ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย ร่วมการประปานครหลวง ลงนามความร่วมมือน้ำประปาปลอดภัย เผยตรวจคุณภาพผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ร้อยละ 100 เหมาะสมบริโภคในครัวเรือน

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่อาคารสำนักงานใหญ่การประปานครหลวง นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย และ นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการการประปานครหลวง ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการแผนน้ำประปาปลอดภัย ระหว่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และการประปานครหลวง เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ดำเนินงานร่วมกับการประปานครหลวง เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านวิชาการ การปฏิบัติการในพื้นที่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันละกัน ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำประปาได้ ซึ่งจากการสุ่มเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในครัวเรือน ตั้งแต่ปี 2560-2563 พบว่า น้ำประปาของการประปานครหลวงที่ใช้บริโภคในครัวเรือนมีคุณภาพผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ของกรมอนามัย เฉลี่ยร้อยละ 88.07 โดยปีล่าสุดพบว่ามีคุณภาพผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ของกรมอนามัย ร้อยละ 100 ถือได้ว่ามีคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับนำมาบริโภคในครัวเรือน

“การลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการแผนน้ำประปาปลอดภัยครั้งนี้ จึงเป็นความร่วมมือทางวิชาการที่จะบูรณาการสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำประปาในเขตนครหลวงให้มีคุณภาพตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก(WHO) ในการจัดการคุณภาพน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในเรื่องการพัฒนาระบบการบริการเพื่อสุขภาพที่ดี โดยการส่งมอบน้ำประปาปลอดภัยให้กับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมทั้งพัฒนาหลักเกณฑ์ มาตรฐานทางวิชาการ พัฒนาบุคลากรในฐานะทีมตรวจประเมินกลาง และแลกเปลี่ยนข้อมูลคุณภาพน้ำประปา ตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน โดยกรมอนามัยมีบทบาทในการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ แก่ภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมแก่ประชาชน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ด้าน นายกวี กล่าวว่า การประปานครหลวงมีการควบคุมคุณภาพน้ำทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งน้ำดิบ โรงงานผลิตน้ำ จนถึงบ้านเรือน เพื่อสุขอนามัยของประชาชนกว่า 12 ล้านคน ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และมีการตรวจคุณภาพน้ำโดยนักวิทยาศาสตร์ การประปานครหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในปี 2554 เป็นต้นมา การประปานครหลวง ได้นำแผนน้ำประปาปลอดภัย (Water Safety Plan) ขององค์การอนามัยโลก มาจัดกระบวนการดำเนินการที่ผ่านมาให้เป็นระบบที่เหมาะสมมากขึ้น ให้ความสำคัญตั้งแต่การดูแลรักษาแหล่งต้นน้ำ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนต้นน้ำ เมื่อน้ำดิบเข้ามาสู่กระบวนการผลิต จะต้องมีการปิดจุดเสี่ยงรอบด้าน เพื่อคงคุณภาพของน้ำอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อผลิตเป็นน้ำประปา จะต้องมีการดูแลรักษาต่อเนื่องทั้งระบบสูบส่งและสูบจ่าย จนกระทั่งไปถึงบ้านเรือนประชาชน จำเป็นต้องปรับปรุงระบบท่อ และการซ่อมท่อ ให้ได้มาตรฐาน ไร้การปนเปื้อนใด ๆ ในน้ำประปา เพื่อคงคุณภาพน้ำประปาปลายทาง ให้ได้มาตรฐานเดียวกับน้ำประปาที่ออกจากโรงงานผลิตน้ำทุกแห่ง นำมาซึ่งความมั่นใจในการอุปโภคบริโภคน้ำประปาของประชาชนทุกคน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง