ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มีการเผยแพร่ข้อมูลตามสื่อต่างๆ ว่า หากไม่ใช้ช้อนกลาง ระวังเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เพราะติดผ่านทางน้ำลาย”

 

ซึ่งหากแยกประเด็นจะพบ 2 คำถามที่น่าสนใจคือ

 

1. ไม่ใช้ช้อนกลาง เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร และ 2. มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคติดต่อผ่านทางน้ำลาย

 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งให้ความรู้ว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลมะเร็งกระเพาะอาหารติดต่อได้ทางน้ำลายนั้น สาเหตุการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารยังไม่ทราบแน่ชัด

 

“แต่พบว่าเกิดจากเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารเจริญเติบโตผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ มีสาเหตุอาจมาจากการอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H.pylori) และมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังได้ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารประเภทรมควัน และอาหารหมักดอง เป็นต้น ดังนั้นมะเร็งกระเพาะอาหารจึงไม่สามารถติดต่อทางน้ำลาย” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

 

นอกจากนี้ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แนะนำว่า ควรรับประทานอาหารและดื่มน้ำสะอาดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อ H.pylori และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ทั้งนี้การรับประทานผักผลไม้เป็นประจำจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ ได้เช่นกัน

 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 6 ในผู้ชาย และอันดับที่ 9 ในผู้หญิง โดยมีอุบัติการณ์ที่ 5 รายในประชากร 100,000 คน ถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อย ในคนไทยแต่ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทย มักพบในระยะท้ายของโรค และมีการ พยากรณ์โรคที่ไม่ดี

 

โดยมะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งจำนวนมากขึ้น อย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของกระเพาะ เมื่อมะเร็งมีขนาด ใหญ่ขึ้น จะเกิดการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ลำไส้ ปอด และรังไข่ได้

 

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจาก การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารแปรรูป และอาหารปิ้งย่าง ซึ่งจำแนกปัจจัยส่งเสริมความเสี่ยงของการเกิดโรค ดังนี้ อายุที่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น ,เพศชายมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า ,ผู้มีประวัติบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

 

การติดเชื้อ Pylori แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารและสร้างภาวะอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังอาจนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ,ผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร ,ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจางบางชนิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ,การสัมผัสฝุ่น สารเคมี และสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน รวมทั้งสูบบุหรี่เป็นประจำ

 

ข้อควรสังเกต ในระยะแรกของโรคอาจไม่มีอาการแสดงที่เฉพาะและอาจมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่ รู้สึกอาหารไม่ย่อยหรือ รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร คลื่นไส้เล็กน้อย ไม่อยากรับประทานอาหาร มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก

 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการลุกลามขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการรู้สึกไม่สบายท้องโดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง มีเลือดปนในอุจจาระ อาเจียน โดยอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้ ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ น้ำหนักตัวลดลง ปวดท้องหรืออาเจียน เป็นอาหารที่กินเข้าไป เนื่องจากมีการอุดตันของกระเพาะอาหาร กลืนติด หรือทานอาหารได้ลดลง อ่อนเพลีย

 

ดังนั้น มะเร็งกระเพาะอาหารจึงไม่ใช่โรคที่ติดต่อได้จากทางน้ำลาย

 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ของการตรวจกระเพาะอาหารที่เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางตามสื่อต่างๆ ทั่วไปแล้วสิ่งที่มักจะถูกมองข้ามคือ ต้องทำการตรวจในรายที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารดังนี้ คือ

 

มีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนเป็นตอนอายุน้อยกว่า 40 ปี

 

มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองอย่างน้อย 2 คน เป็นตอนอายุน้อยกว่า 50 ปี

 

มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองเป็น อย่างน้อย 3 คนไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม

 

มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองเป็น มะเร็งเต้านมและกระเพาะอาหารในคนเดียวกันตอนอายุน้อยกว่า 50 ปี

 

มีญาติสายตรงมะเร็งกระเพาะอาหาร และมีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรอง คนอื่นเป็นมะเร็งเต้านมที่อายุน้อยกว่า 50ปี

 

นอกจากนี้ยังรวมถึงคนที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติของพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารรวมถึงมะเร็งอื่นๆด้วย

 

ประเด็นต่อมาคือ ไม่ใช้ช้อนกลางเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารหรือไม่ อ.พญ. วรรษมน จันทรเบญจกุล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลเอาไว้ ดังนี้

 

โรคติดต่อทางน้ำลายซึ่งอาจจะมาจากการรับประทานอาหารโดยไม่ใช้ช้อนกลาง สามารถทำให้ร่างกายเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดชนิดอื่น ๆ รวมถึงโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 (COVID-19) อีโบลา และซารส์ ด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีโรคที่ติดต่อทางน้ำลายได้อีก เช่น คางทูม ,ไอกรน ,หัด หัดเยอรมัน ,คอตีบ ,ไวรัสตับอักเสบเอ และ อี (ไวรัสตับอักเสบบี ไม่ติดต่อกันทางลมหายใจ อาหารหรือน้ำดื่ม การให้นม และการจูบกัน (ถ้าปากไม่มีแผล) ,กลุ่มโรคมือ เท้า ปาก และโรคเฮอแปงไจนา (โรคติดต่อทีมักเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ทำให้มีไข้ มีแผลในปาก) ,เริมที่ปาก และ โมโนนิวคลิโอซิส (จากเชื้ออีบีวี หรือ ซีเอ็มวี) โรคติดต่อที่ผ่านทางจูบ (น้ำลาย) กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จึงเป็นการป้องกันเบื้องต้นไม่ให้เชื้อไวรัสที่เป็นพาหะติดต่อทางน้ำลายเข้าสู่ร่างกายได้ การไม่ใช้ช้อนกลางจึงไม่ทำให้เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ทำให้เป็นโรคที่ติดต่อทางน้ำลายตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

สรุป ไม่ใช้ช้อนกลางเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเพราะติดผ่านทางน้ำลาย ที่มีการแชร์ต่อหลายแห่งบนโลกออนไลน์จึงเป็นข้อมูล “เท็จ”