ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.เปิด 10 ประเด็นสำคัญ 6 เรื่องที่คนไทยต้องเผชิญตลอดปี และ 4 เรื่องที่น่าจับตาต่อเนื่องจากปี 2563

ในปี 2020 ที่ผ่านมา ทุกสิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว ด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่มาราธอนตั้งแต่เดือนแรกจนถึงเดือนสุดท้ายของปี ทำให้สุขภาพกายและใจของคนในประเทศย่ำแย่มาอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ บริษัท ไวซ์ไซท์ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทางวิชาการ จัดเวที "Thaihealth Watch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564 Rewind to the future มองเทรนด์สุขภาพ ฉายภาพพฤติกรรม ปรับให้พร้อม เพื่อก้าวไปต่อปี ’ 64" ชวนคนไทยมาดูทิศทางสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ทุกคนได้ย้อนมอง 6 ประเด็นวิกฤตโควิด-19 มาราธอนเขย่าพฤติกรรมสุขภาพคนไทย พร้อมทั้งคาดเดา 4 ประเด็นในสถานการณ์ที่น่าจับตาต่อเนื่องจากปี 2563

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า 6 ประเด็นสำคัญที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ได้แก่ 1.FAKE NEWS ข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ที่มีมากถึง 19,118 ข้อความ จนเกิดการจัดตั้ง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-Fake News และแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อตรวจสอบข่าว โคแฟค 2.ผู้ป่วย NCDs กลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคอุบัติใหม่ สำหรับผู้เป็นโรคอ้วนเสี่ยงจะเกิดอาการรุนแรงมากถึง 7 เท่า ส่วนผู้สูบบุหรี่ 1.5 เท่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ก็มีผลเช่นกัน ทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง 3.Digital Disruption พฤติกรรมคนเปลี่ยนในช่วงล็อกดาวน์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ เช่น การประชุมออนไลน์ 4. การออกกำลังกายวิถีใหม่ หลังช่วงล็อกดาวน์พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14 ชั่วโมง 32 นาทีต่อวัน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 8 ปี จนเกิดแอปพลิเคชันอย่าง "ไร้พุง" ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายในบ้านที่เหมาะสมกับทุกวัย 5. ภาวะเครียด ผลพวงทางเศรษฐกิจตกต่ำ การเยียวยาด้านสุขภาพจิตจึงเป็นปัจจัยสำคัญ 6. New Normal ชีวิตวิถีใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

"สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิด New Normal ที่มีการพูดถึงบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างมาก เช่น การใช้เจลล้างมือ, การเว้นระยะห่าง, การสวมหน้ากากอนามัย เรื่องสุขนิสัยและสุขอนามัย มีมากถึง 212,894 ครั้ง ทำให้เกิดเรื่องที่ดีอย่างตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 92 ทำให้เห็นว่าคนไทยตื่นตัวในการรักษาสุขอนามัยส่วนตัวและรับผิดชอบต่อส่วนรวม"

ส่วนสถานการณ์ที่น่าจับตาต่อเนื่องจากปี 2563 ดร.สุปรีดา เพิ่มเติมว่า มีอยู่ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ฝุ่นควัน อันตราย จาก PM2.5 พบสัญญาณการเสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจเกิด โรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะภาคเหนือ และกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ทั้งที่การสูบบุหรี่ของคนในภาคเหนือลดลง ความเสี่ยงส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหามลพิษทางอากาศ สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำชุดความรู้ข้อเสนอเชิงนโยบาย มาตรการ และแนวทางแก้ปัญหามลพิษทางอากาศเชิงระบบ ในรูปแบบ "ร่างกฎหมายอากาศเพื่อสุขภาพ" และงานวิชาการสมุดปกเขียวอากาศสะอาด 2.ขยะพลาสติก กลับมาในช่วงที่คนอยู่บ้านเพราะการล็อกดาวน์ จึงใช้บริการธุรกิจรับ-ส่งอาหาร เกิดขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 800 ตันต่อวัน ซึ่งสำคัญต่อสุขภาพ เพราะมีงานวิจัยพบการปนเปื้อนในระบบนิเวศ ทำให้บริโภคและหายใจนำไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายเฉลี่ยปีละ 50,000 อนุภาค 3.สุขภาพจิต ผลวิจัยความชุกของภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ในโรงเรียน 13 เขตพื้นที่บริการสุขภาพ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 2 ใน 3 มีภาวะซึมเศร้า และ4. ตามติดพฤติกรรมกินอยู่อย่างไทย คนเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า โดยในปี 2564 สหประชาชาติประกาศให้เป็น ปีแห่งผักผลไม้สากล จึงควรกระตุ้นให้คนไทยกินผักและผลไม้อย่างเพียงพอ

ด้านนายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ ประเทศไทย จำกัด เสริมในประเด็นการเจาะลึกพฤติกรรมสุขภาพคนไทย อะไรที่ไม่เหมือนเดิม ว่า พฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมากจากสถานการณ์ของโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องข่าวปลอม ที่มีการปฏิสัมพันธ์บนสื่อสังคมออนไลน์มากถึง 4 ล้านครั้งใน 7 เดือน โดยเฉพาะในช่วงก่อนการล็อกดาวน์จะสูงมาก โดยภาครัฐได้จัดการกับปัญหานี้ด้วยการนำเสนอข้อมูลจริงลงสื่อโซเชียล พร้อมกันนั้นยังมีเพจจากอินฟลูเอนเซอร์ ช่วยกันสื่อสารในข้อเท็จจริง ทำงานอย่างหนักในการจัดการข่าวปลอม นอกจากโควิดจะส่งผลต่อสุขภาพกายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ พบคนที่ตกงานในช่วงโควิดที่สื่อสารผ่านโซเชียลว่า มีภาวะซึมเศร้าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ข้อมูลต่าง ๆ หากภาครัฐและหน่วยงานนำข้อมูลมาวิเคราะห์ จะช่วยให้พบกับปัญหา และเตรียมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทุกคนในประเทศต่อไปได้

ขณะที่นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า Thaihealth Watch ได้เชื่อมโยงองค์ความรู้ใน 3 ส่วนเพื่อให้เกิดความตระหนักในการหันมาดูแลสุขภาพ ได้แก่ 1. สถานการณ์สุขภาพคนไทย จากสถิติสุขภาพ 10 ปี ย้อนหลังรายเขตสุขภาพ ระหว่างปี 2553–2562 เพื่อเห็นทิศทางหรือแนวโน้มภาระโรคที่เกิดขึ้น รวมถึงสถิติเชิงประเด็นที่เกี่ยวข้อง 2. กระแสความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ สะท้อนแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยในแต่ละประเด็น และ 3. ข้อแนะนำ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อตรวจสอบข่าว โคแฟค และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสังคม อาทิ ร่างกฎหมายอากาศเพื่อสุขภาพ ลดปัญหามลพิษทางอากาศ การสื่อสารทิศทางสุขภาพ 10 ประเด็นสุขภาพคนไทยจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ในปี 2564 ต่อไป

เมื่อเห็น 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย จะช่วยวางแนวทางการป้องกันและรับมือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในปี 2564 โดยเรียนรู้จากเรื่องราวสำคัญที่เกิดขึ้นตลอดปี 2563