ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรค กับโอกาสลดวันกักตัวคุมโรคโควิด-19 ต้องจำนวนเท่าไหร่ “10+4 วัน ” หรือไม่ รอลุ้นหลังปีใหม่ 2564 นี้

ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (ศบค.) มีมติเมื่อวันที่17 พ.ย. ตีกลับข้อเสนอลดวันกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศจาก 14 วัน เหลือ 10 วันโดยให้กระทรวงสาธารณสุขไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องรายละเอียดต่างๆ...เอาให้ชัดๆ

แต่ยังไม่ทันข้ามเดือนพ.ย.กลับเกิดปรากฎการณ์ คนไทยลักลอบข้ามแดนมาจากท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาจำนวนหนึ่งซึ่งมาตรวจพบเชื้อโควิด -19 ภายหลัง และเมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีการเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆและมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในวงกว้าง จากปรากฏการณ์นี้ทำให้หลายฝ่ายมีข้อกังวลว่า จะกระทบกับมาตรการต่างๆ ที่ประเทศไทยกำลังจะเดินหน้าหน้าผลักดันเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือมาตรการลดวันกักตัว!

กับสถานการณ์เหล่านี้ “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุชัดเจนว่า กรณีที่มีการลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมายจนทำให้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิค-19 นั้นไม่มีผลต่อเรื่องของนโยบายกักตัว เพราะต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ คนที่เข้ามาตามระบบ กับคนที่ลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าเข้ามาตามระบบนั้น ไม่เป็นห่วงเลยเพราะอยู่ในการดูแลของระบบสาธารณสุข และถ้าสังเกตผู้ที่เดินทางมาจากท่าขี้เหล็กแบบถูกต้องนั้นต่อให้เราตรวจเจอเชื้อ แต่เขาก็อยู่ในระบบกักตัวและได้รับการดูแลรักษา ไม่มีโอกาสที่จะออกมาแพร่เชื้อข้างนอก ถ้ามองตามเหตุตามผลแล้ว คือไม่เกี่ยวกัน เอาไว้หลังปีใหม่ค่อยว่ากันอีกที ช่วงนี้คงให้ความสนใจกับการควบคุมโรคในประเทศเสียมากกว่าและความร่วมมือของพี่น้องประชาชนเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า กรณีที่ ศบค.ยังไม่อนุมัติข้อเสนอเรื่องลดวันกักตัวในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา จริงๆ ต้องชี้แจงก่อนว่าไม่ใช่ว่า ศบค. ตีกลับข้อเสนอเรื่องลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน แต่อย่างใด ในทางกลับกันค่อนข้างเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว แต่ควรปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน

“จริงๆ แล้วคือการกักตัว 14 วันเหมือนเดิม เพียงแต่จะมีการใช้วิธีอื่นๆ มาช่วยเรื่องการกักตัวเพิ่มเติมเข้าไป แต่จะปรับอย่างไรก็ต้องมาคุยกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนว่าจะเป็นรูปแบบอย่างไร”

อีกประการหนึ่งก็คือช่วงปีใหม่คนไทยจะมีกิจกรรมเยอะ มีการเดินทางมาก หากมีการผ่อนหรือว่าปรับกระบวนการอะไรอาจจะทำให้ประชาชนปรับตัวไม่ทัน ถ้าสมมติว่าหากเกิดอะไรขึ้นมาก็อาจจะพิสูจน์ได้ยาก พิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร ดังนั้นจึงยึดหลักให้คนไทยได้เดินทางอย่างสบายใจก่อน แล้วหลังปีใหม่ก็มาพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง เอาให้ชัดว่าใครทำอะไร อย่างไร

ยกตัวอย่าง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ ต้องรู้ว่าประเทศกลุ่มเสี่ยง กลุ่มไม่เสี่ยงเป็นอย่างไร กลุ่มไหนจะต้อง ออกวีซ่า certificate of entry ต้องเอาให้ชัดเจน โดยเริ่มตั้งแต่ต้นทางเพราะต้องรายงานให้ทางท่าอากาศยานทราบว่ากลุ่มไหนที่จะมาได้ หรือมาไม่ได้เพื่อนำสู่การกำหนดแผนการจองเที่ยวบิน รวมทั้งจะต้องแจ้งกับผู้เดินทางให้ทราบว่าเข้ามาแล้วจะต้องอยู่ที่สถานที่กักกันทางเลือกที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine - ASQ) ที่ไหน อยู่กี่วัน ลักษณะอย่างไร ทั้งนี้เมื่อเข้ามาในประเทศแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ต้องดูข้อมูลว่าใครอยู่กี่วัน อยู่ที่ไหน

เช่นเดียวกันผู้เดินทางเองก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัว เพราะผู้เดินทางบางคน จะต้องมีการวางแผนการเดินทางของตัวเอง บางคนจองกันนานเป็นเดือน หากปรับระบบอะไรในทันที ผู้เดินทางก็จะปรับไม่ทัน

“เพราะฉะนั้นจะมีคนที่เกี่ยวข้องเยอะมาก ตั้งแต่ต่างประเทศ ด่าน พอไปถึงสถานที่กักตัว จะตรวจห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่ไหน อย่างไร เป็นต้นถ้าสมมติปรับการกักตัวเป็นแบบ 10+4 คือ กักตัวในสถานที่กัก 10 วัน อีก 4 วันที่เหลือจะดำเนินการอย่างไร มีมาตรการตรวจสอบ ติดตามอย่างไร เช่นการใช้ริสแบนด์หรือ Application ในการติดตามตัวระบบจะเป็นอย่างไร รวมทั้งเมื่อเกิดปัญหาจะมีวิธีการสอบสวนโรคอย่างไรจะเห็นว่ากระบวนการเยอะไปทั้งหมด จึงต้องมาคุยรายละเอียดแล้วนำกลับไปเสนออีกครั้ง”

นพ.โอภาส ระบุว่า เรื่องสูตรการกักตัว “10 + 4” วันนั้นยังเป็นประเด็นที่มีข้อเข้าใจไม่ตรงกัน บางคนเข้าใจว่าเมื่อถึง 4 วันสุดท้าย ยังให้อยู่เฉพาะในโรงแรม บางคนก็บอกว่าให้อยู่เฉพาะในพื้นที่ ขณะที่บางคนก็บอกว่าให้ปล่อยได้เลย จึงเป็นที่มาที่ ศบค.ให้กลับมาหารือกันให้ชัดเจนว่าจะใช้รูปแบบใดเพราะทุกแบบต่างก็มีข้อดีข้อเสีย และทำไปแล้วจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานเรื่องนี้ไม่มีสูตรตายตัว แล้วแต่ว่าเราต้องการแบบไหน เพราะฉะนั้นประเด็นเหล่านี้เถียงกันไม่จบ เพราะถ้า 4 วันสุดท้ายให้อยู่แต่ในโรงแรม บางคนก็เบื่อ แต่หากให้ออกจากสถานที่กักตัวบางคนก็กลัว

แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่เชิงวิทยาศาสตร์ 100% ถ้าจะคุมโรคให้เป็นศูนย์ก็ต้องเอาเหมือนเดิม แต่ถ้าจะผ่อนคลายก็ต้องดูว่าจะผ่อนคลายแค่ไหนให้เหมาะสมขึ้นอยู่กับความเชื่อและเหตุผลของแต่ละคนก็ต้องมาเคลียร์กันให้จบก่อน

“เบื้องต้นก็เห็นด้วยในหลักการว่าจะต้องปรับกระบวนการกักตัวกันใหม่ เพราะตอนนี้กระบวนการกักตัวที่ยาวไปมีข้อเสียหลายประการ คนอยู่ก็เครียดมีผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตค่อนข้างเยอะ อย่างที่เราเห็นข่าวบางคนถึงกับหาทางหนี ดังนั้นจำเป็นจะต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และประเมินผลเป็นระยะๆ เช่น 2-3 สัปดาห์จะต้องประเมินอย่างน้อย 1 ครั้งว่าทำแล้วเป็นอย่างไร”

โดยภาพรวมอย่างที่บอกว่าตอนนี้ ถึงยุทธศาสตร์ที่นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ไว้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งว่าจะต้องมีการสมดุลระหว่างการควบคุมโรค สุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าเราควบคุมโรคเป็นศูนย์ เศรษฐกิจก็แย่ คนตกงาน ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก กินเด็กก็ขาดอาหาร เจ็บป่วย ก็เสียชีวิตเหมือนกัน เพราะฉะนั้นความสมดุลต้องมี

ที่ผ่านมาเราเห็นตัวอย่างในหลายประเทศ ถ้าไม่มีการคุมโรคเลย อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจก็แย่อยู่ดี ส่วนประเทศที่คุมบ้างหยุดบ้างก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าควบคุมอย่างเข้มข้น คนก็เครียดอยู่ไม่ไหว ดังนั้นต้องสมดุล อย่างไรก็ตามคำว่า “สมดุล” แต่ละคนก็คิดไม่เหมือนกัน บางคนเอาเรื่องสุขภาพเยอะ เปิดอะไรหน่อยก็ไม่ยอม ขณะที่บางคนก็บอกว่าไม่ต้องเปิดเลย แต่สุดท้ายต้องพยายามหาสิ่งที่อยู่ตรงกลาง สิ่งที่สร้างความสมดุลให้ได้

วันนี้กระทรวงสาธารณสุขมองภาพว่าการระบาดใหญ่ๆไม่น่าจะมี ถ้าคนไทยร่วมมือกัน เช่น สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ดังนั้นถ้ากระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างมั่นใจว่าเปิดแบบเป็นขั้นตอน เศรษฐกิจก็จะไปได้ ไม่ทำให้คนตกงานมากกว่าเดิม ขณะที่ระบบการควบคุมโรคก็สามารถเดินหน้าได้แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเหนื่อยหน่อย เพราะจะมีเคสผู้ป่วยเข้ามาบ้าง เช่น พอเกิดเคสขึ้นมา 1 เคสก็ต้องสอบสวนโรคย้อนกลับไปในหลายเส้นทาง หลายพื้นที่ หลายจังหวัด แต่นี่คือหน้าที่เพราะถ้าเราเอาแบบเดิมเศรษฐกิจจะไปไม่ได้ อย่างเช่นเกาหลีเป็นตัวอย่าง คนตกงานปัญหาก็ตามมาเยอะแยะไม่ว่าจะสุขภาพจิต การเข้าถึงบริการสุขภาพ อาชญากรรม และอื่นๆ

“ดังนั้นในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมองแล้วว่าถึงอย่างไรก็ต้องให้เกิดความสมดุล” ...