ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดหลักการพิจารณากลุ่มไหนควรรับวัคซีนโควิด-19กลุ่มแรก ด้านงาน “โควิดมาราธอน : ห่างกันไว้...แต่ไปด้วยกัน” เผยประเด็น “ใครควรจะได้รับสิทธิฉีดก่อน”

ใกล้เข้ามาทุกขณะกับความหวังในการมีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด -19 โดยเฉพาะของบริษัทแอสตราเซเนก้า ร่วมกับที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเปิดเผยผลการทดลองในคนเฟส 3 ได้ผลดี ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคเฉลี่ย 70.4 %

ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้สิทธิในการจองวัคซีนของทางบริษัทดังกล่าวเอาไว้แล้วกว่า 26 ล้านโดส สำหรับคนไทย 13 ล้านคน โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด คาดเดินสายการผลิตได้ราวๆ เดือนมิ.ย. 2564 ประเด็นต่อมาที่ต้องคิดกันคือเมื่อวัคซีนได้มาไม่ครบคน จึงต้องมาดูว่าใครจะได้สิทธิรับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก

ล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรกว่า 70 ล้านคน หากจะให้วัคซีนครบทุกคน คนละ 2 เข็ม ต้องมีวัคซีนถึง 140 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเท่าที่มีอยู่ความหวังอยู่ 26 ล้านโดสนั้นจึงต้องวางแผนว่าจะฉีดให้กลุ่มใดก่อน ถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ อยู่ระหว่างพิจารณา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ธ.ค.นี้

โดยหลักการจะพิจารณาหลายๆ ปัจจัย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการฉีดวัคซีน เช่น 1. ฉีดวัคซีนป้องกันการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง 2.ฉีดในกลุ่มที่มีโอกาสในการแพร่เชื้อสูง เพื่อป้องกันการระบาดของโรค 3. ฉีดในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขเพื่อสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข เพราะถ้าคนกลุ่มนี้เกิดการติดเชื้อฯ หรือป่วย แล้วใครจะมารักษาโรคต่อ เป็นต้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่กรมควบคุมโรคจะแถลงถึงหลักการพิจารณาคัดเลือกกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโรควิด-19 เป็นกลุ่มแรกนั้น ทางด้านของ “ไฮแทป” หรือโครงการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพิ่งจะมีการจัดงาน “โควิดมาราธอน : ห่างกันไว้...แต่ไปด้วยกัน” เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีผลศึกษาข้อมูลว่าหากมีวัคซีนป้องกันโควิด 19 เข้ามาในประเทศไทยในปริมาณจำกัดแล้ว “ใครควรจะได้รับสิทธิฉีดก่อน” โดย ผศ.ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย ซึ่งเป็นหัวหน้านักวิจัย และเป็นผู้เปิดเผยรายงานดังกล่าวที่เตรียมเสนอต่อผู้บริหารเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาด้วย

ผศ.วรรณฤดี ระบุว่า จากการศึกษาโดยทำแบบจำลองการติดเชื้อฯ โดยแบ่งเป็น 1. กลุ่มเสี่ยง 2. กลุ่มติดเชื้อ 3. กลุ่มที่หายแล้ว มีภูมิคุ้มกันแล้ว โดยเมื่อมีวัคซีนไม่พอจึงจำเป็นต้องเลือกว่าใครจะได้รับวัคซีนก่อน โดยตามดูกลุ่มเป้าหมาย และประสิทธิผลของวัคซีนที่มี คือ เพื่อป้องกันการติดโควิด, เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจาย , ป้องกันความรุนแรงของโรค

นอกจากนี้ยังมีการจำลองสถานการณ์ โดยสมมติฐานว่าถ้าไม่มีวัคซีน แต่มีการเปิดประเทศกลางปี 2564 แถมคนยังไม่เว้นระยะห่าง ทำให้เกิดการระบาดเกิดขึ้นอีก เมื่อมีคนติดเชื้อมากพอ มีคนที่มีภูมิคุ้มกันมากพอ การระบาดก็จะลดลง

แต่ถ้าสมมติว่าไม่มีการเว้นระยะห่าง แต่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันการแพร่เชื้อได้ ก็จะเห็นภาพว่าสามารถชะลอการระบาดออกไป จำนวนคนป่วยพีคก็ลดลง แต่การระบาดไม่ได้หายไปไหน หรือถ้าสมมติว่าเป็นกรณีมีวัคซีนที่ช่วยลดความรุนแรงของโรค สถานการณ์จะเหมือนกับกรณีที่เราไม่มีวัคซีนเลย การระบาดก็จะเกิดขึ้น เพียงแต่คนเป็นก็จะไม่กังวลมาก

โจทย์ที่ 2 การพิจารณาให้วัคซีนใครก่อนนั้น ขึ้นอยู่กับตัวแปรและคุณสมบัติของวัคซีนที่ได้มา ถ้าได้วัคซีนที่มีผลครบทั้งป้องกันการติดเชื้อ การแพร่เชื้อ และป้องกันไม่ให้โรครุนแรง แบบจำลองที่กล่าวมาข้างต้น ก็บอกว่าคนที่ควรได้รับวัคซีนควรเป็นกลุ่มคนที่มีการติดเชื้อมากที่สุด ซึ่งในประเทศไทยคือวัย 20-39 ปี เพราะเป็นกลุ่มคนที่ออกมาข้างนอกมีโอกาสติดเชื้อ และแพร่เชื้อฯ

ถ้าวัคซีนที่ได้มามีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ และแพร่เชื้อต่อ แบบจำลองก็บอกว่ากลุ่มคนที่ควรได้รับวัคซีนยังเป็นคนที่มีโอกาสติดเชื้อมากที่สุดนั่นคือคนที่อายุ 20-39 ปี

ส่วน ถ้าวัคซีนมีคุณสมบัติช่วยลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อแล้ว แบบจำลองบอกว่าคนที่ควรได้รับวัคซีนคือกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เพื่อที่เวลาติดเชื้อขึ้นมาก็จะลดความรุนแรงลงได้

ฉะนั้น นี่คือตัวแปรเกี่ยวกับคุณสมบัติของวัคซีน แต่เป็นเพียงตัวแปรเดียวเท่านั้น แต่ยังมีตัวแปรอีกมาก ซึ่งหากมีการเปลี่ยนตัวแปร ผลที่ออกมาก็จะเปลี่ยนไปจากนี้ อย่างไรก็ตาม โควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกสักระยะ หากมีการเตรียมพร้อม และอยู่อย่างเข้าใจ ถึงแม้จะมีวัคซีนแต่แบบที่จำลองก็เห็นว่าการระบาดยังจะเกิดขึ้นได้ แค่ยืดระยะเวลาออกไป ฉะนั้นการสวมหน้ากากอนามัยยังคงเป็นเรื่องสำคัญ

ทั้งนี้ ต่อประเด็นข้อศึกษาของไฮแทป นั้น “นพ.โอภาส” ระบุว่ายังไม่เห็นรายดังกล่าว แต่เท่าที่ทราบน่าจะเป็นระบบการคำนวณทางคณิตศาสตร์ และเอาตัวเลขบางอย่างใส่เข้าไป แต่ในความเป็นจริงต้องคิดถึงปัจจัยอื่นๆ อาทิ ประสิทธิภาพของวัคซีน ความสะดวกในการฉีด และระบบบริการสาธารณสุขอื่นๆ เช่น กลุ่มที่แพร่กระจายเชื้อสูง แต่การฉีดในกลุ่มนี้เพื่อลดการกระจายเชื้อลง แต่ไม่ได้แปลว่ากลุ่มเสี่ยงจะไม่ติดเชื้อ ดังนั้นจะมีการคิดและนำข้อมูลหลายอย่างมาประกอบการตัดสินใจ

“ยกตัวอย่างไข้หวัด 2009 ก็เคยทำโมเดลคล้ายๆ อย่างนี้ คือ ฉีดในกลุ่มนักเรียน วัยรุ่นจะดีกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจาย แต่สุดท้ายเราดูทั้งหมดแล้ว กลุ่มนักเรียน วัยรุ่นเขาไม่อยากฉีด เพราะถึงแม้เขาป่วยก็ไม่รุนแรงจึงไม่ซีเรียส ทำให้กลุ่มนี้ไม่ยอมเข้าถึงวัคซีน สู้ไปฉีดในกลุ่มที่เขารู้ตัวว่าเมื่อเขาติดเชื้อแล้วมีโอกาสป่วยอาการรุนแรง ตรงนี้จะได้รับการยอมรับมากกว่า ก็ไปฉีดในกลุ่มนี้จะดีกว่า จุดนี้เป็นโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ไม่สามารถคำนวณออกมาได้ ”

นพ.โอภาส บอกด้วยว่า ตอนนี้เรื่องสำคัญอีกอย่าง คือ การสื่อสารกับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีการสำรวจความเห็นออนไลน์อยู่สม่ำเสมอ พบว่าในช่วงที่ประเทศไทยมีการระบาดของโควิดเยอะ คนก็อยากฉีดวัคซีนเยอะ แต่พอสถานการณ์ผ่อนคลายลง บางคนก็ไม่อยากฉีดเพราะหลายๆ อย่าง เช่น เมื่อถามวัยรุ่นจะตอบคล้ายๆ กันคือไม่อยากฉีดเพราะรู้สึกว่าติดเชื้อก็ไม่เป็นอะไร กลุ่มนี้ถ้าไปบังคับฉีดก็คงลำบาก แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุ พบว่าสนใจเขาอยากฉีดเยอะโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการฉีด 2 เข็มก็เยอะกว่า ตรงนี้ก็จะต้องนำมาเป็นข้อมูลประกอบเพื่อการตัดสินใจด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาส ย้ำว่า สิ่งสำคัญตอนนี้เราพิสูจน์แล้วว่าการสวมหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันโรคได้จริง ถ้าทุกคนช่วยกันโดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่สาธารณะ ถ้าฉีดวัคซีนแล้ว บางครั้งตัวเราปลอดภัย แต่คนอาจยังไม่ปลอดภัย ประเด็นอยู่ตรงนี้ ดังนั้นถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วในระยะ 1 ปี หลังจากนี้ การสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรการที่จะมาเสริมควบคุมป้องกันโรค ซึ่งไม่เฉพาะการป้องโควิด-19เท่านั้น แต่ยังป้องกันไข้หวัด และโรคอื่นๆ ด้วย ตอนโควิด-19 ระบาดเราเห็นภาพชัดว่าพอคนไทยสวมหน้ากากจำนวนมากทำให้คนไข้ปอดบวม เป็นไข้หวัดลดลงอย่างมหาศาลดังนั้นการสวมหน้ากากอนามัยเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องทำอย่างเข้มข้นในปี 2564