ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้นำประสบการณ์ต่อสู้กับโควิด19 ที่ผ่านมา นำไปออกแบบการดำเนินชีวิตยุคหลังโควิด19 เพื่อให้ทุกคนอยู่ด้วยความปลอดภัย ลดสูญเสียทั้งชีวิต สุขภาพ ธุรกิจ และเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด พร้อมดูแลรักษาสุขภาพประชาชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2563ที่ผ่านมา ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บรยายายพิเศษ เรื่อง อนาคตระบบสาธารณสุขไทย ในงานการประชุมวิชาการประจำปี 2563 แพทยสภา-ปธพ.ครั้งที่ 8 โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ผู้บริหาร และผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม

นายอนุทิน กล่าวว่า โลกทุกวันนี้มีแต่ความท้าทาย ทั้งเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะองค์กรหลักด้านสุขภาพของประเทศ ต้องเป็นผู้นำในการออกแบบระบบสาธารณสุข เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย และทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย จึงต้องพัฒนาให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การทำงานแบบเดิม จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน และลดขั้นตอน เพื่อที่จะก้าวได้ทันการเปลี่ยนแปลง และจัดการโรค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรคโควิด19 ที่ผ่านมา นำไปออกแบบการดำเนินชีวิตยุคหลังโควิด19 เพื่อให้ทุกคนอยู่ด้วยความปลอดภัย ลดการสูญเสียทั้งชีวิต สุขภาพ ธุรกิจ และเศรษฐกิจให้ได้น้อยที่สุด และตั้งรับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นให้มีประสิทธิภาพ

นายอนุทินกล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนการสาธารณสุขไทย ได้ยึดนโยบายหลักของรัฐบาล โดยภารกิจที่สำคัญลำดับแรก คือ โครงการพระราชดำริทางด้านสาธารณสุข ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศ์ทุกพระองค์ ที่จะต้องนำมาปฏิบัติทันทีอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญใน 4 เรื่อง คือ 1.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อการดูแลประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ให้มีสุขภาพที่ดี ปลอดโรค และคนไทยทุกครอบครัว ต้องมีหมอประจำตัว 3 คน ดูแลใกล้ตัว ใกล้บ้าน ใกล้ใจ สร้างสุขภาพที่ดีให้แก่คนไทย มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพที่บ้านและชุมชน 2. ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชน เช่น สปา นวดไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริการทางการแพทย์เพื่อความสวยงาม เป็นต้น 3. ส่งเสริมสมุนไพร กัญชา กัญชงทางการแพทย์ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอย่างปลอดภัยสมุนไพรไทย ประชาชนเข้าถึง และได้ใช้เพื่อสุขภาพ ปลูกเพื่อพึ่งพาตนเอง โดยไม่ผิดกฎหมาย และ4. 30 บาทรักษาทุกที่ เริ่มต้นที่หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น รพ.สต. คลินิก และ โรงพยาบาลชุมชน ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดแออัด

“การขับเคลื่อนงานสาธารณสุขทั้งหมดนี้ จะสำเร็จลุล่วงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชน ได้ด้วยความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย และการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผมเชื่อว่า ทุกท่านจะมีส่วนช่วยในการพัฒนางานสาธารณสุขสู่การพัฒนาประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสาธารณสุขไทย สู่การยกระดับบริการและการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นระบบสาธารณสุขที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนและประเทศ ด้วยการพัฒนาระบบสาธารณสุขร่วมกันอย่างบูรณาการ สู่การเดินหน้าขับเคลื่อนการสาธารณสุขไทย ให้ ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” นายอนุทินกล่าว