ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีศิริราชฯ เปิดสถานการณ์ฉีดวัคซีนทั่วโลกรวม 100 ล้านโดส ฉีดแล้วราว 46 ล้านคน พบหลังฉีดวัคซีนสหรัฐ-สหราชอาณาจักร ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลด แต่ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตยังต้องติดตาม ทั้งหมดยังต้องติดตามข้อมูลต่อเนื่อง  ส่วนข้อมูลผลข้างเคียงพบไม่รุนแรง  ขณะที่ไทย แม้ได้วัคซีนก็ต้องปฏิบัติมาตรการตามเดิม

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ของโลก หลังมีการฉีดวัคซีน และข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ Mahidol Channel ว่า

ภาพรวมสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด19 ณ วันที่ 30 ม.ค.2564 ข้อมูลการฉีดต่อประชากร 100 คนโดยสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรฉีดวัคซีนจำนวนมาก ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั้งยุโรปและเอเชีย โดยขณะนี้สหรัฐฉีดมากที่สุดจำนวนเกือบ 28 ล้านเข็มหรือโดส ตามมาด้วยประเทศจีน 23 ล้านโดส สหราชอาณาจักรเกือบ 9 ล้านโดส ส่วนอิสราเอลเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่แต่ฉีดต่อประชากร 100 คนสูงที่สุด โดยฉีดไปแล้ว 4.66 ล้านเข็ม รวมทั้งหมดทั่วโลกฉีดไปแล้ว 90 ล้านโดส ข้อมูลนี้ถึงวันที่ 30 ม.ค. แต่ข้อมูลล่าสุดถึงเช้าวันนี้(2 ก.พ.) ฉีดไปแล้วกว่า 100 ล้านโดสแล้ว

ขณะที่ประชากรที่ฉีดในสหรัฐฉีดไปแล้ว 23 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 328 ล้านคน(ข้อมูลปี 2021) คิดเป็นอัตราการฉีดไปเกือบ 7% ส่วนสหราชอาณาจักรฉีดไป 8.38 ล้านคนจากประชากร66.65 ล้านคน(ข้อมูลปี 2021) ฉีดไปในอัตรา 12.57% ส่วนอิสราเอลฉีดไป 2.97 ล้านคน จากประชากร 8.88ล้านคน(ข้อมูล ปี 2021) ฉีดไปในอัตรา 33.44% โดยรวมทั่วโลกฉีดไปแล้วประมาณ 45 ล้านคน ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 ม.ค.2564 แต่ ณ วันนี้น่าจะถึง 46 ล้านคนแล้ว

“ตอนนี้ที่ฉีดไปกว่า 46 ล้านคน ฉีดไปกว่า 100 ล้านโดส มีการรวบรวมผลข้างเคียงจากช่วงระยะเวลาหนึ่งจากการติดตามหลักการฉีดวัคซีน โดยติดตามผลข้างเคียงหรืออันตรายที่เกิดขึ้น และติดตามประสิทธิผลของวัคซีน โดยกรณีผลข้างเคียงนั้น ที่มีรายงานออกมาส่วนใหญ่อาการข้างเคียงไม่รุนแรง และหายเองภายใน 1-2 วันหรือทานยาเล็กน้อย เช่น อาการปวด บวม แดงหรือบริเวณที่ฉีดวัคซีน ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น ปวดข้อ ซึ่งอาการเหล่านี้ในวัคซีนประเภทใดก็มีโอกาสเจอ ส่วนผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงเสียชีวิตพบน้อยมาก ซึ่งช่วงต้นๆของการฉีดวัคซีนก็มีรายงานว่ามีคนเสียชีวิต เมื่อมีการสอบสวนก็พบว่าไม่ได้เกี่ยวพันกับวัคซีนโดยตรง ซึ่งการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

สำหรับการฉีดวัคซีนชนิด mRNA เป็นเทคโนโลยีที่ต้องฉีด 2 เข็ม โดยเข็มแรก ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ต่อมาฉีดเข็มที่ 2 แต่ภูมิคุ้มกันจะขึ้นเต็มที่ต้องรอไปอีก 1 สัปดาห์ ดังนั้น ภูมิคุ้มกันจะค่อยๆพัฒนาขึ้น ไม่ใช่ฉีดเข็มแรกจะขึ้นเลย

ทั้งนี้ ในส่วนประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนโควิดจากทั่วโลกนั้น เมื่อพิจารณาข้อมูล 7 วันสุดท้าย เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 -31 ม.ค.2564 จำนวนผู้ป่วยต่อวันขึ้น และหลังจากนั้นก็เริ่มลง แต่อัตราการเสียชีวิตยังขึ้น แม้ความชันจะน้อยลง ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์การฉีดวัคซีนเริ่มวันที่ 8 ธ.ค.2563 ที่อังกฤษ หลังจาก 1 เดือนให้หลังก็ดูเหมือนลดลง โดยอัตราเสียชีวิตลดลงไม่ชัด แต่ความชันเริ่มน้อยลง

อย่างไรก็ตาม สำหรับสหรัฐฉีดวัคซีนครั้งแรก 14 ธ.ค.2563 โดยฉีดชนิด mRNA ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันตั้งแต่วันที่ 25-31 ม.ค.64 พบติดเชื้อเฉลี่ย 1.5 แสน -1.7 แสนคนต่อวัน จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ประมาณ 3-4 พันคนต่อวัน แต่หากย้อนกลับไปไกลอีกตั้งแต่วันที่ 6 -17 ม.ค.2564 ตัวเลขติดเชื้อตั้งแต่ 2-3 แสนต่อวัน แต่หากเทียบตัวเลขตั้งแต่วันที่ 25-31 ม.ค. ติดเชื้อต่อวันไม่ถึง 2 แสนราย ซึ่งถือว่าลดลง แต่อัตราการเสียชีวิตอาจยังไม่ชัดมาก แต่มีแนวโน้มเริ่มลดลง

ส่วนอีกประเทศน่าสนใจมาก คือ สหราชอาณาจักร ที่เคยมีข่าวว่ามีสายพันธุ์ที่ทำให้แพร่ระบาดรวดเร็ว และเป็นประเทศแรกที่นำวัคซีนมาฉีดประเทศแรก โดยตัวเลขตั้งแต่วันที่ 25-31 ม.ค. ตัวเลขติดเชื้ออยู่ประมาณ 2.2 หมื่น – 2.5 หมื่นรายต่อวัน แต่ก่อนหน้านี้ก่อนที่วัคซีนจะได้ผล โดยตั้งแต่วันที่ 6-17 ม.ค. พบการติดเชื้อ 4-5 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งช่วงต้นม.ค. วัคซีนอาจยังไม่ออกฤทธิ์มากนัก ส่วนอัตราการเสียชีวิตก็เริ่มลดลง แต่กรณีนี้ยังไม่อยากสรุปเรื่องลดอัตราเสียชีวิต เพราะต้องรอข้อมูลชัดกว่านี้ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะลดลงเช่นกัน

“ยังไม่สามารถบอกได้ว่าทุกประเทศอัตราติดเชื้อจะลดลง ต้องติดตามมากขึ้น อย่างเยอรมนี เริ่มฉีดครั้งแรกปลายเดือน ธ.ค. 2563 ซึ่งก็ยังสรุปตัวเลขลดลงของผู้ติดเชื้อไม่ได้ เพราะบางครั้งอาจลดลงด้วยตัวมันเอง ฝรั่งเศส ซึ่งประเทศเหล่านี้ จนถึงตอนนี้มีการฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด อย่างอิสราเอล กำลังจะสรุปผลการฉีด โดยขณะนี้ฉีดไปแล้วเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรของเขา ซึ่งต้องรอการรายงานอย่างเป็นทางการก่อน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในสหรัฐมีการสอบถามประชากรต่อการฉีดวัคซีน โดยสำรวจเมื่อวันที่ 30 พ.ย.-8 ธ.ค.2563 พบว่าคน 15% ไม่ฉีดวัคซีนแน่นอน มี 9% บอกว่าหากจำเป็นก็ฉีด และมี 39% จะฉีดแต่ขอรอดูก่อนว่าปลอดภัยจริงหรือไม่ ส่วนอีก 34% บอกว่าถ้าวัคซีนมาจะฉีดทันที แต่เมื่อสำรวจเดือน 11-18 ม.ค.2564 พบว่าคนตอบรับฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยขณะนี้มี 6% ที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว

“ตัวเลขที่ชัดเจนว่า ต้องฉีดวัคซีนโควิดในประชากรกี่คน ถึงจะทำให้เกิดการสร้างภูมิฯ และตัวเชื้อหายไป ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่คาดการณ์กันประมาณ 60-70% ส่วนขณะนี้วัคซีนยังไม่เข้ามา สิ่งสำคัญขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการเดิม คือ สวมหน้ากากอนามัย/ผ้า หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการที่อยู่ในที่คนชุมนุมเยอะๆ เว้นระยะห่าง และเมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องปฏิบัติตามเดิมจนกว่าจะมีข้อมูลยืนยันว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพเพียงพอ” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช กล่าว

 

นอกจากนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังเปิดเผยถึงแนวทางเกี่ยวกับการบริหารจัดการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ

- ประเทศต่างๆ มักใช้วัคซีนมากกว่า 1 ประเภท/แบรนด์ เช่น อังกฤษ ใช้ทั้งของPfizer , Moderna , AstraZeneca โดยไม่มีการเลือกใช้

- จุดประสงค์หลักการฉีดวัคซีนไม่ได้เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ แต่เน้นลดการแพร่ระบาด และลดความรุนแรง และลดการเสียชีวิต ซึ่งก็ต้องไปดูว่ากลุ่มใดเสี่ยงรับเชื้อแล้วมีความรุนแรง อย่างกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยงรับเชื้อ เช่นบุคลากรทางการแพทย์ จึงกำหนดให้กลุ่มเหล่านี้ฉีดก่อน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การฉีดวัคซีนเป็นหลัก

- ภูมิคุ้มกันต่อเชื้ออาจเกิดได้ตามธรรมชาติ แต่คาดไม่ได้ว่าเมื่อติดเชื้อจะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย หรือมีอาการมากจนเสียชีวิต

- การประเมินผลภายหลังการฉีดวัคซีนว่าป้องกันโรคได้หรือไม่ ต้องใช้เวลา จึงจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ทำความสะอาดมือ

ความจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน

- การเลือกวัคซีนไม่จำเป็นต้องเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงใกล้ 100% เพราะโดยทั่วไปไม่น้อยกว่า 50-60% ก็สามารถใช้ได้ แต่ต้องไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย

- ปัจจัยสำคัญในการเลือกวัคซีน คือ ความปลอดภัย

- การบริหารจัดการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ เป็นอีกหนึ่งข้อพิจารณาที่สำคัญในการเลือก ที่สำคัญเรายังต้องใช้วัคซีนประจำตัว ซึ่งมีประสิทธิภาพมาก คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ซึ่งยังจำเป็นต้องปฏิบัติเช่นเดิม