ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีศิริราชพยาบาล เผยเชื้อโควิดเมียนมา สายพันธุ์ G614 แพร่กระจายได้ง่ายและเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม D614 ประมาณ 20% ขอทุกคนยกการ์ดช่วยกันยับยั้ง หากไม่ทำหวั่นไม่ได้ฉลองปีใหม่

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวภายหลังแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของ Mahidol university ว่า การแพร่ระบาดโควิดของเมียนมาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่ยะไข่ มีรถจากยะไข่มาย่างกุ้งนำคนเข้าวันละ 5,000 คน และไม่รู้ไปในพื้นที่ใดอีกเท่าไหร่ โดยเฉพาะท่าขี้เหล็ก จะเห็นว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ลักลอบเข้ามาเพียงไม่กี่วันกระจายไปหลาย จังหวัด น่าเป็นห่วงว่าอาจจะยังมีคนที่หนีเข้ามาไม่แสดงคนไม่อยากให้ใครรู้ คนเหล่านั้นอาจจะมีเชื้อและเดินปะปนอยู่ในกลุ่มคนไม่มีใครรู้ จึงขอให้ทุกคนป้องกันตัวเองยกการ์ดทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง สแกนไทยชนะเช็กอินเช็กเอาท์ ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เป็นสิ่งที่ป้องกันไวรัสได้ถึงร้อยละ 80 ซึ่งให้ผลดีกว่าวัคซีน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีตัวใดที่รับรองผลอย่างเป็นทางการ

“ขอให้ผู้ที่คิดจะลักลอบเข้ามา ขอความกรุณาเข้าตามช่องทางที่ถูกกฎหมาย เพราะหากตรวจพบเชื้อรัฐบาลก็สามารถดูแลได้อยู่แล้ว แต่หากหนีเข้ามาด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ท่านอาจจะนำเชื้อมาสู่คนในครอบครัว เพื่อน และสังคมที่ไม่รู้อะไรด้วยเลย การแสดงตนเป็นการแสดงความรับผิดชอบที่น่าชื่นชม นอกจากนี้ ขอให้สถานประกอบการต่างๆ ผู้รับบริการ ยกการ์ดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด และแนะนำเพื่อน คนใกล้ชิดให้ยกการ์ด หากสามารถยับยั้งการแพร่เชื้อได้เราก็จะได้ฉลองปีใหม่ แต่หากไม่สามารถทำได้ และเกิดการแพร่กระจายเชื้อก็อาจจะไม่ได้ฉลองปีใหม่ และเนื่องจากสายพันธุ์ไวรัสตัวนี้ คือ G614 ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายและเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม D614 ประมาณร้อยละ 20

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า 3 ปัจจัยที่น่าห่วงขณะนี้ คือ อากาศเย็นที่ทำให้คนอยู่ในอาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและไม่สวมหน้ากากอนามัยมากขึ้น ชายแดนที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ทั้งเมียนมา มาเลเซีย โดยเฉพาะคนที่ลักลอบเข้ามาเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการระบาดได้ และการชุมนุมต่างๆ ที่มีคนจำนวนมาก ซึ่งตนไม่ยุ่งการเมือง แต่อยากให้เข้าใจและย้ำเตือน เพราะไม่มีใครชนะหากเกิดการระบาดขึ้น จึงอยากขอให้หลีกเลี่ยง ในส่วนของโรงพยาบาลขณะนี้ทุกแห่งได้เตรียมการรับมือแล้ว แต่ก็หวังจะไม่เกิดการระบาดรุนแรง ส่วนความคืบหน้าการผลิตวัคซีน ล่าสุดบริษัทต่างๆ ที่ผลิตใน 2 ล็อตแรกถูกจองหมดแล้ว สำหรับประเทศไทยที่มีข้อตกลงกับแอสตร้าเซนเนกา หากไทยได้รับข้อมูลองค์ความรู้มาเมื่อไหร่ ก็จะต้องผ่านกระบวนการผลิตอีก 4 เดือน และต้องผ่านการตรวจสอบจากอย.อีก 3 รอบใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะได้ฉีดครั้งแรกหลังเดือน พ.ค. 2564