ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คร.ลั่นสถานบันเทิง โรงแรม คอนโดฯ กิจการร้านค้าหากพบผู้สงสัยลักลอบเข้าประเทศเสี่ยงโควิด หากไม่แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีโทษปรับ 2 หมื่น ขณะที่ผู้ลักลอบผิดเต็มๆ เผยเคสเชียงใหม่มีปัจจัยพฤติกรรมการเสี่ยงเกิดซูเปอร์สเปรดดิ้ง อีเว้นท์ แต่เบื้องต้นยังไม่มีหลักฐานว่าเป็น

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวความคืบหน้ากรณีผู้ป่วยโควิดในจ.เชียงใหม่ และจ.เชียงราย ว่า สำหรับกรณีพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่จ.เชียงใหม่ และจ.เชียงรายรวมจำนวน 3 รายนั้น เป็นการติดเชื้อจากเมียนมาที่ลักลอบเข้าประเทศไทยมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาตัวทั้ง 3 คน อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดมีการควบคุมเป็นอย่างดี มีการติดตามกลุ่มผู้เสี่ยงสูง และเสี่ยงต่ำทั้ง 3 ราย สิ่งสำคัญคือ จากกรณีดังกล่าวยังดีที่มีการติดตามควบคุมอย่างรวดเร็ว แต่ทางที่ดีคือ ขอให้บุคคลที่จะเข้ามาประเทศไทยอย่าลักลอบเข้ามา ขอให้เข้ามาตามกระบวนการขั้นตอน โดยต้องกักตัวจำนวน 14 วัน และมีการตรวจหาเชื้อ เมื่อปลอดเชื้อก็สามารถเข้ามาประเทศไทยเพื่อดำเนินชีวิตได้ปกติ แต่การลักลอบเข้ามาไม่ว่าจะเป็นคนต่างชาติ หรือคนไทย ย่อมมีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัยทั้งตัวเอง และครอบครัว เพราะมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังคนใกล้ชิด ครอบครัว ชุมชน และยังส่งผลต่อประเทศด้วย

“ขณะนี้จึงต้องขอความร่วมมือบริเวณชายแดน ทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม สถานประกอบการ สถานบันเทิง กิจการร้านค้าต่างๆ หากพบเห็นบุคคลเข้ามาและเข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ ไม่ได้ผ่านการกัก หากพบเบาะแสให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทันที ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจะออกคำสั่ง ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดตามมาตรา 31 ของพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบ่าท ส่วนตัวผู้ลักลอบก็มีความผิดเช่นกัน ดังนั้น ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการเข้ามาและกักตัว 14 วันเท่านั้นเอง” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับกรณี จ.เชียงรายที่พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ที่เป็นหญิงไทยอายุ 26 ปี และอายุ 23 ปี ในอ.เมือง จ.เชียงราย พบว่ามีความเชื่อมโยงกับเคสผู้ป่วยหญิงไทยป่วยโควิดที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งติดเชื้อจากเมียนมา โดยพบว่าทำงานที่เดียวกันในท่าขี้เหล็กของเมียนมา โดยหญิงไทยอายุ 26 ปี เมื่อทราบข่าวว่า เพื่อนที่เชียงใหม่พบเชื้อโควิด จึงขอเข้ารับการตรวจเชื้อที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ขณะที่หญิงอายุ 23 ปีมีความใกล้ชิดกับหญิงอายุ 26 ปีจึงมีการตรวจเชื้อและพบว่าติดโควิด

อย่างไรก็ตาม การติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยโควิด จ.เชียงราย รวมทั้งหมดมี 27 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 รายแบ่งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด 2 ราย คือ เพื่อหญิงไทยอายุ 23 ปีที่เดินทางกลับจากเมียนมาพร้อมผู้ป่วย ซึ่งตรวจพบเชื้อและเข้ารักษาที่รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ส่วนอีกรายเป็นพนักงานโรงแรมที่ขับจักรยานยนต์พาไปร้านสะดวกซื้อ ซึ่งรอผลตรวจอยู่ ส่วนอีก 2 รายจากยานพาหนะ คือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง จากหมู่บ้านต้นทางถึงโรงแรมแห่งหนึ่งในอ.แม่สาย 1 ราย รอผลตรวจ ส่วนรถจักรยานยนต์รับจ้างเช่นกัน ขับจากแม่สายไปอ.เมือง และรพ.เอกชน ผลตรวจไม่พบเชื้อ ขณะที่ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 23 ราย แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 20 ราย และชุมชน 3 ราย

เมื่อถามว่าทั้งกรณีพบผู้ป่วยโควิดคนไทยที่ลักลอบเข้าประเทศมาจากเมียนมาจำนวน 3 รายที่เชียงใหม่ และเชียงราย ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ (super spreader) หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า จริงๆแล้วการจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์นั้น จะมี 2 ทาง คือ ต้องมีเชื้อเยอะ และอยู่ในที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ เช่น รถบัส สถานบันเทิง เป็นต้น แต่กรณีเคสเชียงใหม่ที่ไปสถานบันเทิง จากการตรวจสอบยังไม่พบเชื้อ ซึ่งการจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์จะมีการแพร่เชื้อจนมีการติดต่อโรค 10 คนขึ้นไป ขณะที่รายเชียงใหม่ไม่มีหลักฐานว่าเข้าข่ายซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่พฤติกรรมถือว่ามีความเสี่ยงเกิดซูเปอร์สเปรดดิ้ง อีเว้นท์ (superspreading event)

ส่วนกรณีเชียงใหม่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้นั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า เคสเชียงใหม่อายุ 29 ปีที่ป่วยโควิดจากเมียนมานั้น พบผู้สัมผัสทั้งหมด 328 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 107 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสในชุมชน 65 ราย ผู้สัมผัสในยานพาหนะอีก 42 ราย โดยผลตรวจเชื้อโควิดผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 107 ราย ตรวจพบเป็นลบในรอบแรกจำนวน 69 ราย ทั้งนี้ในกลุ่มเสี่ยงสูงสุด 4 รายที่อยู่ใน 69 รายนั้นครั้งแรกยังไม่พบเชื้อ แต่ต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง ซึ่งตรงนี้ต้องเตือนหลายๆครั้งว่า ยิ่งสูบบุหรี่มวนเดียวกันก็ยิ่งเสี่ยงอีก ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 149 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสในชุมชน 140 ราย และบุคลากรทางการแพทย์ 9 ราย ผู้สัมผัสอื่นๆอีก 72 ราย ไม่พบเชื้อ 47 ราย รอติดตามอีก 25 ราย

ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีการนำเสนอทางโซเชียลมีเดียว่ามีการจับกุมคนไทย 4 ราย ที่ลักลอบเข้าประเทศไทยโดยข้ามมาจากเมียวดี และมีการนำสถานการณ์มาปะปนกับเคสผู้ป่วยที่จังหวัดเชียงรายนั้น ขอยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่เป็นเคสที่ลักลอบเข้ามาเหมือนกัน ซึ่งต้องได้รับการตรวจเชื้อ กักตัวและอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่เช่นกัน นอกจากนี้ขอย้ำว่าการเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดโควิดนั้น เท่ากับมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ขนาดที่ลักลอบเข้ามา 2 รายยังตรวจเจอเชื้อทั้ง 2 ราย ดังนั้นขอคนไทยอย่าลักลอบเข้ามา แต่ขอให้มาตามกฎหมาย ซึ่งคนไทยเข้าไทยไม่ต้องขอสถานทูต แค่ประทับตราที่ด่านไม่ต้องตรวจเชื้อก่อนเดินทาง แต่เข้ามาแล้วต้องกักตัว 14 วัน