ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ทรงคุณวุฒิกก.โรคติดต่อฯ เผย 3 ปท. อังกฤษ บราซิล และแอฟริกาใต้ มีข้อมูลเชื้อกลายพันธุ์ หวั่นกระทบประสิทธิภาพวัคซีน ขณะที่ทีมวิชาการเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ปูพรมฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกคนไทยทุกคน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้วกว่า 100 ล้านโดส ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรปอเมริกา มีอยู่ 3 ตัวคือไฟเซอร์ โมเดิร์นนา และแอสตราเซนเนกา ซึ่งในส่วนของประเทศไทยแอสตราเซนเนกา ได้ขึ้นทะเบียนในไทยแล้วตั้งแต่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนฉุกเฉินต้องไม่ย่อหย่อนในเรื่องของความปลอดภัย และเรื่องคุณภาพ อีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เป็นวัคซีนที่ผลิตในแถบเอเชีย มีหลายประเทศที่ร่วมวิจัย เช่นอินโดนีเซีย จีน บราซิล อินเดีย สรุปว่าวัคซีนที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้เป้าหมายหลักคือการลดการเจ็บป่วย และลดการเสียชีวิตและลดการแพร่เชื้อเพราะเมื่อไม่ป่วยก็ลดการแพร่เชื้อหรือแพร่เชื้อน้อยลง ดังนั้นประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้

ข้อมูลล่าสุดเพิ่งได้รับมาเมื่อ 1-2 วันนี้ในอิสราเอลมีการฉีดในประชากร 55% พบว่าลดอัตราการป่วยได้ 30% แต่ถ้ามองกลับมาที่ไทยการฉีดแล้วจะเห็นผลลดอัตราป่วยได้มากขนาดนี้คงยากเพราะไทยมีอัตราการติดเชื้อต่ำมากเมื่อเทียบกับอิสราเอล ในขณะที่ประชากรไทยมากกว่าถึง 10 เท่า แต่ถึงอย่างไรก็จำเป็นต้องฉีดเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ส่วนเรื่องผลข้างเคียงเรื่องบวม แดง ร้อน หลังฉีดพบได้ อย่างของแอสตร้าฯ พบปวด บวม แดง ร้อน 70% แต่เทียบกับการฉีดน้ำเกลือพบผลข้างเคียงเหล่านี้ 50 % ส่วนใหญ่พบในคนอายุน้อยกว่า 65 ปี ส่วนผลข้างเคียงรุนแรง เช่นไข้ สูงจนเกรงว่าจะกระทบกับสมองก็พบที่ 0.7% ขณะที่การฉีดน้ำเกลือก็พบได้ 0.8%

อย่างไรก็ตาม หากมีผลกระทบมากเช่นพิการ หรือ เสียชีวิตรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเท่าที่ติดตามรายงานการทดสอบของแอสตราฯ ที่ใช้ในหลายประเทศยังไม่มีผลข้างเคียงมาก ส่วนที่พบผลข้างเคียงมาก คือไฟเซอร์ ที่ฉีดในอเมริกา พบช็อกไม่รู้สึกตัว 11 ต่อ 1 ล้านโดส ส่วนโมเดิร์นนาพบที่ 3.7 ต่อ 1 ล้านโดส ที่น่าสนใจ คือ กว่า 95% เกิดขึ้นในผู้หญิง และ95% เกิดขึ้น 15 นาทีหลังฉีดนี้จึงเป็นที่มาว่าหลังฉีดแล้วจะต้องให้อยู่ที่รพ.หรือหน่วยบริการน้ำอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงเพื่อดูผลข้างเคียง ส่วนของซิโนแวคที่เป็นวัคซีนเชื้อตายนั้นผลข้างเคียงน้อย แต่เราต้องขอข้อมูลการใช้วัคซีนดังกล่าวในหลายๆ ประเทศด้วย ซึ่งอาการช็อกแบบรุนแรงเรียกว่า แอนาฟาแล็กติกช็อก (Anaphylatic shock)

“ตอนนี้เราก็เตรียมพร้อมระบบเอาไว้ วัคซีนมาเมื่อไหร่ หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ก็น่าจะฉีดได้ ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน อาจจะยืดหยุ่นนิดหน่อย อย่างที่ขอจากแอสตราฯ มาก่อน 50,000 โดส โดยนำเข้ามาจากยุโรปนั้น ขณะนี้สหราชอาณาจักรกับยุโรปมีประเด็นไม่ค่อยลงรอยกันในเรื่องของการฉีดวัคซีน ก็ไม่รู้ว่าเราจะโดนหางเลขไปด้วยหรือไม่ ก็คงต้องจับตามองต่อไป อย่างไรก็ตามก็ต้องพยายามมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวต่อว่า ส่วนข้อสงสัยว่าจะต้องฉีดวัคซีนใหม่ทุกปีหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่ข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอด โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 -2 ก.พ.นี้ ที่อเมริกามีการฉีดปูพรม 1 เข็มก่อน พบว่าป้องกันได้ 50-80% โดยถ้าเป็นวัคซีน 1 เข็มของโมเดิร์นนา ได้ผล 80% ส่วน1 เข็มของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันได้ 70% ไฟเซอร์ 50% ส่วนเข็มที่ 2 พร้อมเมื่อไหร่ค่อยฉีด

“ แต่ล่าสุดพบว่ามีปัญหาใหญ่คือเชื้อกลายพันธุ์ใน 3 ประเทศ คือ อังกฤษ บราซิล และแอฟริกาใต้ ซึ่งจากที่มีการทดสอบวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอนห์สันในอเมริกาพบประสิทธิภาพ 72% ขณะที่การทดสอบในแอฟริกาใต้ มีประสิทธิภาพ 57% ผลต่างกันถึง 15 % ซึ่งช่วงทดลองในแอฟริกาใต้นั้นกว่า 95% เป็นเชื้อที่กลายพันธุ์แล้ว ดังนั้นเชื้อกลายพันธุ์กำลังก่อปัญหาทำให้การตอบสนองต่อวัคซีนลดลง ส่วนการศึกษาของนาโนแวคในอังกฤษที่มีเชื้อกลายพันธุ์พบว่าได้ผล 90% -ขณะที่ผลการทดลองในแอฟริกาใต้ได้ผลแค่ 60% ผลต่างกันของเชื้อกลายพันธุ์ของ 2 ประเทศนี้ต่างกันถึง 30% ดังนั้นเรื่องเชื้อกลายพันธุ์จึงกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจับตา” ผู้ทรงคุณวุฒิฯ กล่าว

ส่วนในไทยเมื่อประมาณ 1 เดือนก่อน ที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์จากอังกฤษมากับครอบครัวชาวอังกฤษ แต่อยู่ในสถานที่กักกันจึงไม่ได้ออกมาสู่ด้านนอก ดังนั้นจะเห็นว่าเชื้อกลายพันธุ์ในประเทศไทยเท่าที่ดูจากข้อมูลยังไม่ก่อปัญหา แต่อาจจะมีการก่อปัญหาในประเทศที่มีการระบาดหนักๆ ซึ่งในประเทศที่มีการปูพรมฉีดเข็มแรกให้ประชากรไปก่อนก็เพราะเหตุนี้ เพราะถ้าอีกระยะหนึ่งเจอชื้อกลายพันธุ์อาจจะต้องเปลี่ยนการให้วัคซีนเข็ม 2 ใหม่ ซึ่งขณะนี้ทั้งไฟเซอร์ และโมเดิร์นนา อยู่ระหว่างการนำเลือดที่มีภูมิคุ้มกันของคนที่ศึกษาวิจัย ไปทดสอบกับเชื้อในอเมริกาพบว่ายังสามารถจัดการได้

เมื่อถามว่าในส่วนของวัคซีนแอสตราฯ มีการศึกษากับเชื้อกลายพันธุ์แล้วหรือยัง รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า เนื่องจากการทดลองของแอสตราฯ ที่ทำในอังกฤษเป็นช่วงที่เชื้อยังไม่กลายพันธุ์ แต่ขณะนี้ทางแอสตราฯ อยู่ระหว่างนำเลือดที่มีภูมิคุ้มกันของผู้ที่ร่วมการวิจัย มาจับกับเชื้อกลายพันธุ์ว่าจะมีประสิทธิภาพแตกต่างหรือไม่ ถ้าแตกต่างก็จะมีปัญหาได้ จึงต้องติดตามใกล้ชิด

เมื่อถามว่าถ้าเช่นนั้นประเทศไทยต้องปรับเรื่องการให้วัคซีนใหม่หรือไม่ เช่น กรณีที่จะผลิตในประเทศราว 26 ล้านโดสนั้นต้องใช้เป็นเข็มแรกทั้งหมดหรือไม่ รศ. (พิศษ) นพ. ทวี กล่าวว่า เรื่องนี้ทีมวิชาการได้เสนอไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติแล้ว ในเรื่องของการปูพรมฉีดเข็มแรกไปก่อน เพราะถึงอย่างไรผลวัคซีนของแอสตร้าถ้าฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม เชื้อที่พบในประเทศไทยตอนนี้เป็นเชื้อที่มาจากเมียนมานานแล้ว ยังเป็นโครงสร้างเก่า เพราะฉะนั้นปัญหาเชื้อดื้อต่อวัคซีนยังไม่เป็นปัญหาในประเทศไทย