ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

     นอกจากข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ถูกแชร์บนสื่อโซเชียลมีเดียอยู่จำนวนมากแล้ว คลิปเสียงถือเป็นอีกหนึ่งข่าวปลอมที่ถูกนำมาเผยแพร่หลอกลวงมากที่สุดด้วยเช่นกัน

 

     ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โครงการโคแฟค หรือ Collaborative Fact Checking (Cofact) ได้รับข้อมูลให้ตรวจสอบการเผยแพร่คลิปเสียงผ่านโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ มากมาย อาทิคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แจ้งวิธีปฏิบัติตัวในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบไปยังคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ 

 

     จากกรณีการส่งต่อคลิปเสียง และข้อความโดยมีเนื้อหาว่า คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แจ้งวิธีการปฏิบัติตัวในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ และดื่มน้ำมะนาว หรือน้ำขิง เพื่อล้างเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เเละถูกนำมาเผยแพร่ ส่งต่ออีกครั้งเมื่อมีการระบาดรอบใหม่ เป็นการสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนรวมถึงข้อเเนะนำดังกล่าวก็เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

 

     ก่อนหน้านี้ 11 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ก็เคยมีการเผยแพร่และแชร์คลิปเสียงรายงานสถานการณ์ จ.เชียงราย อ้างว่ามีผู้ติดเชื้อ โควิด-19 แล้ว 500-600 ราย ซึ่งทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

 

     นอกจากนี้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ก็เคยมีคลิปที่อ้างว่าเป็นคลิปเสียงสนทนาของนักพนัน อ้างพบผู้ติดเชื้อในฝั่งกัมพูชานับหมื่นคน ขณะที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสอบถามเจ้าหน้าที่กัมพูชาแล้วยืนยันไม่ใช่เรื่องจริง

 

     7 ธ.ค. 2563 พ.ต.อ.ภัคพงศ์ สายอุบล รองผบก.ตม. 1 ในฐานะรองโฆษก สตม. เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจาก พ.ต อ.อาทิตย์ ยาแก้ว ผกก.ตม.จว.สระแก้ว ว่าวันนี้ปรากฏคลิปเสียงแชร์ส่งต่อกันในหลายกลุ่ม กล่าวอ้างว่ามีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศกัมพูชาเป็นหมื่นคน หนักกว่าทางประเทศเมียนมา ทาง ตม.สระแก้ว ได้ประสานกับทางกงสุลกัมพูชาประจำประเทศไทย ได้ข้อมูลว่าข้อมูลในคลิปเสียงดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน ไม่เป็นความจริง

 

     ย้อนกลับไป 9 มี.ค. 2563 ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 กำลังเข้ามาระบาดในประเทศไทย มีคลิปเสียง อ้างโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี ระบุมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 หลายราย แต่รัฐปิดข่าว

     

     คลิปเสียงนี้ยังอ้างความน่าเชื่อถือด้วยว่า “ไม่ใช่ข่าวปลอม” เนื่องจากรู้จากคนในพื้นที่ “โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจ.อุดรธานี มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 หลายราย แต่ปิดข่าวเอาไว้ โอกาสกระจายไปจังหวัดรอบๆมีสูงมาก” โดยต่อมาทางโรงพยาบาลดังกล่าวได้ออกมาจากชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่พบผู้ติดเชื้อ หรือมีผู้ป่วยติดเชื้อฯเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล และทางโรงพยาบาลมีการเตรียมความพร้อมทุกๆ ด้านในการดูแลผู้ป่วย มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

 

     ส่วนเรื่องที่บอกว่ารัฐปิดข่าว ทางกระทรวงสาธารณสุข ขอย้ำว่าไม่มีนโยบายการปิดข่าว ปิดบังข้อมูลแต่อย่างใด มีแต่สั่งให้ทุกหน่วยงานช่วยกันตรวจสอบ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก และได้รับรู้สถานการณ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย และวิธีการป้องกันตนเองอย่างถูกต้อง

 

ซึ่งแม้ว่าจะมีการขอความร่วมมือไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลคลิปปลอมต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แต่คลิปเสียงปลอมเหล่านี้ก็ยังถูกทำขึ้นมาเพื่อสร้างความตระหนกให้กับประชาชนอยู่บ่อยครั้ง

 

     ดังนั้น คลิปเสียงปลอมจึงเป็นข่าวปลอมที่ถูกแชร์ตามสื่อออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้รับสาร

 

หมายเหตุ : ภาพโดย OpenClipart-Vectors จาก Pixabay