ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เสนอ ศบค. ยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 หลังกระจาย 53 จว. คาดใช้เวลาดำเนินการ 4 สัปดาห์ เพราะหลักทางการแพทย์ฯ คือ ต้องใช้เวลา 2 เท่าของระยะฟักตัว ซึ่งเวลาดังกล่าวคาดควบคุมโรคได้ หากศบค.เห็นชอบเตรียมเดินหน้า 4 ม.ค. – 1 ก.พ. 64

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ว่า จากสถานการณ์การระบาดโควิดที่ผ่านมา ปัจจุบันข้อมูลถึงวันที่ 2 ม.ค. มีการกระจายไป 53 จังหวัด แต่อัตราการติดเชื้ออยู่ในแถบกทม. ระยอง สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฯลฯ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการไม่ให้มีการเคลื่อนที่มาก ซึ่งเคยให้ข้อแนะนำว่าไม่ควรเดินทางข้ามจังหวัด สำหรับพื้นที่สีแดงได้มีการยกระดับมาตรการขึ้น มีการปิดสถานประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะสถานบันเทิง ร้านอาหารให้นำซื้อกลับไป แต่ไม่ได้ห้ามเดินทาง โดยสัญจรเดินทางได้ แต่หากจะข้ามจังหวัดต้องมีมาตรการเคร่งครัดโซนสีเหลือง วางมาตรการไม่ให้โซนสีแดงไปโซนสีเหลืองได้ โดยสีเหลืองจะเป็นภาคเหนือเป็นหลัก โดยการเดินทางจะไม่คล่องตัว

“มาตรการนี้จะใช้ 4 สัปดาห์ ส่วนเรื่องทรัพยการทางการแพทย์นั้น ยืนยันว่ามีเพียงพอ เพราะมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่เริ่มมีระบาด โดยมีการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยเพื่อเตรียมยา และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ โดยมีในคงคลัง ทั้งส่วนภูมิภาค และส่วนกลาง โดยภูมิภาคสนับสนุนไปตามส่วนที่มีการระบาด อย่างหน้ากาก N95 เรามี 6 แสนกว่าชิ้น ในคงคลังมีกว่า 2 ล้านชิ้น และจะมีการซื้อเพิ่มเติม ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ มีอยู่ส่วนกลาง 472,400 เม็ด มีคงคลังภูมิภาค 62,390 เม็ด นอกจากนี้ เรายังคาดการณ์ว่า หากไทยมีผู้ป่วยยืนยันถึง 3 หมื่นคน หรือมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคถึง 9 แสนคนจะต้องใช้ทรัพยากรเท่าไหร่ ซึ่งเราก็มีการตั้งงบประมาณ และรัฐบาลได้ให้งบประมาณมาเรียบร้อยแล้วจำนวน 1,927,808,800 บาท ซึ่งจะนำมาจัดหายา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ปลัดสธ.กล่าวอีกว่า เมื่อได้งบประมาณเข้ามา จะให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดหา อาทิ หน้ากาก N95 500,000 ชิ้น Surgical Mask จำนวน 60,000,000 ชิ้น ยาฟาวิพิราเวียร์ 100,000 เม็ด เป็นต้น ทั้งหมดเป็นการสำรองจากการพยากรณ์โรคไว้ ส่วนเตียงก็เพียงพอมีกว่า 2 หมื่นเตียง ปัจจุบันใช้ไปพันกว่าเตียง ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้ในการเตรียมพร้อมตรงนี้ แต่เราก็ไม่ได้ประมาท ได้มีการติดตามตลอด และรัฐบาลก็สนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีมีผู้เสียชีวิตจากการระบาดระลอกใหม่ 4 คน อย่างรายแรกเป็นชายไทยอายุ 45 ปีที่รพ.ระยอง ปัจจัยเสี่ยงเป็นเบาหวาน หัวใจขาดเลือด พบประวัติเสี่ยงเป็นคนโบกรถที่บ่อนพนัน ส่วนรายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 70 ปี ติดเชื้อจากเมียนมา เสียชีวิตที่รพ.แม่สอด มีโรคหลอดเลือดสมอง รักษาโควิดดีขึ้นแล้ว แต่มีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิต ส่วนรายที่ 3 เป็นชายไทยอายุ 44 ปี เสียชีวิตที่รพ.จุฬาฯ ไม่มีโรคประจำตัว พบประวัติเสี่ยงไปสถานบันเทิงย่านปิ่นเกล้า กทม. รายนี้มีอาการมากแล้วจึงมารพ. และ รายที่ 4 เป็นหญิงอายุ 47 ปี เสียชีวิตก่อนถึงรพ.มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน พบประวัติเสี่ยงเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อจากบ่อนพนัน ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ท่านที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยง ผู้สูงอายุ โรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือดสมองหรือโรคเรื้อรังอื่นๆ กลุ่มนี้เวลาติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงหากสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ และเมื่อมีอาการขอให้พบแพทย์ทันที การไปรพ.ช้าเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้

“กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อหลายเขตที่มีการติดต่อสมุทรสาครและนครปฐม ซึ่งขณะนี้มีการควบคุมอย่างใกล้ชิด เป็นพื้นที่ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ขณะนี้เราพบผู้ติดเชื้อในคนไทยและสมาชิกในครอบครัว การระบาดในคนไทยเหมือนภูเขาน้ำแข็งมีพบประปราย สถานการณ์จึงมีการติดเชื้อเพิ่ม และคาดว่าจะมีการระบาดอย่างกว้างขวางเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการรุนแรงและรวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพในการควบคุมผู้ติดเชื้อ หลังจากเรามีปัญหาแรงงานต่างด้าว บ่อนพนัน สถานบันเทิงจนกระจายไป 53 จังหวัด และสิ่งสำคัญยังมีการระบาดครั้งใหม่ที่น่าจับตามอง คือ ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เพราะมีผู้ป่วยหนัก จึงต้องมีมาตรการเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ดังนั้น วันนี้สธ.เสนอไปทางศบค. ให้จำกัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง กรุงเทพ ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นที่แถบภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคใต้ ตรงนี้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือสีแดง ส่วนพื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชน นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี พังงา ตรงนี้เป็นพื้นที่กันชนเพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายออกไป ส่วน พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด 38 จังหวัด จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย โดยจะมีมาตรการแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

สำหรับมาตรการที่ยกระดับขึ้นมานั้น อย่างพื้นที่ควบคุมสูงสุด จะมีการจำกัดเวลาเปิดปิดสถานประกอบการ และปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหารติดเชื้อ มีคนรวมกันไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งมาตรการก็จะเป็นห้ามรับประทานในร้าน แต่ให้ซื้อไปกินที่บ้าน และขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด ยกเว้นจำเป็นจริงๆ เช่นบุคลากรทางการแพทย์ต้องไปทำงานข้ามจังหวัดก็ทำได้ หากไม่จำเป็นจะไม่อนุญาตให้เดินทางข้ามจังหวัด สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอน ให้ทำรูปแบบออนไลน์ เป็นต้น

“โดยห้วงเวลาในการดำเนินการจะใช้เวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งตามหลักทางการแพทย์และสาธารณสุขคือ 2 เท่าของระยะฟักตัวของโรค เราคาดว่าเป็นระยะที่เราจะควบคุมโรคได้ หากศบค.เห็นชอบก็จะกำหนดในช่วง วันที่ 4 ม.ค. – 1 ก.พ.2564 ส่วนพื้นที่สีส้มก็จะมีมาตรการแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมกับตนเอง อย่างพื้นที่ที่ติดกับพื้นที่สีแดงอาจใช้มาตรการเหมือนกันก็ได้ ส่วนพื้นที่สีเหลืองเฝ้าระวังสูงสุดจะลดหลั่นลงไป แต่มาตรฐานต้องระวังพื้นที่อย่างสูงสุด โดยจะมีการออกเป็นมาตรการต่างๆ ต่อไป” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจการใส่หน้ากากอนามัยล่าสุด คยไทยใส่เพิ่มมากขึ้น แต่อยู่ที่ 93.3% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ต้องการให้มีการใส่ 100% ขณะที่หากเป็นการใส่ขณะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะจะยิ่งต่ำลงอีกอยู่เพียง 73.4% เท่านั้น จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนในการใส่หน้ากากอนามัยให้ได้ 100%  ส่วนการเดินทางกลับหลังหยุดยาวช่วงปีใหม่นั้น ก่อนเดินทางขอให้สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการป่วย เช่น ไข้ ตัวร้อน เจ็บคอ ไอ ท้องเสียหรืออื่นๆ ให้ชะลอการเดินทาง ส่วนคนที่เดินทางแล้วให้มีอุปกรณ์คือ หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเตรียมไว้หลายชิ้น กระดาษทิชชู่ เจลแอลกอฮอล์ และยาประจำตัว ส่วนการปฏิบัติตัวป้องกันโควิด-19ระหว่างเดินทาง จะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ เว้นระยะห่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เลี่ยงการพูดคุยตะโกนเสียงดัง และเลี่ยงการสัมผัสบริเวณใบหน้า