ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย ร่วมกับกรมประมง นำกุ้งจากกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งหลายพื้นที่มาจำหน่ายที่ตลาดกรมอนามัย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายกุ้งได้ พร้อมย้ำกุ้งและอาหารทะเลยังกินได้ แต่ต้องปรุงให้สุกที่อุณหภูมิมากกว่า 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ร่วมกับกรมประมงนำกุ้งสดจากกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งจากหลายพื้นที่ทั้งในภาคกลางและภาคตะวันออก มาจำหน่ายให้กับข้าราชการและประชาชนทั่วไปที่ตลาดกรมอนามัย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยกุ้งนับเป็นอาหารทะเลที่ให้คุณค่าทางโภชนาการที่จำเป็นต่อร่างกายแต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากเป็นเนื้อกุ้งกุลาดำ 100 กรัม ให้พลังงาน 92 กิโลแคลอรี โปรตีน 20.1 กรัม ไขมัน 1.3 กรัม ฟอสฟอรัส 140 มิลลิกรัม ไนอะซิน 3.5 มิลลิกรัม และมีคอเลสเตอรอล 175 มิลลิกรัม ที่สำคัญไม่แนะนำให้กินดิบ เพราะตัวกุ้งอาจมีทั้งพยาธิและเชื้อแบคทีเรียทำให้ท้องเสียได้

สำหรับการปรุงประกอบอาหารทุกครั้ง ผู้สัมผัสอาหารต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนเตรียมปรุงประกอบและจำหน่ายอาหารทุกครั้ง และควรปรุงอาหารบนโต๊ะที่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร อาหารทะเลต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุง มีการแยกเก็บเป็นสัดส่วน หากเป็นเนื้อสัตว์ดิบต้องเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ส่วนอาหารทะเลประเภทกุ้ง ควรผ่านการปรุงสุกต้มเดือดด้วยความร้อนหรือไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป สำหรับอาหารที่ปรุงสำเร็จหรืออาหารที่พร้อมบริโภคห้ามใช้มือหยิบจับหรือสัมผัสอาหารโดยตรง ต้องใช้อุปกรณ์ที่สะอาดปลอดภัยในการหยิบจับอาหาร เช่น ทัพพี ที่คีบ เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรค

“สำหรับมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ระบาดใหม่ ในตลาดสดและร้านอาหาร กรมอนามัยมีแนวทางป้องกันดำเนินการใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 แนวทางปฏิบัติของผู้ประกอบกิจการ ต้องจัดให้มีระบบการคัดกรองพนักงานหรือผู้ให้บริการและผู้มาใช้บริการ หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ เหนื่อยหอบ หรือมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป งดให้บริการและไปพบแพทย์ กลุ่มที่ 2 แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสอาหารและผู้ปฏิบัติงานในร้านอาหาร ต้องมีการตรวจคัดกรองพนักงานในร้านทุกคนก่อนให้ปฏิบัติงาน ให้มีการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ถ้าหน้ากากเปียกชื้นหรือสกปรกควรเปลี่ยนใหม่ทันที ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสอาหารทุกครั้ง หลังออกจากห้องส้วม หลังสัมผัสสิ่งสกปรก ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการ โดยการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร มีระบบการสั่งซื้ออาหาร จองโต๊ะนั่งรับประทานอาหารล่วงหน้า การชำระเงินแบบออนไลน์ มีอุปกรณ์สำหรับรับเงิน เป็นต้น และกลุ่มที่ 3 แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ซื้อ/ผู้บริโภค ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเข้าไปในตลาดสด มีการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังการใช้บริการ รวมทั้งเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และในการเลือกซื้ออาหารสดไม่ควรใช้มือเปล่าหยิบจับโดยตรง ควรใส่ถุงมือหรือใช้ที่คีบที่ทางร้านเตรียมไว้ให้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรที่นำกุ้งหรืออาหารทะเลมาจำหน่ายได้ผ่านการตรวจตามมาตรการของกรมประมงก่อนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขนส่งกุ้งจากฟาร์ม การตรวจสุขภาพลูกจ้าง พ่อค้าแม่ค้าที่นำกุ้งมาจำหน่าย เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด 19 ในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ผลผลิตกุ้งทะเลจากฟาร์มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลจากพื้นที่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลทั่วประเทศจะถูกจำหน่ายไปยังโรงงานแปรรูป ร้อยละ 60 ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบ และเข้าสู่การซื้อขายที่ ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร ร้อยละ 40 โดยสินค้าบางส่วนคงค้างอยู่ในพื้นที่ตลาดก่อนการปิดกั้นพื้นที่

คาดการณ์ในเดือนธันวาคม 2563 มีปริมาณผลผลิตกุ้งทะเลเข้าสู่ตลาดประมาณ 18,000 ตัน เดือนมกราคม 2564 ประมาณ 17,000 ตัน และกุมภาพันธ์ 2564 ประมาณ 16,000 ตัน ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งได้รับความเดือดร้อนในการจำหน่ายกุ้งเป็นอย่างมาก จึงต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด้วยการระบายสินค้ากุ้งทะเลออกสู่ตลาดในช่วงเวลานี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง