ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบแผนการให้วัคซีนโควิด-19 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีนพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน  

 

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 11 ม.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการให้วัคซีนโควิด-19 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีนพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน  ซึ่งยืนยันว่ารัฐให้ความสำคัญในการจัดบริการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยกับประชาชน นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา2019 จากน้ำลายและการตรวจแบบรวมตัวอย่าง (pooled sample)ในการดำเนินการได้ จะทำให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณจากการตรวจวิธีนี้ได้ ประหยัดงบประมาณและทำให้การควบคุมโรคได้รวดเร็วขึ้น 

       

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์การตรวจของประเทศไทยเปลี่ยนไปมาก ขณะนี้มีผู้ต้องการตรวจมากทั้งเพื่อการควบคุมโรคและการค้นหาเชิงรุกในโรงงานเพื่อสร้างความมั่นในให้กับประชาชน ที่ประชุมจึงเห็นว่าจะต้องมีการปรับการตรวจ ให้เร็วขึ้น ครอบคลุมขึ้น  สะดวกขึ้นและประหยัดมากขึ้น จึงเห็นว่ายังใช้วิธีการSWABหรือเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากหลังโพรงจมูกเพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCRเป็นหลัก แต่กรณีที่จะใช้วิธีการอื่น เช่น การตรวจจากน้ำลายแล้วนำมาตรวจด้วยวิธีRT-PCRได้ จะทำให้ตรวจได้เร็วขึ้น เพราะสามารถเก็บตัวอย่างได้จากน้ำลายได้เอง และมีข้อมูลสนับสนุนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยต่างๆว่าการตรวจด้วยการเก็บตัวอย่สงจากน้ำลาย ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการเก็บตัวอย่างด้วยการSWAB ระดับ 90 %ขึ้นไป นอกจากนี้ การตรวจเชิงรุกจำนวนมากๆในเวลาอันรวดเร็ว เช่น การค้นหาผู้ป่วยในโรงงาน ซึ่งการจะทำได้รวดเร็วคือการตรวจเป็นกลุ่ม หรือ pooled sample 

“เมื่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นำไปพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละจังหวัด  แม้ว่าไม่ใช่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถพิจารณาใช้วิธีการนี้ในการตรวจได้ เพราะบางจังหวัดอาจจะมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่จำนวนมาก เป็นต้น”นพ.โอภาสกล่าว 

         

นพ.โสภณ  กล่าวว่า  คณะอนุกรรมการฯจะเป็นการนำเป้าหมายตามแผนการให้วัคซีนของประเทศไทย มาจัดทำแนวทางในการฉีดวัคซีนให้บรรลุตามเป้าหมายภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งอนุฯจะมีการประชุมในวันที่ 15 ม.ค.นี้  อย่างไรก็ตาม การให้วัคซีนนั้นเป็นการป้องกันภายใน เมื่อฉีดแล้วหากได้รับเชื้อร่างกายจะมีสิ่งเข้าไปต่อสู้ แต่การป้องกันภายนอก ไม่ให้เชื้อเข้าร่างกายยังมีความสำคัญด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆและเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 

ด้าน นพ.สุรพล โล่ห์สิริวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า รพ.เอกชนพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ต้องให้รัฐบาลดำเนินการให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยงตามเป้าหมายก่อน ซึ่งภาคเอกชนจะนำเข้าวัคซีนได้จะต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ไทยก่อนเท่านั้น