ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตชูมาตรการวัคซีนชุมชน จัดการความเครียดทั้งแรงงานต่างด้าว และคนไทยจากกรณีโควิดระบาดรอบใหม่

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณพิมล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวการดูแลสุขภาพจิตกรณีโควิดระบาดรอบใหม่ ว่า สถานการณ์ตอนนี้จากการสำรวจภาวะเครียดต่อสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดรอบใหม่นั้นกว่าครึ่งยังเครียดปกติ มีบางส่วนที่เริ่มเครียดมากขึ้น จากการที่รับข้อมูลมากและไม่สามารถแยกได้ว่าอันไหนยังทำให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือกระทบกับชีวิต ซึ่งมากจากการที่รับข้อมูลหลายแหล่งและขดแย้งกันเอง ดังนั้นเวลาเกิดภาวะวิกฤติต้องใช้เวลาพอเหมาะในการรับข้อมูล และรู้ว่าข้อมูลต้องเชื่อมั่น จากประกาศทางการโดยศบค. กระทรวงสาธารณสุข ส่วนข้อมูลอื่นๆ ที่เผยแพร่มานั้นอาจจะยังไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด หากรับมาและเชื่อไปทั้งหมดก็ทำให้เกิดความเครียดและกังวลได้

ทั้งนี้ สัญญาณความเครียด คือ 1.เกิดความเหนื่อยล้าในการรับรู้ข่าวสาร 2.มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีข้อโต้เถียงกับบุคคลอื่นว่าข้อมูลใดเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง ดังนั้นการจัดการคือ 1.ใช้เวลารับรู้ข้อมูลข่าวสารที่พอเหมาะ หรือ ลดชั่วโมงการรับข่าว 2.ให้ยึดข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง 3.ปรับการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงนั้น เลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง สวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมืออยู่เป็นประจำ 4.พิจารณาความเสี่ยงของตนเองว่ามีมากน้อยอย่างไร เช่น ตนเองสวมหน้ากากอนามัยขณะเข้าพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อหรือไม่ เข้าไปในพื้นที่ชุมชนแออัดหรือไม่ เพื่อกังวลตามความเหมาะสม 5.ดูแลตัวเองด้านสุขภาพอนามัยให้ปลอดภัย และ 6.ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยการลดไปในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่มีความจำเป็น

“ส่วนความเครียดเนื่องจากบางพื้นที่ไม่ได้จัดกิจกรรมงานปีใหม่ นั้น หากเป็นการจัดกิจกรรมในกลุ่มคนที่มีความสนิทสนมกันก็สามารถจัดได้ แต่การอยู่กับตัวเองนั้นก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้เราได้มองชีวิตที่ผ่านมาและมองไปข้างหน้าเพื่อปรับตัว ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เราอาจจะต้องเริ่มมองชีวิตที่ไม่แน่นอนเพื่อเตรียมการเอาไว้ก่อน และขอให้ทุกคนรู้จักการป้องกันตัวเองที่ถูกต้อง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือและเว้นระยะห่างกับบุคคลอื่น” พญ.พรรณพิมล กล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า กรมสุขภาพจิตจะมีมาตรการเรื่องวัคซีนชุมชน เวลาที่มีผลกระทบอะไรต่างๆ เราต้องสร้างความรู้สึกที่จะดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งในส่วนของแรงงานข้ามชาติ นั้นมีการอยู่รวมกันเป็นชุมชนชัดเจน และใช้เครื่องมือนี้ลงไปทำงานผ่านระบบอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) โดยการประเมินความเครียด ความกังวลใจของกลุ่มแรงงานในพื้นที่และส่งข้อมูลมาที่ศูนย์สุขภาพจิตเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลส่งคืนกลับไปที่จังหวัดให้สามารถดำเนินการดูแลกลุ่มเป้าหมายได้ ขณะเดียวกัน ยังทำงานผ่านกลุ่มแกนนำแรงงานต่างด้าว ในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รับรู้ว่าจะใครกำลังจะเข้าไปทำอะไรกับเขา ซึ่งการรับรู้ข้อมูลจะทำให้แรงงานมีความสงบ

นอกจากนี้ ยังเปิดช่องทางให้ผู้นำแรงงานสามารถพูดคุยกันได้มากขึ้น เพราะตอนนี้เหมือนเขาอยู่กับที่ แต่ถ้ายังสามารถพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนรวมกันระหว่างเพื่อนร่วมชาติ จะเกิดการเชื่อมโยงความรู้สึกและช่วยลดความตึงเครียด และเราต้องทำให้เขามั่นใจว่ามีคนห่วงใยเขา ซึ่งขณะนี้แรงงานมาจะมากันพร้อมครัว มีเพื่อนที่สามารถเชื่อมโยงความห่วงใยกันอยู่แล้ว ก็อยากชวนคนไทยส่งความห่วงใยถึงแรงงานด้วย เพื่อทำให้คนที่รู้สึกว่าอยู่ในจุดอับที่สุดแล้วในตอนนี้ยังรู้สึกว่ามีคนเป็นห่วง เข้าใจ ไม่ใช่มีแต่คนเพ่งโทษ ความห่วงใยและการได้รับข้อมูลข่าวสารก็จะทำให้เขาสงบลง เวลาที่เขาสงบ และอยู่อย่างมีความรู้สึกผูกพัน และมีจุดที่เชื่อมโยงได้ สิ่งที่ตามมาคือความเข้าใจกติกาที่กำลังดำเนินการ และให้ความร่วมมือมากขึ้น เมื่อรวมมือกัน กลไกการควบคุมโรคที่ออกมาแบบนั้นก็จะมีเป้าหมายที่สำคัญคือคนไทย และแรงงานต่างด้าวมีความปลอดภัยกันทุกคน

“ส่วนเรื่องการตีตรานั้นต้องบอกว่า เราก็กลัว เขาก็กลัวเรา ดังนั้นทั้ง 2 ฝ่าย กลับมาที่หลักการในเข้าใจกัน และช่วยกันควบคุมป้องกันโรคน่าจะเป็นความปลอดภัยมากกว่าเราไปกดดันเขา ทำให้เขารู้สึกว่าแปลกแยก และเลยไม่อยากให้ความร่วมมือในการป้องกันโรค ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม ดังนั้นวันนี้เรากลัวโรค แต่อย่ากลัวคน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใคร ถ้าเรามีมาตรการในการที่ตัวเราเองดูแลตัวเอง ด้วยหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือให้ ยิ่งไม่ได้เข้าพื้นที่เสี่ยงก็อยู่ในความปลอดภัยอยู่แล้ว” พญ.พรรณพิมล กล่าว