ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“วิฑูรย์ เลี่ยนจํารูญ” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย เผยโควิดปิดตลาด แต่กลับเข้าร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า เลือกปฏิบัติ ชี้ตลาดสดตลาดนัดมีความหลากหลายทางอาหารมากกว่า ถูกกว่าถึง 4 เท่า วอนรัฐบาลมุ่งรักษาตลาดแหล่งปากท้องชาวบ้าน ฟื้นตลาดให้กลับมาเปิดใหม่และเร่งออกมาตรการช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้า

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 64 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจํารูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลสั่งปิดตลาดสดตลาดนัด กว่า 68 แห่ง รวม32 จังหวัด แม้จะกลับมาเปิดใหม่ 31แห่งนั้น ถือเป็นเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร กระทบคนจำนวนมาก 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้า 2.ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในตลาด 3.กลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้ารายย่อยอื่นๆ 4.ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหาร เพราะตลาดเป็นทั้งพื้นที่ทางเศรษฐกิจและพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของคนจำนวนมาก

“การปิดตลาดส่งผลกระทบต่อคนเล็กคนน้อย ที่ไม่ได้มีรายได้มากมายอะไร อีกทั้งกระทบต่อความหลากหลายทางด้านอาหาร เช่น ผักผลไม้ ที่ถูกกว่าร้านสะดวกซื้อหรือห้าง ถึง 4 เท่า ทั้งมีความหลากหลายมากกว่า ขณะเดียวกันมีประชาชนจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์มาตรการของรัฐที่มีแนวปฏิบัติที่ลักลั่น ไม่เท่าเทียม สองมาตรฐานในทางเศรษฐกิจและอำนาจ ระหว่างตลาดกับร้านสะดวกซื้อ เช่น 4 จังหวัดสั่งปิดตลาดนัด ขณะที่ร้านสะดวกซื้อเปิดได้ตามปกติ เกิดคำถามตามมามากมายว่า เพราะตลาดมีพื้นที่อากาศถ่ายเทเมื่อเทียบกับร้านสะดวกซื้อ ที่มีสภาพอยู่ในอาคารปิด ดังที่บุคคลากรทางการแพทย์ด้านทางเดินหายใจระบุว่า ตลาดมีความเสี่ยงแพร่เชื้อน้อยกว่าพื้นที่ปิด10เท่า อีกทั้งการแสดงไทม์ไลน์ระเอียดยิบของตลาด แต่พอเกี่ยวข้องกับร้านสะดวกซื้อกลับไม่ปรากฎในไทม์ไลน์ ซึ่งหากปิดข้อมูลอยู่แบบนี้ ในที่สุดจะกลายเป็นแหล่งสะสมโรคแพร่เชื้อได้ เป็นการใช้อำนาจอุ้มผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่าผลกระทบของคนส่วนใหญ่” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า การปิดตลาดสดตลาดนัดควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย สิ่งที่รัฐควรทำมากที่สุดคือสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัย มีมาตรการเชิงรุกต่างๆ คือ 1. สร้างการมีส่วนร่วมทุกระดับ ทั้งระดับส่วนกลางศบค.ผู้ประกอบการ ตลาด ผู้บริโภค ระดับพื้นที่จังหวัด เพื่อให้เกิดการตัดสินใจโดยใช้กลไกมาตรการร่วมกัน 2.การกำหนดมาตรฐานและเงื่อนไขต่างๆในการบริหารจัดการต้องไม่ลักลั่น ต้องมีฐานอ้างอิงที่ชัดเจนว่าปิดหรือไม่ปิดเพราะอะไร 3.ควรมีการทำแผนจัดการลดความเสี่ยง กำหนดข้อตกลง โดยให้ทางตลาดเสนอแผนเพื่อพิจารณาเป็นหลักประกันร่วมกัน ซึ่งมันจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการสั่งปิดอย่างเดียว 4.รัฐต้องทำงานเชิงรุก สถานการณ์วิกฤตแบบนี้ควรส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมตลาด รถเร่ ให้คนเข้าถึงโดยไม่ต้องเดินทาง ไม่ใช่มาปิดหนทางทำกิน เพราะมันจะขยายความเหลื่อมล้ำซ้ำเติมยิ่งขึ้นไปอีก และรัฐควรจัดสรรงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาช่วยคนเล็กคนน้อยในเรื่องนี้ อีกทั้งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของสุขอนามัยต่างๆในพื้นที่ตลาดให้มากขึ้น

ด้านนายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน กล่าวว่า จากข้อมูลของไบโอไทยที่พบว่า ตลาดจำนวนมากถูกสั่งปิดตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ที่สำคัญคือบางพื้นที่ขาดความชัดเจนว่า เมื่อปิดแล้วต้องดำเนินการอย่างไร จะได้กลับมาเปิดขายอีกเมื่อไหร่ เนื่องจากตลาดเป็นวิถี ชีวิตที่ผูกพันกับความเป็นอยู่ของประชาชน มีผู้คนที่เกี่ยวข้องในระบบตลาดสด ตลาดนัดจำนวนมาก ช่วงโควิดรอบแรกเครือข่ายฯได้ทำงานกับตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ได้รับความร่วมมือพอสมควร มีการปรับตัว จำกัดทางเข้าออกคัดกรอง กำหนดจุดล้างมือ ส่วนที่ยังเป็นปัญหา คือการเว้นระยะห่าง ซึ่งตอนระบาดครั้งแรก มีคำสั่งปิดตลาดในส่วนของการค้าขายเสื้อผ้า ของใช้ ทำให้คนกลุ่มนี้ลำบากไม่มีรายได้ แต่มาครั้งนี้ ไม่มีคำสั่งปิดตลาดส่วนของเสื้อผ้าของใช้เหมือนครั้งแรก แต่จะเข้มงวดการค้าขายในตลาดสดตลาดนัดมากขึ้น

“ในหลายพื้นที่เมื่อพบผู้ป่วยก็มีคำสั่งปิด ทำความสะอาดพื้นที่ฆ่าเชื้อ กำหนดวันห้ามใช้บริการและกลับมาเปิดได้ในเวลาไม่นาน เช่น ธนาคาร สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า แต่ทำไมตลาดสด ตลาดนัดกลับสั่งปิดยาว สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนความเหลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติ ต้องเข้าใจว่าคนค้าขายชาวบ้านรากหญ้าเขาไม่ได้มีสายป่านที่ยาวเหมือนธุรกิจใหญ่ ดังนั้นรัฐต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน รวดเร็วและรัดกุม มีการชดเชยช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ และฟื้นตลาด ฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาค้าขายได้ตามปกติ มิใช่คิดได้แค่ปิด เพราะเมื่อใดที่ตลาดปิด ผลประโยชน์จะตกอยู่กับทุนใหญ่ คนซื้อแห่เข้าร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นทุนใหญ่ทั้งสิ้น ทั้งนี้เชื่อว่าพ่อค้าแม่ค้าผู้บริโภค และคนที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะเข้มงวดตัวเอง คือสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และบริหารจัดการใช้เวลาในตลาดให้น้อยที่สุด ที่สำคัญเจ้าของตลาดต้องจัดให้มีการล้างฆ่าเชื้อ กำหนดจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิ ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน สิ่งสำคัญคือความชัดเจนของภาครัฐและการช่วยเหลือเยียวยา” นายชูวิทย์ กล่าว