังได้นำ 5 เหตุการณ์สำคัญ ซึ่งเป็น 5 บทเรียนของประเทศไทย ได้แก่ 1.Fit-to-Fly Certificate ซึ่งจำเป็นต้องใช้สำหรับคนที่เดินทางเข้ามาในเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าผู้ที่เดินทางเข้ามาไม่ติดเชื้อ จึงมีประเด็นว่า ที่รัฐขอข้อมูลส่วนบุคคลนั้นจำเป็นต่อการยับยั้งโรคระบาดหรือไม่ 2.Quarantine App ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลว่าคนที่กักตัวนั้นมีอาการอย่างไร แชทข้อความว่าวันนี้อุณหภูมิเท่าไหร่ เรื่องนี้จำเป็นต้องบอกหรือไม่ 3.รายชื่อจากสนามบินหลุด ทั้งชื่อ นามสกุล เลขพาสปอร์ต ที่อยู่ และไฟลท์ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัว บางเรื่องที่นำเสนอออกไปนั้นไม่จำเป็นต้องรู้ 4.Telco-กรมควบคุมโรค กรณีที่มีเอกสารระบุว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคระบาด ขอความร่วมมือเพื่อขอเบอร์ไปผูกกับพื้นที่เสี่ยง เรื่องนี้เชื่อมโยงว่า ถ้าภาครัฐรู้อยู่แล้วว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงจำเป็นต้องใช้ Tracing App อยู่หรือไม่ 5.Contact Tracing App คู่มือสำหรับประชาชนในการเช็คอิน การใช้แอป ไทยชนะ ต้องเก็บข้อมูลมากแค่ไหน ความปลอดภัยของข้อมูล และใครเป็นคนดูแล เพราะจะใช้ได้ผลดีที่สุดต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนจำนวนมาก

"บทเรียนของประเทศไทยจากวิกฤตในครั้งนี้ จะทำอย่างไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือการแยกความจำเป็นของข้อมูลส่วนบุคคล เลือกเฉพาะที่เป็นประโยชน์ ต้องกลับไปมองว่า สิทธิความเป็นส่วนตัวเป็นสิทธิพื้นฐาน พร้อมทั้งสร้างมาตรการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมคนในสังคม การใช้งานเทคโนโลยีจึงต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย เช่น การสแกนแอปหลายจุดทำให้คนเกิดความรำคาญและไม่ยอมใช้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว Contact Tracing App จะได้ผลดีที่สุดต้องอาศัยความร่วมมือของคนจำนวนมาก แต่หากมีความโปร่งใสสามารถอธิบายได้ว่า กำลังทำอะไร ใช้อำนาจอย่างไร ตอบคำถามต่อความผิดพลาด เพื่อแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไปได้ ก็จะนำสู่การสื่อสารในช่วงวิกฤตได้ดีขึ้นต่อไป" อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิ้งท้าย

5 เหตุการณ์สำคัญที่ผ่านไป เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่รัฐไทยควรหันกลับมาใส่ใจ เพื่อทำให้คนไว้วางใจและให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อไป