ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชุมกก.วัคซีนแห่งชาติ เผยแผนการจัดหาวัคซีน 3 ระยะ ด้าน “อนุทิน” เผยวัคซีน 5 หมื่นโดสจากแอสตราฯ เข้าไทยก.พ. แต่ยังไม่ชัดเริ่มฉีด 14 ก.พ.หรือไม่ เหตุมีเรื่องการขนส่ง เบื้องต้นฉีดวัคซีน 4 กลุ่ม แต่ตั้งเป้าปี 64 ต้องกระจายให้คนไทยทุกคน

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/ 2564 ว่า แผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในส่วนของล็อตแรกที่จะเข้ามา 50,000 โดสจากบริษัทแอสตราเซเนกาในเดือน ก.พ.นั้น ขึ้นอยู่กับเรื่องของมาตรการการขนส่งด้วย และเนื่องจากขณะนี้ ทางอียูจะมีการจำกัดส่งออกออกวัคซีน ดังนั้นต้องดูว่าล็อตที่จะเข้ามานี้ถูกรวมอยู่ด้วยหรือไม่ หากรวมอยู่ด้วยก็ให้ทางบริษัทไปต่อสู้ให้ แต่ถึงอย่างไรก็จะเข้ามาภายในเดือนก.พ.นี้ แต่ไม่ได้ระบุว่าเข็มแรกจะทันวันที่ 14 ก.พ.หรือไม่

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ขอยืนยันว่าไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของคณะทำงานจัดหาและฉีดวัคซีนเด็ดขาด ไม่มีมาแทรกแซงว่าเอาไปฉีดให้พื้นที่นั้น พื้นที่นี้ก่อนทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักการแพทย์ โดยทยอยฉีดวัคซีนตามแผนให้ทุกคนในผืนแผนดินไทย เพื่อเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดภัย ปลอดโรค อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ฉีดวัคซีนแล้วประชาชนยังต้องคงมาตรการควบคุมป้องกันโรคส่วนบุคคล คือสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ซึ่งถือเป็นวัคซีนส่วนตัวที่มีประสิทธิภาพ

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 กล่าวว่า วัคซีนจะให้กับกลุ่มดังนี้ 1.บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2. ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ไตเรื้อรังระยะสุดท้ายขึ้นไป โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งที่ให้เคมีบำบัด รังสีรักษา หรือภูคุ้มกันบำบัด และเบาหวาน และเพิ่มโรคอ้วนที่มีดัชนีมวลกาย 35กก.ต่อตารางเมตร ทั้งนี้ ที่เพิ่มกลุ่มคนอ้วนเข้าไป เพราะในระยะหลังคนที่มีอาการรุนแรงในต่างประเทศพบในคนอ้วนมากขึ้น ซึ่งโดยธรรมชาติคนอ้วนจะมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว ดังนั้นจึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย 3.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4. บุคลากรด่านหน้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 อาทิ ตำรวจ ทหาร อสม.คนที่ทำงานในรพ.

นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อได้รับวัคซีนแล้วจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้หรือไม่นั้นตัดสินได้ยาก เพราะวัคซีนป้องกันการป่วย อาการรุนแรง ยังไม่มีรายงานป้องกันการแพร่เชื้อได้ ดังนั้นจะเอามาตัดสินเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ได้ แต่ประเทศไทยมีแผนว่าภายในปี 2564 จะกระจายวัคซีนให้กับคนไทยและทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย โดยขณะนี้ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำแผนสื่อสาร สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ทั้งในแง่ของความปลอดภัย ประสิทธิภาพ คุณภาพในระดับที่เรายอมรับ เพราะการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19นั้นเป็นการให้แบบสมัครใจ

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แผนการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ทั้งแรงงานต่างด้าวสัญชาติต่างๆ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาถึงเรื่องงบประมาณเช่นเดียวกัน เพราะกรณีคนไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพตามสิทธิอยู่แล้ว ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายนั้นก็ไม่มีปัญหาเพราะมีงบประมาณจากประกันสังคม ประกันสุขภาพรองรับอยู่ แต่ที่ยังมีปัญหาอยู่คือแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ตรงนี้ก็คงเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรคที่ต้องดูแล ซึ่งอาจจะต้องของบประมาณกลางเพิ่ม แต่เรื่องนี้คิดว่าควรต้องให้นายจ้างเป็นคนรีบผิดชอบหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนการให้วัคซีนมี 3 ระยะ โดยระยะแรกคือ วัคซีนยังมีปริมาณจำกัด จำเป็นต้องให้วัคซีนโควิดแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่อยู่ด่านหน้า ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ระยะที่ 2 คือ ช่วงที่วัคซีนเพิ่มขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่นอกเหนือจากด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อโควิด และผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมาก เช่น เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการสาธารณะ เจ้าหน้าที่โรงแรม มัคคุเทศก์ เจ้าหน้าที่ของแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งผู้มีโอกาสสัมผัสผู้เดินทางต่างประเทศ เช่นลูกเรือ นักการทูต ผู้เดินทาง เป็นต้น และ ระยะที่ 3 เป็นช่วงที่วัคซีนมีปริมาณเพียงพอ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภุมิคุ้มกันในระดับประชากร และฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วไป