ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอประสิทธิ์” เผย โควิดรอบนี้หนัก เบาหวาน-อ้วน-โรคหลอดเลือดหัวใจ คนมีโรคประจำตัวน่าห่วง ชี้ผู้เสียชีวิตไม่ใช่ปอดถูกทำลายสาเหตุเดียว แต่ตายจากไตวาย-เลือดไม่เลี้ยงแขนขา ย้ำไวรัสพัฒนาตัวเองพร้อมกลายพันธุ์เสมอ สสส. วอนคนไทยสร้างสุขภาพตนเองรับมือ 

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า การระบาดโควิด-19  ระลอกใหม่ รุนแรงกว่าและต่างจากรอบแรก ด้วยหลายปัจจัย ตั้งแต่จุดเริ่มในที่อโคจร การกระทำผิดกฎหมายลักลอบเข้าเมือง คนไม่ยอมเปิดเผยตัว สืบสวนต้นตอที่มาของโรคยาก ความรุนแรงของโรคจากการกลายพันธุ์ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ปอดทำงานไม่เต็มที่ เมื่อไวรัสจู่โจมระบบทางเดินหายใจ อาจทำลายปอด 10-20% จนปอดไม่พื้นกลับมา ได้แก่ 1. ผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆจะเสื่อมตามกาลเวลา 2. คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอด มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง แม้ปอดถูกทำลายเล็กน้อย ก็จะส่งผลต่อชีวิตอย่างมาก ร่างกายจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว 3. คนที่มีน้ำหนักมาก มีไขมันใต้ผิวหนัง หรือใต้ช่องท้องมาก รวมถึงผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มนี้เสี่ยงกับการหายใจที่ยากลำบากกว่าเดิม เพราะกระบังลมเคลื่อนไหวได้ยาก ทำให้ปอดทำงานได้น้อยลง

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวอีกว่า งานวิจัยพบเมื่อโควิด-19 เข้าไปในร่างกาย ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่สัปดาห์ที่ 2 หรือวันที่ 8 หลังรับเชื้อ เพื่อยับยั้งหรือช่วยไม่ให้เกิดโรค ถ้าภูมิคุ้มกันปกติ 2-3 สัปดาห์แรก จะทำงานเต็มที่จากนั้นค่อยๆ ลดลง จึงพบมีกลุ่มคนที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และหายได้เอง หากภูมิคุ้มกับไม่ปกติ เพราะมีโรคประจำตัว ที่ต้องใช้ยารักษาที่ไปกดภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลเองไม่ได้ เป็นโรคหลอดเลือด เม็ดเลือดขาวไม่สามารถจัดการเชื้อโรคได้ คนกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไม่เพียงปอดถูกทำลาย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิต เพราะไตวาย เลือดไม่ไปเลี้ยงแขนขา ความรุนแรงของเชื้อไปกระทบกับอวัยวะอื่นด้วย  ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงเสี่ยงมากขึ้นไปอีก  

“ธรรมชาติของไวรัสทุกชนิดไม่เฉพาะโควิด-19 มันจะปรับตัวหรือที่เรียกว่ากลายพันธุ์อยู่เสมอ อย่างในอังกฤษพบว่า เชื้อโควิด-19ติดต่อได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ดังนั้นต้องช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยง ที่จะกลายเป็นวิกฤต คือ 1.พบกับบุคคลเสี่ยง 2.อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 3.ร่วมกิจกรรมเสี่ยง 4.เข้าไปช่วงเวลาเสี่ยง คนไทยทุกคนต้องร่วมกันจัดการกับ 4 เสี่ยงนี้ เท่าที่จะทำได้ตามปัจจัยและเงื่อนไขชีวิตตนเอง ไม่ต้องรอให้รัฐออกมาตรการ ไม่จำเป็นต้องให้มีการบังคับ นี่คือสิ่งที่เราจะช่วยปกป้องชีวิตของตัวเองและคนที่เรารัก” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non communicable diseases) อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไต หัวใจ เส้นเลือดอุดตัน และมะเร็ง มีความเสี่ยงโควิด-19  รุนแรงต่อโรคมากกว่าคนทั่วไปถึง  5  เท่า โดยผู้ป่วยเบาหวานในไทยมีถึง 4.8 ล้านคน และข้อมูลจาก UNIATF  (United Nations Inter Agency Task Force Mission to Thailand on Noncommunicable Disease)  รายงานว่า ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรงของโควิด-19  ถึง  7  เท่า ขณะที่ของเด็กและเยาวชนมีปัญหาน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นถึง 13.1% ผู้ที่สูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงถึง 1.5 เท่า และการดื่มสุราส่งผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน ในการต่อสู้กับไวรัสต่ำลง แม้จะดื่มหนักเพียงครั้งเดียว เราจึงควรดูแลสุขภาพอยู่เสมอ เพราะร่างกายที่ดีจะเป็นต้นทุนสำคัญ เพื่อต่อสู้กับทุกโรคไม่เฉพาะโควิด -19 และยกระดับการป้องกันตนเอง คนรอบข้าง และกลุ่มเสี่ยง โดยใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่ให้ตนเองกลายเป็นบุคคลเสี่ยงเสียเอง เปรียบเสมือนเรากำลังสร้างวัคซีนทางพฤติกรรมป้องกันการติดเชื้อ ทั้งในขณะที่วัคซีนฉีดยังไม่มา หรือแม้กระทั่งมีวัคซีนกันแล้ว พฤติกรรมเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคเหล่านี้ก็ควรจะต้องยังปฏิบัติคู่ขนานไปต่อเนื่องไปด้วย