ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปี 2563 มีข่าวปลอมที่เกี่ยวกับสุขภาพแบบเฉพาะด้านหลายประเด็นน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือการแชร์เกี่ยวกับวิธีรักษาอาการความจำเสื่อม เช่น ตรวจสมองเสื่อมด้วยการกดนิ้ว การงีบหลับระหว่างวันสามารถป้องกันความจำเสื่อม หรือแม้แต่การใช้อลูมิเนียมฟอยล์ปิ้งย่างเมื่อโดนความร้อนแคลเซียมจะถูกทำลายส่งผลให้สมองเสื่อม ฯลฯ

นพ.ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ อายุรแพทย์โรคระบบประสาทและสมอง สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีข่าวปลอมที่พบบ่อยคืออาหาร วิตามิน หรือสมุนไพรที่รับประทานแล้วสมองไม่เสื่อม 

“ไม่มีอาหารชนิดใด ชนิดหนึ่งที่จะทำให้เราไม่เป็นโรคความจำเสื่อม เพราะฉะนั้นถ้ามีข้อมูลว่าอาหารนี้กินแล้วจะป้องกัน หรือสมุนไพร อาหารเสริม พวกนี้เป็นเท็จแล้ว ถ้ารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็จะลดปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรค เมื่อเราได้รับอาหารที่เป็นประโยชน์แล้วก็จะช่วยให้การใช้งานของสมองเป็นปกติ ถ้าจะกินสมุนไพรแนะนำว่าให้กินเพื่อเป็นอาหาร มากกว่าวัตถุประสงค์ในการป้องกันรักษาโรค นอกจากนี้คืออารมณ์ที่สดชื่น แจ่มใส ไม่เศร้าไม่โกรธ ในส่วนสมองเมื่ออารมณ์ดีก็จะช่วยเรื่องความจำด้วย”

“ถ้าเป็นโรคความจำเสื่อมแล้ว โรคพวกนี้เป็นโรคของความเสื่อม เป็นโรคที่เราไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ พออายุเพิ่มมากขึ้น ความเสื่อมก็จะแสดงให้เห็นมากขึ้น การทำกิจกรรมต่างๆเพื่อให้ความเสื่อมช้าลงจะสามารถทำให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตได้โดยที่ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

นพ.ชลภิวัฒน์ ให้ความเห็นว่า คนไทยค่อนข้างจะมีความวิตกกังวล ความเครียดและเรื่องของอารมณ์มากพอสมควร โดยเฉพาะปีนี้ที่โควิดระบาด ไม่ใช่แค่กลัวติดเชื้อเท่านั้น แต่วิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไปจากเดิม สภาพเศรษฐกิจ คนตกงาน ซึ่งอาการสุขภาพจิตจะส่งผลต่อความคิดความจำ

“ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้อาการเสื่อมเกิดขึ้นช้าที่สุด โดยทางวิชาการแล้วต้องออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ให้ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงระบบเลือดไหลเวียนสูบฉีดดีก็จะทำให้เลือกไปเลี้ยงสมองดีขึ้น ออกกำลังกายสมองด้วยการฝึกคิดฝึกพูดฝึกทำ เช่น อ่านหนังสือ ทำโจทย์เลข คนที่ถึงวัยเกษียณแล้วแต่ยังทำงานบางอย่างหรือทำงานหลังเกษียณก็จะทำให้สมองได้รับการฝึกอยู่ ยังพบปะ หมั่นสนทนากับคนอื่นเสมอ บางคนเกษียณไปอยู่ไร่ปลายนาไม่ได้คุยกับใครก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคสมองเสื่อมมากกว่า นอกจากนี้คนที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ก็จะส่งผลต่อหลอดเลือดในสมอง ต้องควบคุมรักษาโรคเหล่านี้ให้ดี”

จากการตรวจสอบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสมอง ให้กับกรมการแพทย์ นพ.ชลภิวัฒน์ ให้ความเห็นว่าข่าวลวงที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์ทุกวันนี้มาจากการพูดกันปากต่อปาก ที่ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารบนโซเชียลมีเดีย

“ส่วนตัวผมคิดว่าเฟคนิวส์ไม่ได้เยอะขึ้น เพียงแต่มันเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่เคยให้คำแนะนำปากต่อปาก เป็นการโพสต์หรือแชร์มากขึ้น มันเลยทำให้เราเห็นรูปแบบในการเขียนการส่งต่อมากขึ้น เราต้องไปหาคำตอบในแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่นสมุนไพร ซี่งบางตัวที่ไม่ได้ป้องกันความจำเสื่อม คนทั่วไปที่ได้รับข่าวต้องพิจารณาเลยว่าอะไรที่มันดีเกินไปต้องคิดเอาไว้ก่อนว่าอาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ แล้วหาข้อมูลเพิ่มเติม หลายข่าวที่มีการแชร์กันมาเช่น ทำวิธีนี้ความจำจะดีเลิศ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงคือถ้ามันดีขนาดนั้นเราจะไม่มีคนไข้ความจำเสื่อม”

ในขณะที่แนวโน้มข่าวปลอมเกี่ยวกับระบบประสาทและสมองก็มีลักษณะเฉพาะเนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวกับความจำเสื่อม ไม่เหมือนโรคติดเชื้อที่ระบาดหรือกลายพันธ์ได้

“โรคทางระบบประสาทเท่าที่ตรวจสอบข่าวปลอมมาค่อนข้างนิ่ง โดยประเด็นสมองเสื่อมจะวนมาบ่อยมาก ไม่เหมือนข่าวโรคกลุ่มอื่นๆที่มีการติดเชื้อใหม่ แต่ข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับโรคระบบประสาทจะนิ่ง คิดว่าในปีหน้าก็คงไม่มีประเด็นใหม่สักเท่าไร แต่เนื่องจากโรคความจำเสื่อมเป็นโรคของผู้สูงอายุ โดยประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จึงมีการแชร์ข่าวหรือสร้างข้อมูลเกี่ยวกับยาอาหาร และสมุนไพรที่ช่วยลด ชะลอ หรือป้องกันความจำเสื่อม ข่าวปลอมนี้น่าจะมีต่อไปอีกหลายปีเพราะผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

นพ.ชลภิวัฒน์ มองว่า ข่าวปลอม ข่าวลวงที่ถูกปล่อยออกมานั้นส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กลุ่มเล็กๆ ที่มีการเข้าถึงไม่มาก และมีเพียงบางประเด็นที่สังคมสนใจจนสื่อนำมาเผยแพร่

“มีคนที่ทำหน้าที่ว่ามีการสร้างข่าวเท็จตรงไหน ซึ่งบางครั้งเราไม่สามารถกำจัดสิ่งนี้ออกไปได้เพราะว่าในความเป็นจริงก็ยังมีการให้คำแนะนำด้วยวิธีปากต่อปาก นอกจากการเขียนลงบนเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้มันจะไม่หมดไป การที่เราไปมองหาว่าตอนนี้มีการสร้างข่าวเท็จตรงไหน บางครั้งก็เป็นการเพิ่มงานที่อาจไม่ได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น เมื่อเราตรวจสอบแล้วว่าข่าวนั้นไม่จริงเราก็ไม่ได้เข้าไปตอบในพื้นที่ที่เขาปล่อยข่าวลวง เราปล่อยในพื้นที่ของเราเองเช่น เฟซบุ๊กของสถาบันประสาทวิทยา หรือเฟซบุ๊กของกรมการแพทย์ คนที่ตามประจำจะได้ข้อมูลส่วนนี้อยู่แล้ว แต่ข่าวลวงอยู่ที่หนึ่ง เราตามแก้อีกพื้นที่หนึ่ง ก็อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ได้ตรงจุดมากนัก ถามว่าดีไหม ก็อาจจะดี แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเต้นตามทุกเรื่องถ้าไม่ได้เป็นวงกว้าง”

“เรื่องเฟคนิวส์ผมอยากให้ทุกคนมีเหตุมีผล วิเคราะห์กับเรื่องที่เราได้รับไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว เริ่มต้นที่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ก่อนที่จะเชื่อก็จะเป็นประโยชน์ ต่อไปจะมีเฟคนิวส์เรื่องไหนผ่านเข้ามาเราก็จะตรวจสอบก่อนที่จะเชื่อ ถ้าเราปลูกฝังให้คนมีความคิดวิเคราะห์แยกแยะได้ดีขึ้น ปัญหาเรื่องโซเชียลบูลลี่ก็จะลดลง ลดเรื่องเกรียนคีย์บอร์ด คิดมากขึ้นก่อนแสดงความเห็นส่งต่อข้อมูล อยากให้เกิดขึ้นเยอะๆ  อาจไม่ใช่เร็ววัน อย่างน้อยถ้าช่วยให้ทุกคนรู้สึกว่าต้องคิดเยอะๆ ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์ ก่อนแสดงความเห็น น่าจะช่วยให้สิ่งนี้ค่อยๆลดลง” นพ.ชลภิวัฒน์ กล่าว