ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กลายเป็นวาระแห่งชาติอีกครั้ง เมื่อมีรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในระดับสูงและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเขต กรุงเทพ ปริมณฑล และพื้นที่อื่นๆรวมกว่า 60 พื้นที่ ในประเทศไทย เกิดคำถามว่ามีอะไรป้องกันฝุ่นเหล่านี้ที่จะทำร้ายสุขภาพเรา รู้หรือไม่...สมุนไพร ผักผลไม้ช่วยได้

ที่ผ่านมาเราได้พูดถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 กันมาอย่างยาวนาน ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น โรคปอด โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจและปอด สารก่อมะเร็งที่มากับฝุ่น การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ รวมถึงการระคายเคืองตามผิว ดวงตา ทางเดินหายใจ รวมถึงสมุนไพรที่มีศักยภาพในการดูแลและช่วยต้านพิษของฝุ่นจิ๋วดังกล่าวกันไปแล้ว นอกจากการป้องกันด้วยอุปกรณ์ภายนอกที่สำคัญแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย การปลูกต้นไม้ในที่อยู่อาศัยที่ช่วยกรองฝุ่น หรือแม้กระทั่งการใช้ตัวช่วยอย่างเครื่องฟอกอากาศ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่เพียงพอ เพราะนอกจากตัวช่วยภายนอกแล้ว ภายในก็ต้องแข็งแรงด้วย ดังนั้นวันนี้จะขอแนะนำอาหารที่ควรรับประทาน เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์มลภาวะดังกล่าว

เทคนิคการเลือกรับประทานอาหาร หรือเลือกใช้สมุนไพรในเพื่อสู้กับมลพิษทางอากาศในขณะนี้ จำเป็นต้องรับสารอาหารที่ช่วยลดการอักเสบของร่างกาย และสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูงขึ้นเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการได้รับ PM 2.5 กลุ่มอาหารที่แนะนำ ดังนี้

ผักผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินเอและเบต้าแคโรทีน : วิตามินเอช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ แครอท ตำลึง ผักบุ้ง ฟักทอง มันเทศ มะม่วง มะละกอ แคนตาลูป น้ำมันตับปลา เครื่องในสัตว์ ไข่แดง รวมถึงผักที่มีสีเขียวเข้ม สีเหลือง สีส้ม

อาหารกลุ่มที่มี วิตามินซีสูง : ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสียหายต่อเซลล์ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดอาการแพ้ เช่น ส้ม สตอเบอร์รี่ แอปเปิ้ล แตงโม ฝรั่ง ผักเขียวเข้ม ผักโขม บัวบก มะขามป้อม มะเขือเทศ

อาหารกลุ่มวิตามินอีสูง : ในกลุ่มอาหารที่ไขมันสูงเช่น ธัญพืช ถั่ว ไข่แดง ข้าว น้ำมันรำข้าวจมูกข้าว น้ำมันปลา ช่วยลดการอักเสบ

วิตามินบี6 และ 12 และ กรดโฟลิกหรือโฟเลต : เพื่อช่วยลดโฮโมซิสเทอีนในเลือดจาก PM2.5 กลุ่มอาหารที่มีเช่น บรอกคลี ฟักทอง แครอท เนื้อสัตว์ เนื้อแดง ข้าวไม่ขัดสี นม ถัวต่างๆ จมูกข้าว รำข้าว กะหล่ำปี

โอเมก้า3 : กรดไขมันไม่อิ่มตัว ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหาร เช่น ปลา น้ำมันพืช ถั่ว เมล็ดพืชต่าง ๆ หรือผักใบเขียว อะโวคาโด มีการศึกษาทางคลินิกในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีฝุ่นละอองสูง PM 2.5 การทานน้ำมันปลา 2 กรัม / วันจะช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้

สารอาหารที่มีกรดอะมิโน N-acetyl cysteine : ช่วยลดความเสี่ยงโรคทางเดินหายใจ อาหารที่ควรกิน เช่น หัวหอม กระเทียม ไข่ เนื้อแดง แตงโม

สารอาหารกลุ่มโพลีแซ็กคาไรด์ : กลุ่มเบต้ากลูแคน พบได้ในเห็นหลากหลายชนิด ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายกำจัดไวรัสหรือสิ่งแปลกปลอมได้ไวขึ้น

การใช้สมุนไพรที่โดดเด่นในการต้านการอักเสบ-บำรุงปอด-และขับสารพิษ

หญ้าดอกขาว : พื้นบ้านใช้เป็นยาล้างปอด งานวิจัยในคนที่สูบบุหรี่ พบว่าหญ้าดอกขาวสามารถลดปริมาณก๊าซพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ที่คั่งค้างในปอดได้ รวมถึงช่วยฟื้นฟูปรับปรุงเนื้อเยื่อทางเดินหายใจ ลดการอักเสบระคายเคือง จึงเหมาะที่จะใช้เพื่อดูแลในสถานการณ์ PM2.5 ไม่แนะนำใช้ในผู้ที่มีการทำงานของตับและไตผิดปกติ รวมถึงผู้ที่ต้องคุมระดับโพแทสเซียม

มะขามป้อม : แก้ไอ แก้หอบ รักษาหลอดลมอักเสบ วิตามินซีสูง มีงานวิจัยในหนูพบว่าการกินมะขามป้อมช่วยลดผลกระทบจากก๊าซพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อันเป็นแหล่งกำเนิดของ PM 2.5 โดยมีผลปรับแร่ธาตุในร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากก๊าซพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ให้สมดุล กลไกสำคัญมากจากฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระของมะขามป้อม

ขมิ้นชัน : โดดเด่นเรื่องลดการอักเสบ มีงานวิจัยในหนูทดลองยืนยันว่า ขมิ้นชันมีผลปกป้องระบบหัวใจหลอดเลือด-ปอด จาก PM 2.5 มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านมะเร็ง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ต้านการแพ้ ต้านพิษโลหะหนัก ซึ่งพบได้จากมลพิษและจาก PM 2.5 เช่น แคดเมียม อาร์เซนิก ไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยท่อน้ำดีอุดตัน

รางจืด : โดดเด่นเรื่องการล้างพิษ มีงานวิจัยในหนูทดลองยืนยันว่ารางจืดสามารถปกป้องตับและไตจากแคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนัก ที่พบได้ใน PM 2.5 สามารถประยุกต์ใช้ได้จากข้อมูลที่มีเพื่อช่วยลดการสะสมพิษในร่างกาย แต่ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคตับและไต หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร และเด็กเล็ก ไม่ควรกินรางจืดพร้อมยาแผนปัจจุบันเพราะอาจลดประสิทธิภาพของยานั้น หากต้องการใช้เพื่อป้องกันแนะนำใช้ขนาดต่ำไม่เกิน 7 วัน หรือสัปดาห์ละ 1 วันในกลุ่มที่เสี่ยงต่อมลภาวะ นอกจากการใช้รางจืดในรูปแบบรับประทานแล้ว การใช้ภายนอกกับผิวหนังก็ให้ผลดีในด้านต้านการแพ้ และมลภาวะได้เช่นกัน

นอกจากอาหาร และสมุนไพรตามที่แนะนำแล้ว ยังมีอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถปฏิบัติเองได้ที่บ้าน เช่น การทำยาสุม(สูดดม)ช่วยระบบทางเดินหายใจ หรือการทำชาบำรุงปอดรับประทานเองก็เป็นอีกรูปแบบทางแผนไทยที่แนะนำให้ทำใช้เองได้ที่บ้าน

ตัวอย่างคลิป ชาบำรุงปอด https://studio.youtube.com/video/K6VRiEv2jQY/edit

ตัวอย่างคลิป สุมยา https://www.youtube.com/watch?v=NW7pqoF_4fg

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.scb.co.th/en/personal-banking/stories/tips-for-you/food-against-pm25.html

https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30000

https://www.brandsworld.co.th/th/brands-health-club/nutrition-for-health-pollutionPM25.html

http://www.thaiheartfound.org/category/details/food/519

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร. บันทึกของแผ่นดินเล่มที่ 5 สมุนไพรประคบ อบ อาบ นวด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ปรมัตถ์การพิมพ์; 2556

Promputta C et al. Effect of Vernonia Cinerea in Improvement of Respiratory Tissue in Chronic Nicotine Treatment . J Med Assoc Thai 2012; 95 (Suppl. 12): S47-S55

Abderrahim N, Deepa S, Badreldin H. Protective Effect of Curcumin on Pulmonary and Cardiovascular Effects Induced by Repeated Exposure to Diesel Exhaust Particles in Mice. PLoS ONE; 7(6): e39554. 2012. 2. Jun S, Huiping D, Min Z. Curcumin pretreatment protects against PM2.5 induced oxidized low density lipoprotein mediated oxidative stress and inflammation in human microvascular endothelial cells. Molecular Medicine Report; 16: 2588-2594. 2017.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง