ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จริงหรือไม่ที่ความนิยมทางการเมืองมีส่วนต่อการตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม? ในบทความชิ้นที่แล้วเราตั้งคำถามว่า "การหลงเชื่อข่าวปลอมเกี่ยวกับอายุหรือไม่?" แต่ได้เกริ่นไว้ด้วยว่าระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา การแพร่ระบาดของข่าวปลอมกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่งโดยโฟกัสที่เรื่องการเมืองเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างออกไปจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาซึ่งข่าวปลอมส่วนใหญ่โฟกัสอยู่ที่เรื่องการระบาดของโรคโควิด-19

               เว็บไซต์วารสารออนไลน์ของมูลนิธิไนแมนเพื่อการนิเทศศาสตร์ (Nieman Foundation for Journalism) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานผลการวิจัยหนึ่งซึ่งพบว่าไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่มักจะแชร์เรื่องราวของโควิด-19 จากแอคเคาท์ข่าวปลอมบน Twitter แต่ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันก็หลงเชื่อข่าวปลอมในระดับที่สูงเช่นกัน

               ตั้งแต่เดือนมีนาคมกลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น, ฮาร์วาร์ด, รัตเจอร์ส และมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นรวมกันทำวิจัยเพื่อศึกษาว่าพฤติกรรมทางสังคมส่งผลต่อการแพร่เชื้อโควิด-19อย่างไร ซึ่งพวกเขาได้ออกรายงานหลายชุดในช่วงหลายเดือนและรายงานล่าสุดคือการวิเคราะห์โพสต์ (หรือทวีต) ใน Twitter ที่เกี่ยวข้องกับ Covid-19 เกือบ 30 ล้านรายการที่รวบรวมระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2563 จากผู้ลงมีสิทธิออกเสียงที่ลงทะเบียนแสดงเจตจำนงค์ที่จะเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกามากกว่า 500,000 คน 

               จากการสำรวจพบว่า เว็บไซต์ของกลุ่มการเมืองขวาจัดที่ชื่อว่ากลุ่ม The Gateway Pundit ซึ่งในอดีตเคยมีประวัติเผยแพร่ข้อมูลที่เเป็นเท็จทางการเมืองมาแล้ว เช่น รายงานเท็จว่าฮิลลารี คลินตันเกิดอาการชักต่อหน้ากล้อง เว็บไซต์นี้เป็นแหล่งข่าวปลอมที่ถูกแชร์มากที่สุด ในบางเดือนมีการแชร์เรื่องราวจากเว็บไซต์นี้มากกว่าแหล่งขาวที่น่าเชื่อถือระดับโลกอย่าง  The New York Times, The Washington Post และ CNN เสียอีก (1) 

               นอกจาก The Gateway Pundit แล้วยังมีสื่อฝ่ายขวาจนถึงขวาจัดอีกหลายกลุ่มที่แพร่ข่าวปลอม เช่น InfoWars ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่แพร่ทฤษฎีสมคบคิดและข่าวปลอมมีแนวคิดขวาจัด และนั่งเทียนเขียนข่าวเอาเองจากสถานที่ไม่เปิดเผยในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส ซึ่งเว็บไซต์ InfoWars มีผู้เข้าชมประมาณ 10 ล้านครั้งต่อเดือนทำให้มีการเข้าถึงมากกว่าเว็บไซต์ข่าวหลักบางแห่งเช่น The Economist และ Newsweek

               WorldNetDaily (WND) สำนักข่าวฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดจนถึงขวาสุดโต่ง ยังมีกลุ่ม Judicial Watch ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เฝ้าจับตาการทำงานของรัฐบาลแต่มักจะกล่าวหาโดยไม่มีมูลและในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานายทรัมป์ยังอ้างข้อมูลที่ไม่มีมูลของกลุ่มนี้ในการกล่าวหาว่ามีการโกงผลการเลือกตั้ง

               อีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกนักวิจัยทำการสำรวจในครั้งนี้ด้วย คือ Natural News เป็นเว็บไซต์ทฤษฎีสมคบคิดต่อต้านการฉีดวัคซีนและเว็บไซต์ข่าวปลอมที่รู้จักกันในเรื่องการส่งเสริมวิทยาศาสตร์กำมะลอ (pseudoscience ) และมีแนวคิดหัวรุนแรงขวาจัด มีผู้เข้าชมที่ไม่ซ้ำประมาณ 7 ล้านคนต่อเดือน แต่เว็บไซต์ดังกล่าวถูกลบออกและถูกบล็อกจาก Google Search และเครื่องมือค้นหาเว็บอื่นๆ

               เบื้องต้นจะพบว่าสื่อสายขวา-ขวาจัดมีพฤติกรรมแพร่ขาวปลอมที่เป็นกิจจะลักษณะอย่างมาก และมีผู้ติดตามหลักหลายล้านคนแม้วาจะถูกปิดกั้นโดยเครื่องมือค้นหาเว็บ แสดงให้เห็นถึงพลังของเว็บไซต์ข่าวปลอมที่มีต่อผู้คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตรงกัน แต่ก่อนที่จะลงไปถึงความเชื่อมโยงระหว่างการแชร์ข่าวปลอมกับประชาชนทั่วไปที่มีแนวคิดทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนอื่นเราต้องนิยามแนวคิดทางการรเมืองซ้ายและขวากันก่อนเพื่อความชัดเจนของรายงานชิ้นนี้ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุดมการณ์ทางการเมืองและพฤติกรรมการแชร์ข่าวปลอม

               โดยทั่วไปแล้วฝ่ายซ้ายจะมีลักษณะเน้นแนวคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ สิทธิ ความก้าวหน้า การปฏิรูปและความเป็นสากล  ในขณะที่ฝ่ายขวามีลักษณะที่เน้นเรื่องอำนาจการปกครอง ลำดับชั้น ความเป็นระเบียบ หน้าที่ ประเพณี, ปฏิกิริยาต่อต้านการปฏิรูป และชาตินิยม (2) การบ่งลักษณะนี้เป็นการแบ่งคร่าวๆ แต่สอดคล้องกับแนวนโยบายของพรรคหลักสองพรรคในสหรัฐอเมริกา คือเดโมแครตที่เป็นฝ่ายซ้ายที่เน้นสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูป ส่วนพรรครีพับลิกกันเป็นฝ่ายขวาที่เน้นการอนุรักษ์นิยมและสิทธิอำนาจพลเมืองชาวอเมริกัน

               มีการตั้งข้อสังเกตมาระยะหนึ่งแล้วว่าฝ่ายขวามักตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมได้ง่ายกว่า (3) เรื่องนี้ตอกย้ำโดยสื่อฝ่ายขวาที่พบในการวิจัยครั้งนี้ซึ่งเป็นตัวปล่อยข่าวปลอมหลายกรณี ในกรณีของ The Gateway Pundit ปล่อยขาวปลอมกันแบบซึ่งๆ หน้า เช่นข่าวที่ระบุว่า  “IT’S A SCAM: After 48,299 COVID-19 Cases at 37 US Universities — Only 2 Hospitalizations and ZERO Deaths — More Likely to Be Killed By a Dog,” (“ เป็นการหลอกลวง: หลังจากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด -19 48,299 รายในมหาวิทยาลัย 37 แห่งของสหรัฐฯ - มีการรักษาในโรงพยาบาลเพียง 2 รายและเสียชีวิตเป็นศูนย์ โอกาสตายเพราะถูกสุนัขกัดมีมากกว่า”)

               จากการสำรวจพบว่าผู้ที่แชร์ข่าวปลอมส่วนใหญ่คือผู้ที่นิยมแนวทางการเมืองแบบฝ่ายขวา เช่น พรรครีพับลิกันหนึ่งในพรรคการเมืองหลักสองพรรคของสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจพบว่าทุกๆ ช่วงคนวัยต่างๆ ของผู้ลงมีสิทธิออกเสียงที่ลงทะเบียนแสดงเจตจำนงค์ที่จะเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ 18 จนถึง 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่นิยมพรรครีพับลิกันเป็นกลุ่มที่แชร์ข่าวปลอมมากกว่ากว่ากลุ่มอื่นๆ

               อัตราส่วนต่อหัวของลิงก์ที่แชร์ข่าวปลอมใน Twitter ในช่วงวัย 18 - 29 ปีพบว่ากลุ่มที่แชร์มากที่สุดคือผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน พบว่าช่วงวัย 18 - 19 ปีผู้สนับสนุนพรรรีพับลิกัแชร์ข่าวปลอมเลย คือ 0.04 ลิ้งก์ต่อคน คนที่สนับสนุนพรรคนี้ช่วงวัย 30 - 49 แชร์ 0.24  ลิ้งก์ต่อคน ช่วงวัย 50 - 64 แชร์ข่าวปลอมมากขึ้น 0.91 ลิ้งก์ต่อคน และช่วงวัย 65 ปีขึ้นไปแชร์ลิ้งก์ขาวปลอมมากที่สุดถึง 1.97 ลิ้งก์ต่อคน

               ด้านกลุ่มการเมืองฝ่ายเอียงซ้าย คือ ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต พบว่าช่วงวัย 18 - 19 ปีผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตไม่ได้แชร์ข่าวปลอมเลย คือ 0.00 ลิ้งก์ต่อคน คนที่สนับสนุนพรรคนี้ช่วงวัย 30 - 49 แชร์แค่ 0.03 ลิ้งก์ต่อคน ช่วงวัย 50 - 64 แชร์ข่าวปลอม 0.14 ลิ้งก์ต่อคน และช่วงวัย 65 ปีขึ้นไปแชร์ลิ้งก์ขาวปลอม 0.22  ลิ้งก์ต่อคน

               อีกดัชนีชี้วัดคือการแชร์ข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 มากแค่ไหน ซึ่งตัวชี้วัดนี้อาจจะช่วยบอกกับเราได้ว่ากลุ่มการเมืองไหนที่สนใจเรื่องการระบาดมากกว่ากัน พบว่าช่วงวัย 18 - 19 ปีผู้สนับสนุนพรรเดโมแครตมีสัดส่วนแชร์ข่าวโควิด-19 อยู่ที่ 8.1 ลิงก์ต่อคน ช่วงวัย 30 - 49 ก็ยังเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตที่แชร์โควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่นคือ 15.6 ลิงก์ต่อคน ช่วงวัย 50 - 64 ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตแชร์ข่าวโควิด-19 อยู่ที่ 32.3 ลิงก์ต่อคน และช่วงวัย 65 ปีขึ้นไปผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตแชร์ข่าวโควิด-19 อยู่ที่ 49.3 ลิงก์ต่อคน ตัวเลขทั้งหมดนี้ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตแชร์ข่าวโควิด-19 มากกว่าคนอื่นกือบทุกช่วงวัย ยกเว้นวัย 65 ปีขึ้นไปที่กลุ่มที่แชร์มากที่สุดคือกลุ่มผู้สนับสนุนอิสระทางการเมือง

               จากข้อมูลข้างต้นเกี่ยวกับผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตพบว่าคนกลุ่มนี้ใส่ใจกับข่าวของโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายขวา คือพรรครีพับลิกัน อาจเป็นเพราะบุคคลที่พวกเขาสนับสนุนคือนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ (ในขณะที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น) ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยอิงกับการปรึกษาหารือกับนักวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ซึ่งตรงกันข้ามกับนายดอนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกันในขณะนั้น ซึ่งถึงแม้เขาจะอ้างว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงก็คือสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก

               ตัวอย่างพฤติกรรมโน้มเอียงไปในทางข่าวปลอมของทรัมป์และผู้ที่สนับสนุนเขาก็คือการที่เว็บไซต์ The Gateway Pundit ได้รับใบอนุญาตให้เป็นสื่อมวลชนในทำเนียบขาวและนายทรัมป์ยังปฏิบัติต่อสื่อรายนี้เป็นพิเศษในระหว่างการบรรยายสรุป ทั้งๆ ที่ The Gateway Pundit ปล่อยข่าวปลอมมากที่สุด (ขณะเดียวกันนายทรัมป์ยังเคยกล่าวหา CNN ว่าเป็น "ข่าวปลอม")

               แม้แต่ลูกน้องของนายทรัมป์ก็มีพฤติกรรมในทำนองเดียวงกัน เช่นในเดือนมิถุนายน 2560 มีการประกาศว่านายโรเจอร์ สโตนอดีตที่ปรึกษาแคมเปญหาเสียงของนายทรัมป์จะจัดรายการในเว็บไซต์ข่าว InfoWars ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ข่าวปลอมยอดนิยมที่ดำเนินการโดยฝ่ายขวาจัดที่สนับสนุนนายทรัมป์

               นายดอนัลด์ ทรัมป์ยังมีพฤติกรรมปฏิเสธข้อเท็จจริงทางการแพทย์ หลงเชื่อและเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 และยังทำตัวเป็นศัตรูกับแพทย์ผู้รับผิดชอบควบคุมการระบาด ขณะเดียวกับผู้สนับสนุนของนายทรัมป์และสื่อฝ่ายขวาก็แสดงพฤติกรรมในแบบเดียวกัน คือ พยายามดิสเครดิตข้อมูลทางการแพทย์และสนับสนุน "ข้อเท็จจริง" ที่นายทรัมป์อ้าง สิ่งที่เกิดขึ้่นตอกย้ำว่า อุดมการณ์ทางการเมืองมีผลต่อการเสพข่าวปลอมมากเพียงใด

               และการที่ผู้มีอำนาจใช้ข่าวปลอมเสียเองทำให้ผู้ที่ติดตามเขาและพรรคการเมืองของเขาตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความพยายามในการสร้างเสถียรภาพในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมการระบาดของโรค-19 และความแตกแยกทางอุดมการณ์ทางการเมือง เชื้อชาติ และสถานะทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสหรัฐอเมริกาอย่างหนักมานานหลายปี แต่มารุนแรงขึ้นในสมัยของนายดอนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี

 

 

อ้างอิง

• Owen, Laura Hazard. (Oct. 26, 2020). "Older people and Republicans are most likely to share Covid-19 stories from fake news sites on Twitter". Nieman Lab. Retrieved Nov. 22, 2020.

• Andrew Heywood, Key Concepts in Politics and International Relations (2d ed.: Palgrave Macmillan, 2015), p. 119.

• Hern, Alex. (Feb. 28, 2018). "Fake news sharing in US is a rightwing thing, says study". The Guardian. Retrieved Nov. 22, 2020.

ภาพจาก InfoWars