ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. – มูลนิธิวายไอวาย จัดเวิร์กชอปพัฒนาศักยภาพเยาวชน 20 ทีมสุดท้าย ประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ปี 3 หวังผลิตนวัตกรรุ่นใหม่ แก้ปัญหาสุขภาพคนไทย เตรียมประกาศผลทีมชนะมีนาคม 64

วันที่ 29 พ.ย. 63 ที่ศูนย์การประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิ Why I Why จัดการอบรมพัฒนาศักยภาพทีมเยาวชนระดับมัธยมศึกษา และอาชีวะศึกษา ที่ผ่านการคัดเลือก 20 ทีมสุดท้ายในการประกวด ThaiHealth Inno Awards #3 (โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ปีที่ 3) ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย. 63 เพื่อบ่มเพาะเยาวชนด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า ThaiHealth Inno Awards เป็นโครงการที่ สสส. จัดขึ้นต่อเนื่องเพื่อเฟ้นหานวัตกรรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพ การป้องกันโรคและการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการมีสุขภาพ สอดคล้องกับการที่ สสส. เป็นองค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา ได้สานพลังร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศด้วยพลังความรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคมสร้างเสริมสุขภาพดีที่ยั่งยืน

“ปีนี้ สสส. เปิดกว้างรับไอเดีย/ผลงานจากทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “ชีวิตดีเริ่มที่เรา” ในประเด็นอาหาร กิจกรรมทางกาย การลด ละ เลิก บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุทางถนน สุขภาวะทางเพศ และชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อฝึกฝนให้เยาวชนสามารถมองปัญหารอบตัวอย่างมีมิติที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่ง สสส. ตั้งเป้าให้ผลงานที่ได้รับรางวัลถูกต่อยอดไปในระดับประเทศ เช่น ผลงานเสาหลักนำทางจากยางพารา โดยทีมสี่สหาย-สายช่าง วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับอาชีวะศึกษาในปีที่ 1 ภายหลังกระทรวงคมนาคมได้เริ่มนำร่องเอาไปติดตั้งบนทางหลวงชนบท เพื่อช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจร” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว

นายพชร สุวรรณดิษ ผู้จัดการโครงการ ThaiHealth Inno Awards ปีที่ 3 กล่าวว่า มูลนิธิวายไอวายได้เข้ามามีบทบาทในการออกแบบหลักสูตรอบรมศักยภาพผู้ผ่านเข้ารอบในโครงการนี้มาตั้งแต่ปีแรก แต่ละปีพบว่าผลงานที่ส่งเข้ามามีความแตกต่างกัน และพบว่ามีประเด็นที่หลากหลายยิ่งขึ้นในปีที่ 3 สะท้อนให้เห็นว่าโครงการประสบความสำเร็จในการสื่อสารความสำคัญของการป้องกันโรคไปยังกลุ่มเยาวชน ปีนี้ได้เริ่มเปิดรับสมัครไอเดีย/ผลงาน ตั้งแต่เดือน ส.ค. 63 มีผลงานส่งเข้าประกวดมากถึง 319 ทีม ทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวะศึกษา แต่คัดเหลือเพียง 20 ทีมสุดท้าย รวมจำนวน 75 คน

“การอบรมตลอดทั้ง 3 วัน เป็นการเติมความรู้ที่เข้มข้นทั้งในเรื่องความหมายของการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเยาวชน กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่มุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยเราไม่ได้มุ่งเน้นแค่การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อตัวนักเรียนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงอาจารย์ที่ปรึกษาประจำทีม ซึ่งเราได้แยกออกมาทำการอบรมทักษะการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching) เพราะหลังจากจบค่ายไปแล้ว อาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นกำลังหลักในการให้คำปรึกษาแก่นักเรียนในการพัฒนาผลงานให้ใช้งานได้จริง โดยทางโครงการได้กำหนดวันตัดสินผลการประกวดในวันที่ 5 มี.ค. 64” นายพชร กล่าว