ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คณะอาจารย์-ผู้เชี่ยวชาญศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาฯ ร่วมเรียบเรียงข้อมูลให้ความรู้ถึงวิธีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคโควิด19 ในห้องเรียนและที่ประชุม

 

ลักษณะห้อง :ในกรณีที่ปิดแอร์เปิดหน้าต่างได้

-แนะนำให้ปิดแอร์เปิดหน้าต่าง และ ใช้พัดลมเพื่อช่วยระบายอากาศและความร้อน ถ้าเปิดหน้าต่างได้ทั้ง 2 ฝั่งแนะนำให้เปิดทั้ง 2 ฝั่ง ถ้ามีหน้าต่างด้านเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายอากาศและระบายความร้อนแนะนำให้ตั้งพัดลมไว้ใกล้ชิดกับหน้าต่าง ดังรูป 1 (ไม่แนะนำให้ใช้พัดลมพัดให้ส่ายไปมาเพราะอาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อได้) แสดงลูกศรชี้พัดลม

-นักเรียนทุกคนรวมทั้งครูจะต้องสวมใส่หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เรียน ครูที่สอนเวลาพูดไม่ควรดึงหน้ากากลงมาอยู่ใต้คาง

-การนั่งเรียนควรนั่งห่างกัน อย่างน้อย 1-2 เมตร (พื้นที่อย่างน้อย 1 ตารางเมตรต่อ 1 คน) และแนะนำให้หันหน้าไปด้านเดียวกันทุกคน ตามรูปที่ 1 และกากะบาดที่ห้ามนั่ง

รูป 1 แสดงการวางตำแหน่งของพัดลมที่ถูกต้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของการเปิดหน้าต่าง1

A. จุดตั้งแอลกอลฮอล์เจลล้างมือใกล้บริเวณที่ครูยืนสอน

B. ประตูทางเข้าควรเปิดไว้เพื่อเพิ่มการระบายอากาศภายในห้องและหลีกเลี่ยงการสัมผัสลูกบิดประตู

C. ป้ายรณรงค์การลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

D. จุดตั้งแอลกอลฮอล์เจลล้างมือใกล้ประตูทางเข้า

E. ทุกที่นั่งควรห่างกันอย่างน้อย 6 ฟุต และควรหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

F. ลูกศรชี้เส้นทางเดินบนพื้น เพื่อหลีกเลี่ยงให้นักเรียนต้องเดินสวนกันไปมาและเว้นระยะห่างระหว่างคน

G. ห้องเก็บอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดห้องเรียน

H. ช่องเก็บของใช้ส่วนตัวและควรมีป้ายชื่อติดเพื่อให้วางตำแหน่งเดิมเป็นประจำทุกวัน

I. หน้าต่างควรเปิดไว้เพื่อเพิ่มการระบายอากาศภายในห้อง

J. พื้นที่สำหรับโต๊ะคุณครู มีเส้นลูกศรสีเขียวแบ่งพื้นที่ และควรมีแผ่นพลาสติก/อะคริลิกกั้นวางบนโต๊ะ

ลักษณะห้อง : ในกรณีที่ไม่สามารถปิดแอร์ได้และห้องเป็นระบบปิดแต่มีหน้าต่าง

- นักเรียนทุกคนรวมทั้งครูจะต้องสวมใส่หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เรียน ครูที่สอนเวลาพูดไม่ควรดึงหน้ากากลงมาอยู่ใต้คาง

- ถ้าเป็นไปได้การนั่งเรียนควรนั่งห่างกัน อย่างน้อย 2 เมตร (พื้นที่อย่างน้อย 4 ตารางเมตรต่อ 1 คน)

- ระหว่างช่วงพัก ให้ปิดแอร์และเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้ดีขึ้น

- แต่อย่างไรก็ตามการปิดแอร์เปิดหน้าต่างเป็นพัก ๆ ทุก 1-2 ชั่วโมงเพื่อการระบายอากาศในทางปฏิบัติอาจทำได้ยากจึงแนะนำให้ติดพัดลมดูดอากาศเพิ่มดังที่จะกล่าวถึงในกรณีถัดไป

ห้องเรียนที่เป็นระบบปิดที่ไม่สามารถเปิดหน้าต่างได้เลย

ให้พิจารณาติดพัดลมดูดอากาศในห้องเรียนทุกห้องโดยการติดตั้งสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบดังนี้ (ดังรูป)

แบบที่ 1 เพิ่มการระบายอากาศด้วยการติดพัดลมดูดอากาศออก และ พัดลมดูดอากาศเข้า (ที่เรียกว่า Push-pull ventilation system)2 ดังรูป 2 เพื่อเพิ่มการระบายอากาศภายในห้อง โดยพัดลมดูดอากาศขาเข้า แนะนำให้มีการติดแผงกรองอากาศชนิด pre-filter หรือ medium-filter โดยติดตั้งระบบให้สามารถ ดูดอากาศเข้า และ ดูดอากาศออกโดยอัตโนมัติทุก 1-2 ชั่วโมง/ครั้งละ 5-10 นาทีเป็นต้น โดยการติดตั้งพัดลมดูดอากาศเข้าและดูดอากาศออกไม่จำเป็นต้องอยู่ด้านตรงข้ามกัน

ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งวิธีนี้จะประมาณต้องรอปรึกษาทีมวิศวะ???

แบบที่ 2 ในกรณีที่เร่งด่วน ไม่สามารถจัดหาแผงกรองอากาศติดกับพัดลมที่ดูดอากาศเข้า ก็สามารถใช้พัดลมดูดอากาศได้ตามปกติ (รูปที่) แต่การไม่มีแผงกรองอากาศขาเข้าอาจมีผลกระทบจากฝุ่นที่อาจเข้ามาในห้องได้บ้าง ส่วนระบบเปิดปิดโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่สามารถจัดหาได้ ให้ใช้วิธีเปิดปิดเองตามปกติอย่างน้อยทุก 1-2 ชั่วโมง แต่ก็อาจจะไม่สะดวกและอาจเกิดการผิดพลาดในเวลาการเปิดและปิดได้

ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งวิธีนี้จะประมาณ???

แบบที่ 3 ติดพัดลมดูดอากาศออกเพียงอย่างเดียว เพื่อเพิ่มการระบายอากาศ (รูปที่ ) แต่วิธีนี้การระบายอากาศอาจจะไม่ดีเท่า 2 วิธีแรก แต่ก็ดีกว่าการไม่ติดพัดลมดูดอากาศออกเพิ่ม

ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งวิธีนี้จะประมาณ??

*หมายเหตุ: โดยปกติห้องเรียนหรือห้องอาหารที่ติดแอร์ปิดประตูปิดหน้าต่าง จะถูกออกแบบให้มีการระบายอากาศเพียงประมาณ 2-4 air change per hour (ACH) ซึ่งการติดพัดลมดูดอากาศเพิ่มจะเป็นการเพิ่มการระบายอากาศ อาจเพิ่มเป็น 6 หรือ 8 ACH ขึ้นอยู่กับ ขนาดของพัดลม จำนวนของพัดลม และปริมาตรห้อง ซึ่งสามารถคำนวณได้ ดังตัวอย่างตามแสดงในส่วนล่าง การติดตั้งพัดลมดูดอากาศที่ใหญ่เกินไปแม้จะเป็นการเพิ่มการหมุนเวียนอากาศให้ได้เพิ่มมากขึ้นเชื้อที่ล่องลอยอยู่ในอากาศอาจถูกกำจัดได้ไวขึ้น ตามตารางที 1 แต่ถ้ามากเกินไปก็อาจมีผลกระทบทำให้ห้องร้อนขึ้นและเสียงพัดลมจะดังขึ้นดังนั้น การกำหนดให้เปิดปิดเป็นเวลา (เทียบเคียงคล้ายกับการเปิดหน้าต่าง) ไม่ต้องเปิดตลอดก็อาจจะเป็นการช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้ ตามคำแนะนำโดยทั่วไปห้องที่มีผู้ป่วยติดเชื้อที่แพร่ทางเดินหายใจกำหนดให้ห้องมีการหมุนเวียนอากาศมากกว่า 12 ACH เพื่อให้เชื้อหมดออกจากในห้อง 99% ใช้เวลาเพียง 23 นาที ส่วนห้องเรียนและสถานประกอบการณ์ไม่ได้ถือว่าเป็นพื้นที่จุดเสี่ยงสูงมากเหมือนห้องติดเชื้อที่จะจำเป็นต้องสูงถึง 12 ACH

ห้องรับประทานอาหาร ต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด

- ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้นักเรียนนั่งรับประทานอาหารภายในห้องเรียน เป็นที่นั่งเฉพาะส่วนบุคคลและควรมีแผ่นพลาสติก/อะคริลิค กั้นระหว่างคน ในกรณีที่ห้องเรียนจัดเป็นโต๊ะกลมให้นั่งเป็นกลุ่มๆ ดังรูป 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันในจำนวนคนหมู่มากมารวมตัวกันที่ห้องอาหาร เนื่องด้วยในขณะที่มีการรับประทานอาหารนักเรียนทุกคนจะต้องเปิดหน้ากากอนามัยและงดเว้นการพูดคุยกันคงเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติที่จะสามารถทำได้ 100%

- อาหารแนะนำให้จัดเป็นอาหารกล่องบรรจุแจกให้เฉพาะส่วนบุคคล ตั้งไว้บนโต๊ะที่นั่งเรียนเฉพาะบุคคล หลีกเลี่ยงการเดินตักอาหารที่เป็นลักษณะการต่อแถว

- ใส่หน้ากากตลอดในระหว่างที่รออาหารจะสามารถถอดหน้ากากได้เฉพาะตอนรับประทานอาหารและสวมใส่หน้ากากหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ

- ถ้าเป็นไปได้ควรงดเว้นการพูดคุยในระหว่างที่รับประทานอาหาร จะพูดคุยได้หลังจากที่สวมใส่หน้ากากแล้วเท่านั้น

- ถ้ามีการไอจาม ในระหว่างรับประมานอาหาร ต้องปิดปากทุกครั้ง

A.จุดตั้งแอลกอลฮอล์เจลล้างมือใกล้บริเวณที่ครูยืนสอน

B. ประตูทางเข้าควรเปิดไว้เพื่อเพิ่มการระบายอากาศภายในห้องและหลีกเลี่ยงการสัมผัสลูกบิดประตู

C. ป้ายรณรงค์การลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

D. จุดตั้งแอลกอลฮอล์เจลล้างมือใกล้ประตูทางเข้า

E. ถ้าไม่สามารถจัดให้นักเรียนหันหน้าไปด้านเดียวกัน จำเป็นต้องนั่งเป็นกลุ่ม จะต้องมีการจัดวาง ที่กั้นพลาสติก/อะคริลิก เพื่อป้องการ การไอและจามรดกัน

F. ลูกศรชี้เส้นทางเดินบนพื้น เพื่อหลีกเลี่ยงให้นักเรียนต้องเดินสวนกันไปมาและเว้นระยะห่างระหว่างคน

G. ห้องเก็บอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดห้องเรียน

H. ช่องเก็บของใช้ส่วนตัวและควรมีป้ายชื่อติดเพื่อให้วางตำแหน่งเดิมเป็นประจำทุกวัน

I. หน้าต่างควรเปิดไว้เพื่อเพิ่มการระบายอากาศภายในห้อง

J. พื้นที่สำหรับโต๊ะคุณครู มีเส้นลูกศรสีเขียวแบ่งพื้นที่ และควรมีแผ่นพลาสติก/อะคริลิกกั้นวางบนโต๊ะ

ห้องรับประทานอาหารกลางวัน (ในกรณีที่ปิดแอร์เปิดหน้าต่างได้ หรือเป็น open air)

1.การนั่งรับประทานควรนั่งห่างกัน อย่างน้อย 1-2 เมตร (พื้นที่อย่างน้อย 1 ตารางเมตรต่อ 1 คน)

2.ควรมีแผ่นพลาสติกกั้นระหว่างคนในระหว่างที่รับประทานอาหารในกรณีที่ไม่สามารถนั่งห่างกันเกิน 1-2 เมตร

3.ถ้าไม่สามารถเว้นระยะห่างได้แนะนำให้มี กล่องพลาสติก หรือ อะคริลิก ตั้งไว้เฉพาะบุคคล กั้นไว้ระหว่างคน

ห้องรับประทานอาหารกลางวัน (ในกรณีที่ไม่สามารถปิดแอร์เปิดหน้าต่างได้และสามารถรับประทานในห้องเรียนได้)

1.การนั่งรับประทานควรนั่งห่างกัน อย่างน้อย 2 เมตร (พื้นที่อย่างน้อย 4 ตารางเมตรต่อ 1 คน)

2.ควรมีแผ่นพลาสติกกั้นระหว่างคนในระหว่างที่รับประทานอาหาร

3.แนะนำให้ติดตั้งพัดลมดูดอากาศดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น

การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมให้บ่อยครั้งอย่างน้อย ทุก 2 ชั่วโมง เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได คีย์บอร์ด เป็นต้น (น้ำเปล่าผสมน้ำสบู่/ผงซักฟอก หรือ น้ำยาทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่ไม่ทำลายต่อพื้นผิว)4 ดังแสดงในตาราง 2

ห้องส้วม

-ทำความสะอาดห้องน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำยาที่ใช้ทั่วไปหรือที่เรียกว่า น้ำยาฟอกขาว หรืออาจใช้ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ดังในตาราง

-ควรตรวจสภาพพัดลมดูดอากาศให้สามารถเปิดใช้งานได้ตลอดในช่วงที่โรงเรียนเปิด

-ถ้าเป็นห้องส้วมที่ติดเครื่องปรับอากาศให้ปิดเครื่องปรับอากาศ ไม่แนะนำให้เปิดแอร์ ให้เปิดหน้าต่าง หรือ อาจพิจารณาติดพัดลมดูดอากาศเพิ่มตามความเหมาะสม

การใช้ รังสี Ultraviolet C (UVC)5 ในโรงเรียนมีประโยชน์หรือไม่ ?

Ultraviolet เป็นที่ทราบกันดีว่า UVC สามารถทำลายเชื้อโรคได้ในอากาศและบนพื้นผิวสัมผัสต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม การติดตั้ง UV หรือให้ UV ทำงานควรจะเปิดในกรณีที่ไม่มีคนอยู่ในห้องเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผิวหนังและดวงตา และ ระยะห่างรวมถึงระยะเวลาที่ UV สัมผัสกับเชื้อ (contact time) ก็เป็นสิ่งสำคัญ ประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อจะลดลงทุกๆ 1 เมตรที่ห่างออกไป และจะต้องมีเวลาที่เชื้อจะต้องโดนรังสี UV เป็นระยะเวลานาน 5 นาทีถึงจะสามารถทำลายเชื้อได้ อีกทั้งยังต้องทำในบริเวณพื้นที่ที่เป็นระบบปิด ถ้าเป็นระบบเปิด พื้นที่โล่งการระบายอากาศดีอยู่แล้ว การนำ UV มาใช้จะไม่มีประโยชน์ในแง่การฆ่าเชื้อที่ล่องลอยในอากาศ ในพื้นที่ที่กว้างการทำลายเชื้อโดยการใช้วิธีเช็ดถูด้วยให้ครบทุกพื้นผิวสัมผัสร่วมให้บ่อยครั้งน่าจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกว่า ส่วนการฆ่าเชื้อโรคที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ เนื่องจากโรค COVID-19 การแพร่เชื้อที่สำคัญเป็นการแพร่แบบ droplet (จากการพูดคุย ไอ แล้วมีสารคัดหลั่งปนเปื้อนเชื้อในระยะ 1-2 เมตร) และ contact (ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนเชื้อที่มือ ของใช้ สิ่งแวดล้อม) เป็นหลัก การแพร่แบบ airborne (การแพร่เชื้อที่กระจายในอากาศไกลเกินกว่า 2 เมตร) มีในเฉพาะบางโอกาสเท่านั้น เช่น การตะโกน จาม ร้องเพลงดังๆ แล้วบุคคลนั้นไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยและอยู่ในสถานที่แออัดการระบายอากาศไม่ดี หรือ การทำหัตถการในโรงพยาบาลบางอย่างทางการแพทย์ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การกดหน้าอกเพื่อช่วยฟื้นคืนชีพ การใช้ UV ก็อาจสามารถทำลายเชื้อที่ล่องลอยอยู่ในอากาศได้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ UV จำเป็นต้องใช้ทำลายเชื้อในขณะที่ไม่มีคนอยู่และถ้าห้องขนาดใหญ่ การติดตั้ง UV ต้องใช้หลอดจำนวนมากในการติดตั้ง มีการคำนวณปริมาตรห้องและต้องติดตั้งอย่างถูกวิธี มีการวัดปริมาณรังสี UV ให้เหมาะสมไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป การติดตั้ง UV เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ถือว่าเป็นตัวช่วยเสริม ในการลดปริมาณเชื้อลงได้แต่ต้องเข้าใจและติดตั้งอย่างถูกวิธีตลอดจนการดูแลรักษาหลอด UV ไม่ให้มีฝุ่นเกาะเป็นประจำ และที่สำคัญควรเน้นปรับปรุงการระบายอากาศภายในห้อง การสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดของทุกๆคน เน้นการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และ ความถี่ในการเช็ดพื้นผิวสัมผัสร่วมกันให้บ่อยครั้งและทั่วถึงน่าจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

การใช้เครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนที่ชนิด High-efficiency particulate air (HEPA) filter (portable HEPA filter) ในโรงเรียน มีที่ใช้หรือไม่?

ตามคำแนะนำของ Centers of Disease Control and Prevention ประเทศ สหรัฐอเมริกา อาจพิจารณาให้นำมาใช้ได้ในโรงเรียน เฉพาะบริเวณพื้นที่ที่มีความเสียงสูงและไม่สามารถปรับปรุงการระบายอากาศได้ เช่น บริเวณห้องปฐมพยาบาล ห้องแยกโรคนักเรียนที่มีอาการ หรือ มีอาการทางเดินหายใจ1 เนื่องจากราคาสูงการนำมาใช้กับทุกห้องอาจจะไม่คุ้มค่า และ มีให้เลือกหลายขนาดขึ้นอยู่กับพื้นที่ห้อง ถ้าพื้นที่ห้องขนาดใหญ่เลือกเครื่องที่ไม่เหมาะสมกับขนาดห้อง ประโยชน์ของการนำมาใช้ประสิทธิภาพจะลดลง

ส่วนสถานประกอบการที่อื่นๆ เช่น ร้านอาหาร เป็นต้น สามารถนำมาตรการเรื่องการระบายอากาศมาปรับใช้ตามความเหมาะสมแล้วแต่พิจารณา แนะนำว่าควรมีมาตรการการระบายอากาศ พร้อมกับให้วิศวะกร หรือ สถาปนิกมาช่วยประเมินร่วมกัน และควรเน้นการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดของทุกๆคน เน้นการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และ ความถี่ในการเช็ดพื้นผิวสัมผัสร่วมกันให้บ่อยครั้งและทั่วถึงน่าจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

***********************

เอกสารอ้างอิง

  1. Centers of Disease Control and Prevention (CDC). HOW DO I SET UP MY CLASSROOM? A quick guide for teachers. [cite 2021 Jan 22].  Available from:

file:///E:/COVID%20and%20school/How_Do_I_Set_Up_My_Classroom.pdf

  1. Robert Hughes. An Overview of Push—Pull Ventilation Characteristics. Applied Occupational and Environmental Hygiene 1990.
  2. Morbidity and Mortality Weekly Report. Guidelines for Preventing the Transmission of Mycobacterium tuberculosis in Health-Care Settings, 2005. [cite 2021 Jan 26].  Available from:

http://www.msdbangkok.go.th/KM/MMWR%20%20TB.pdf

  1. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พศ. 2563. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ คิว แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด; 2563
  2. Zero TB initiative. Guide to using germicidal UV. [cite 2021 Jan 23].  Available from:

https://static1.squarespace.com/static/5797394c579fb38c6e1ecdb4/t/5b2bf562f950b7b9a3bd6570/1529607522697/GUV+Guide_18.4.18_Final.pdf

 

เขียนและเรียบเรียงโดย นพ.กำพล สุวรรณพิมลกุล, พญ.ปัทมา ต.วรพานิช, พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล, พญ. เลลานี ไพฑูรย์พงษ์, นพ. โอภาส พุทธเจริญ และ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฬา ศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Email: sgompol@gmail.com โทรศัพท์: 02-256-4578