ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางส่งเสริมสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ Product Champion เตรียมเสนอกรมสรรพสามิตยกเว้นภาษีในการนำเอทานอลมาใช้ในการสกัดสมุนไพร ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มการแข่งขัน พร้อมขับเคลื่อนเมืองสมุนไพร 3 ด้าน

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เพื่อติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนการส่งเสริมสมุนไพรไทย โดยมีปลัดกระทรวง ผู้บริหาร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สภาการแพทย์แผนไทย กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมการประชุม

นพ.โสภณ กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยสร้างสุขภาพ ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพร Product Champion 2 ชนิด คือ ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ โดยจะขอยกเว้นภาษีในการนำเอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอลมาใช้ในการสกัดสมุนไพร เพื่อลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ เพิ่มการแข่งขันกับต่างประเทศ และมอบให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ทำหนังสือถึงกรมสรรพสามิตเพื่อขอใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์สำหรับสุราสามทับที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งการพัฒนาสายพันธุ์และการเพาะปลูกฟ้าทะลายโจรเพื่อเพิ่มปริมาณสารสำคัญ ส่วนกระชายดำให้มีการจัดการปริมาณและพัฒนามาตรฐาน, เพิ่มมูลค่าโดยส่งออกในรูปสารสกัด และสื่อสาร สร้างภาพลักษณ์ให้เป็น Thai ginseng

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนเมืองสมุนไพร ในปี 2564-2565 เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานซึ่งแบ่งเป็น 3 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1.เกษตรกรวัตถุดิบสมุนไพร 5 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ สุรินทร์ มหาสารคาม อุทัยธานี และสกลนคร จะผลักดันเกษตรกรในเมืองสมุนไพรเข้าสู่ตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร ร่วมกับตลาดไทและกระทรวงเกษตรฯ พื้นที่ปลูกให้ได้มาตรฐาน พัฒนาวัตถุดิบคุณภาพ ปลอดสารกำจัดศัตรูพืช 2.อุตสาหกรรมสมุนไพร 4 จังหวัด คือ นครปฐม สระบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี พัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการตลาด อบรม/ส่งเสริมผู้ประกอบการในเมืองสมุนไพร และ3.ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพความงามและการแพทย์แผนไทย 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา ถ่ายทอดความรู้ เส้นทางท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์สมุนไพรกับมัคคุเทศก์ ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว โดยมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ เห็นชอบให้กำหนดพิกัดรหัสสถิติพิกัดศุลกากร เพื่อใช้ในการติดตามมูลค่าการนำเข้าและส่งออก เริ่มในสมุนไพร 5 รายการ ได้แก่ มะขามป้อมซึ่งมีมูลค่านำเข้ามาก และขมิ้นชัน ว่านหางจระเข้ หญ้าหวาน ซึ่งมีมูลค่าการใช้สูงในต่างประเทศ และบัวบกที่พบมีการนำเข้าสารสกัดจำนวนมากแต่ไม่ทราบมูลค่าแน่ชัด จะทำให้มีข้อมูลที่ชัดเจนในการวางแผนยุทธศาสตร์ในระยะต่อไป