ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

​โรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 คืบหน้าแล้วกว่า 40% เดินหน้าติดตั้งเครื่องจักรระบบสนับสนุนการผลิต เช่น chiller กับ cooling tower และถังน้ำมัน คาดเริ่มผลิตได้ปี 65 ช่วยคนไทยให้เข้าถึงยามากขึ้น

ความคืบหน้าของ​โรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 ปัจจุบันคืบหน้าแล้วกว่า 40% อีกเพียงไม่นานโรงงานผลิตยาซึ่งนำเทคโนโลยีระดับโลกมาใช้ก็จะสำเร็จ และคาดว่าจะเปิดทำการผลิตได้ในปี 2565

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เดินทางมาเยี่ยมชมโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 และกล่าวภายหลังว่า จากการเข้าดูพื้นที่ ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้วกว่า 40% งานด้านโครงสร้างเกือบเสร็จแล้วทุกอาคาร โดยเริ่มติดตั้งเครื่องจักรของระบบสนับสนุนการผลิต เช่น chiller กับ cooling tower และถังน้ำมัน นอกจากนี้ ยังมีการสั่งซื้อเครื่องจักรเพื่อดำเนินการผลิต คาดว่าจะสามารถเปิดทำการผลิตได้ภายในปี 2565 ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน และช่วยคนไทยให้ได้เข้าถึงยาได้มากขึ้น

"​โรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 ใกล้จะเสร็จแล้ว โดยมีมาตรฐาน มียา และอื่น ๆ ซึ่งหวังว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะสามารถประกอบกิจการและนำผลกำไรมาช่วยประชาชนได้ โครงการนี้ถือหุ้นโดยประชาชนเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ 100 เปอร์เซนต์ เงินปันผลต้องกลับไปที่ประชาชนคนไทยเท่านั้น รัฐไม่สามารถนำเงินก้อนนี้ไปใช้อย่างอื่นได้ ผลกำไรหรือรายได้จาก อภ.ได้มาจะกลับคืนสู่ประชาชน 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นความตั้งใจของกระทรวงสาธารณสุข หวังว่าทุกคนจะมีความสุขที่ได้ร่วมกันทำสิ่งดี ๆ เหล่านี้ให้กับบ้านเมือง ทำให้งานของเรามันง่ายขึ้น นอกจากนี้ ภายในสัปดาห์ถึงสองสัปดาห์นี้ อภ.ก็จะมีคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาร่วมกันบริหารต่อไป โดยพยายามให้อยู่ในความควบคุมและความร่วมมืออย่างดีระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและองค์การเภสัชกรรม ช่วยในการจัดหายาให้ในราคาที่เหมาะสม ราคาที่เป็นธรรม สำคัญที่สุด ต้องเป็นที่พึ่งพาด้านความมั่นคงของสุขภาพประชาชน ความมั่นคงทางสาธารณสุข และทางการแพทย์ นี่คือวัตถุประสงค์ ที่ต้องช่วยกันดูแลอย่างดี" นายอนุทิน กล่าว

ด้านนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ​โรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 ตั้งอยู่ในพื้นที่องค์การเภสัชกรรม (คลอง10) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บนเนื้อที่ 60 ไร่ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน 5,396 ล้านบาท ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างและการควบคุมงาน โดยมีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รับชั่น (ประเทศไทย) ร่วมสังเกตการณ์ด้วย ใช้เวลาในการก่อสร้างพร้อมติดตั้งระบบงาน และเครื่องจักรเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ถึง มิถุนายน 2565 เพื่อรองรับกำลังการผลิตยาที่ย้ายฐานการผลิตมาจากโรงงานที่องค์การเภสัชกรรม ถนนพระรามที่ 6 ทั้งยังผลิตยารายการใหม่ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสำเร็จ และด้วยเป็นโรงงานที่มีศักยภาพสูงจะทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตยาโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 1 เท่าตัว ซึ่งจะช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา ได้มากกว่ามูลค่าในปัจจุบันที่ประหยัดได้มากกว่าถึงปีละ 7,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จะมีการดำเนินการผลิตตามมาตรฐานคุณภาพ GMP PIC/S ที่จะรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กลุ่มยาที่รักษาโรคเรื้อรัง ยาที่มีมูลค่าการใช้สูง ยาจำเป็น ได้แก่ ยารักษาโรคเอดส์ เบาหวาน ความดัน ลดไขมันในเส้นเลือด วัณโรค ยาช่วยชีวิต ยาชา ยาฆ่าเชื้อ และวิตามิน คาดว่าจะสามารถเปิดทำการผลิตได้ภายในปี 2565 โรงงานฯแห่งใหม่นี้ จะทำการผลิตยาน้ำ ยาฉีด ยาครีม/ขี้ผึ้ง และยาเม็ด รวมทั้งหมดทั้งยาเก่าและยาใหม่ ประมาณ 160 รายการ

สำหรับการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่ 2 ได้นำเทคโนโลยีระดับโลกที่ได้รับการรับรอง WHO Prequalification Program (WHO PQ) ขององค์การอนามัยโลกเป็นแห่งแรกของไทยและอาเซียน รองรับการผลิตยาจำเป็น ยากลุ่มโรคเรื้อรัง และยาที่มีมูลค่าการใช้สูง เพิ่มโอกาสกระจายยาไปประเทศเพื่อนบ้าน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศ ก่อสร้างโดยบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE รับผิดชอบงานด้านโครงสร้าง-สถาปัตยกรรม, วิศวกรรมระบบประกอบอาคาร, Utility จ่ายเครื่องจักร, จัดหาเครื่องจักรและเครื่องมือปฏิบัติการ รวมถึงระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ

ด้วยเป็นโรงงานที่มีการนำเทคโนโลยีที่การผลิตและควบคุมคุณภาพที่ทันสมัยระดับโลก ทำให้มีศักยภาพสูง เป็นโรงงาน Smart Industry ที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีระดับสากล นำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) เทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Technology) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) เทคโนโลยีการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet of Things : IoT) เทคโนโลยีระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ (Building Automation System) เข้ามาใช้ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต รวมถึงการจัดเก็บสินค้าใช้ระบบคลังอัตโนมัติ ASRS (Automated Storage and Retrieval System) การก่อสร้างนั้นดำเนินคู่ขนานกับการจัดทำข้อกำหนดเครื่องจักรและคัดเลือกเครื่องจักร และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ต้องใช้ในการผลิตยาและเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP-PIC/S

อีกเพียงไม่ถึง 2 ปี คนไทยก็จะได้ใช้ยาคุณภาพดี มีมาตรฐานในราคาที่สมเหตุสมผล เพื่อยกระดับสุขภาพของประชาชนให้เข้าถึงยาต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง