ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมปัญหาโควิดในแรงงานต่างด้าวจังหวัดสมุทรสาคร
วัตถุประสงค์ของข้อเสนอ
ข้อเสนอนี้มีเพื่อเป็นจุดตั้งต้นให้นักวิชาการและสาธารณะเห็นความสำคัญของปัญหาและระดมความคิดเพิ่มเติม โดยหน่วยราชการและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด (ศบค) อาจได้ประโยชน์ในการต่อยอดจากสิ่งดี ๆ ที่กำลังทำข้อมูลและความเห็นเบื้องต้นในเอกสารนี้อาจไม่สมบูรณ์ คณะผู้จัดทำคาดหวังว่าจะได้รับการปรับปรุงให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้นจากทุกท่านที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมา
เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 จากการตรวจพบว่ามีหญิงไทยเจ้าของกิจการที่ตลาดกลางอาหารทะเลในมหาชัยป่วยเป็นโรคโควิด ได้มีการสอบอวนโรคและค้นหาเชิงรุกทำให้พบว่ามีแรงงานพม่าเกือบครึ่งหน่งจากประมาณ 4,000 คนที่มีการติดเชื้อโควิด ทางภาครัฐเริ่มปิดล้อมตลาดกลางกุ้งและประกาศให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ต้องควบคุมสูงสุด จากการเคลื่อนย้ายแรงงาน ต่อมามีการสุ่มตรวจในชุมชนใกล้เคียงและห่างออกไปก็พบผู้ติดเชื้อกระจายครบทั้ง 3 อำเภอและเกือบทุกตำบล โดยพบมากที่สุดในเขตอำเภอเมือง ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 เจ้าของโรงงานแห่งหนึ่งที่มีคนงานประมาณสี่พันคนได้ทำการตรวจคัดกรองคนงานเองไป 1,500 พบว่ามีการติดเชื้อถึงร้อยละ 27 ข้อมูลดังกล่าวชี้ว่ามีการระบาดอย่างกว้างในชุมชน และยังปรากฏว่ามีประชาชนคนไทยอีกประมาณ 30 จังหวัดที่เดินทางมาประกอบธุรกิจค้าขายในบริเวณตลาดมหาชัยติดเชื้อและกลับไปตรวจพบที่จังหวัดของตนเอง
แม้สมุทรสาครจะเป็นจังหวัดเล็กที่มีประชากรไทยเพียง 580,000 คน แต่ถือเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ สามารถผลิตและส่งออกสินค้าอาหารทะเลสร้างรายได้ภุงปีละ 400,000 ล้านบาท เป็นศูนย์กลางรับซื้อและจำหน่ายอาหารทะเลไปทั่วประเทศไทย มีโรงงานทุกขนาดรวมกันประมาณ 11,500 โรงงาน เป็นโรงงานขนาดเล็กที่มีแรงงานไม่เกิน 200 คนอยู่ 11,302 แห่ง โรงงานขนาดกลางที่มีแรงงานระหว่าง 200 ถึง 500 คนอยู่ 226 แห่ง และมีโรงงานขนาดใหญ่เกินกว่า 500 คนอยู่ 38 แห่ง เนื่องจากความต้องการแรงงานมีมากและกิจกรรมที่แรงงานไทยไม่สนใจทำงาน จึงต้องพึ่งแรงงานจากประเทศเมียนมาร์ โดยมีแรงงานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องประมาณสองแสนคนเศษ และคาดว่ามีแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกอย่างน้อยเท่าตัว แรงงานต่างด้าวนอกระบบเหล่านี้เข้ามาโดยผ่านนายหน้าและข้ามมาทางช่องทางชายแดนทั้งทางภาคเหนือ และภาคกลาง คาดว่าทั้ง 2 กลุ่มรวมกัน ประมาณอย่างน้อย 500,000
แรงงานบางส่วนพักอาศัยในโรงงาน แต่ส่วนใหญ่อาศัยที่บ้านพักหรือหอพักราคาถูกประมาณ 600 แห่ง โดย 271 แห่ง เป็นแบบอาคารชุด อยู่กันอย่างแออัดหลายคนในห้องเล็ก ไม่ถูกสุขลักษณะทั้งเรื่องความแออัด ห้องน้ำ และการระบายอากาศ มักจะกินอาหารและสังสรรค์รวมกันอย่างใกล้ชิด มีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน จากการสำรวจคร่าว ๆ มีชุมชนใหญ่ที่มีหอพักและตลาดซื้อหาสิ่งของที่แรงงานเหล่านี้อยู่กันอย่างหนาแน่นเป็นหลัก 1,000 คนขึ้นไปมีอยู่ประมาณ 40 ชุมชน
ความสำคัญที่ต้องทำเรื่องนี้
มีความเสี่ยงสูงที่การติดเชื้อโควิดจะแพร่กระจายจากชุมชนหนึ่งไปสู่ชุมชนอื่น ๆ และทยอยแพร่เข้าสู่โรงงานจากแห่งหนึ่งไปแห่งอื่น ๆ เนื่องจากแรงงานพักในชุมชนและเข้าไปทำงานตามกะของตนเอง ได้มีการทำโมเดลทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น พบว่าหากไม่ควบคุมและปล่อยไปตามธรรมชาติ การติดเชื้อจะขยายตัวอย่างรวดเร็วจนถึงประมาณร้อยละ 70 ของประชากร ซึ่งการระบาดจะเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งอาจจะใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี จะมีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล และที่สำคัญจะเป็นต้นตอของการแพร่เชื้อต่อไปยังจังหวัดอื่น ๆ และทำให้ประชากรไทยติดเชื้อด้วยเช่นกัน การทำโมเดลทางคณิตศาสตร์พบว่าต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการต่าง ๆ ให้ได้ผลในระดับอย่างน้อยร้อยละ 75 จึงจะทำให้การระบาดลดลงในระดับต่ำในเวลา 4 หรือ 5 เดือน
ที่สำคัญหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาครได้ ประเทศไทยก็จะ
ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งจะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ทางการเมือง
ดังนั้นจึงควรมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ตัวอย่างความสำเร็จ
สิงคโปร์ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกับไทยมาก่อน โดยเมื่อกลางปี 2563 มีการระบาดใหญ่ระลอก 2 เริ่มต้นจากการพบว่ามีคนงานต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย ศรีลังกา ที่อยู่ตามหอพักอย่างแออัด ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนและแพร่กระจายไปในชุมชนของแรงงานต่างชาติที่มีประมาณ 300,000 คนอย่างรวดเร็ว คาดประมาณว่ามีแรงงานติดเชื้อในช่วงนั้นประมาณ 100,000 คนเศษ และมีชาวสิงคโปร์จำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแรงงานพลอยติดเชื้อไปด้วยแม้จะไม่มาก ทางการสิงคโปร์ให้ความสำคัญสูงกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพราะเห็นว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะไม่สามารถเดินได้ หากเกิดโรคระบาดร้ายแรงในแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญ และการเปิดประเทศก็จะไม่เป็นผลสำเร็จ สิงคโปร์ใช้หลักการตรวจคนงานทุกคน ทุก 2 สัปดาห์ แยกคนไม่ติดเชื้อไปอยู่ที่พักใหม่ที่ดัดแปลงจากเรือสำราญจำนวนมากที่ต้องจอดหยุดอยู่โดยไม่ได้ใช้งาน
ส่วนคนที่ติดเชื้อให้แยกอยู่ที่หอพัก ระหว่างนั้นมีการจำกัดให้แรงงานอยู่ในบริเวณชุมชนที่กำหนดรวมใช้เวลา 3 เดือน จึงสามารถลดการติดเชื้อจากวันละ 1,000 กว่าราย เหลือเพียงหลักต่ำกว่า 100 จนควบคุมได้ นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ซึ่งอาศัยความจริงจังของรัฐบาล การร่วมมือของเอกชนและสังคม บนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลและการศึกษาวิจัยที่คู่ขนานไป
วัตถุประสงค์และหลักสำคัญของการควบคุม
เป้าหมายในการควบคุมการระบาดในพื้นที่ควรมีวัตถุประสงค์และหลักสำคัญดังต่อไปนี้
-
ลดการแพร่ระบาดในจังหวัดสมุทรสาคร ให้สู่ระดับต่ำไม่เกินร้อยละ 5 ต่อ 100,000 ประชากร/สัปดาห์ หรือวันละไม่เกิน 10 รายภายใน 6 เดือน
-
จำกัดการแพร่ระบาดไปจังหวัดอื่นที่เชื่อมโยงกับต้นตอในจังหวัดสมุทรสาคร
-
รักษาระดับการผลิตและส่งออกให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
-
ทำให้แรงงานกว่าร้อยละ 90 เข้าสู่ระบบภายใต้กฎหมาย ได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้นกว่าเดิม
องค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์
-
ขึ้นทะเบียนแรงงานทั้งหมด สร้างฐานข้อมูลแรงงานราบบุคคล โดยไม่สร้างความกังวลเรื่องความผิดทางกฎหมายให้กับนายจ้าง ใช้วิธีเชิงรุกที่รวดเร็ว และสบายใจ โดยออกบัตรที่จะแสดงสถานะบุคคล และสถานการณ์ตรวจโควิดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งในขณะนี้ได้เริ่มต้นแล้ว แต่ยังไม่รวดเร็วพอ
-
สำรวดทางระบาดวิทยาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทราบอัตราการติดเชื้อในชุมชนหอพักใหญ่ ๆ และโรงงานขนาดกลางและขนดใหญ่ โดยแบ่งชุมชนและโรงงานออกเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อต่ำ (น้อยกว่าร้อยละ 10) ติดเชื้อปานกลาง (ร้อยละ 10-25) และติดเชื้อสูง (มากกว่าร้อยละ 25) โดยสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดที่ทำอยู่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม ทั้งนี้สามารถปรับการแบ่งระดับอัตราการติดเชื้อเพื่อกำหนดวิธีการตรวจสอบและควบคุมได้ตามความเหมาะสม
-
คัดกรองผู้ติดเชื้อทุกสองสัปดาห์และควบคุมโรคตามระดับการติดเชื้อ โดยวิธีการตรวจนั้นควรต้องผสมผสานทั้งการตรวจหาสารพันธุกรรม (PCR) รายบุคคลหรือรวมกลุ่มเล็ก (Pooled sample) จากน้ำลาย ร่วมกับการตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Rapid Antibody testing) ที่สามารถทำได้รวดเร็วกว่าอ่านผลได้เลยและราคาถูกกว่า สำหรับการกำหนดประชากรที่จะต้องตรวจ อาจใช้โรงงานเป็นสถานที่กำหนดแต่มีข้อกังวลคือมีจำนวนเป็นหลักหมื่นโรงงาน หรืออาจใช้หอพักที่มีอยู่ประมาณ 600 แห่งเป็นตัวกำหนด หรือผสมผสาน รายละเอียดสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม โดยมีแนวทางดังนี้
สถานที่ติดเชื้อต่ำ ให้ตรวจทุกรายทุก 2 สัปดาห์ โดยใช้วิธี pool saliva เก็บตัวอย่างน้ำลายห้ารายรวมกันเป็น 1 ตัวอย่าง แล้วตรวจเฉพาะ pool ที่มีผลเป็นบวก เพื่อทราบกลุ่มผู้ติดเชื้อเพื่อนำไปแยกกักเป็นเวลา 10 วัน ก่อนออกใบรับรองสถานะว่าพ้นระยะกักตัว ส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อในรอบนี้ให้ทำการตรวจซ้ำทุก 2 สัปดาห์ ระหว่างนี้สามารถเดินทางไปทำงานได้ตามปกติ แต่ลดการพบปะกับผู้อื่น
สถานที่ติดเชื้อปานกลาง ให้ตรวจน้ำลายแบบรายบุคคลทุกรายในชุมชนทุก 2 สัปดาห์ รายที่มีผลตรวจเป็นบวกให้นำมาแยกกันเป็นเวลา 10 วัน ก่อนออกใบรับรอง ส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อในรอบนี้ให้ทำการตรวจต่อทุก 2 สัปดาห์ ระหว่างนี้สามารถเดินทางไปทำงานได้ตามปกติ แต่ลดการพบปะกับผู้อื่น
สถานที่ติดเชื้อสูง ให้ตรวจภูมิคุ้มกันแทน รายที่มีภูมิคุ้มกันแล้วไม่ต้องตรวจต่อ ให้ใบรับรองเพ่อเดินทางทำงานและไปที่อื่นภายในจังหวัด แต่ไม่ข้ามจังหวัด รายที่ไม่มีภูมิคุ้มกันให้ทำการตรวจน้ำลายหากมีผลเป็นบวกให้แยกออก และกักตัว 10 วันเมื่อครบให้ใบรับรอง รายที่ยังไม่บวกและไม่มีภูมิคุ้มกันให้ทำการตรวจทุก 2 สัปดาห์
ทั้งนี้รายละเอียดและการเลือกใช้วิธีการตรวจสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยมีคณะทำผู้เชี่ยวชาญดูแลเนื่องจากเป็นการตรวจจำนวนมาก รัฐควรหารือกับห้องตรวจทุกแห่งเพื่อกำหนดราคาที่ต่ำพอแต่ไม่ขาดทุน ไม่ใช่การคิดราคาตามปกติที่ใช้กันทั่วไปในขณะนี้ เพื่อลดภาระเรื่องงบดำเนินการ คาดว่าอาจต้องตรวจเป็นรอบ ๆ รวมประมาณ 6 ถึง 8 รอบตลอด 3-4 เดือนข้างหน้า และรวมการตรวจประมาณ 1-1.5 ล้านตัวอย่างและอาจใช้งบประมาณ 500-750 ล้านบาท
-
การจัดหาวัคซีนและฉีดให้ครอบคลุมแรงงานทุกคน เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่อย่างแออัดของแรงงานทำให้หลักการ Social Distancing มีข้อจำกัดไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ การใช้วัคซีนจึงเป็นมาตรการที่ดีที่สุดที่พึงทำได้แม้ว่าจะช้าไปบ้างแต่ก็ยังได้ประโยชน์ รัฐควรใช้เงินประกันสังคมที่เก็บได้จากแรงงานต่างด้าว ซื้อวัคซีนประมาณ 2 ล้านโดส ครอบคลุมประมาณ 1 ล้านคนเพื่อฉีดให้แรงงานไทย และงานต่างด้าวทุกคน เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อ โดยวัคซีนนี้มาจากการซื้อเพิ่มเติมเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ไม่ได้ไปแบ่งมาจากจำนวนที่รัฐบาลซื้อให้คนไทยตามแผนเดิม อาจใช้งบประมาณ 1,000 บาทต่อคน หรือรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท ประโยชน์จะเกิดกับผู้อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสาครทุกคน และคนไทยในจังหวัดอื่น ๆ จากการลดการแพร่เชื้อ โดยหากดำเนินการอย่างรวดเร็ว น่าจะได้วัคซีนมาฉีดในช่วงต้นเดือนมีนาคม และฉีดให้แล้วเสร็จสองเข็มภายในเดือนเมษายน งบประมาณอาจมาจากประกันสังคมที่เก็บได้จากแรงงาน ร่วมกับภาคเอกชนสมทบโดยรัฐสร้างกลไกจูงใจ
-
การจัดหาที่แยกผู้ติดเชื้อ ให้รองรับได้ 1,000 คน โดยหากแต่ะคนต้องกักตัวสิบวัน ก็จะสามารถรอบรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ 1,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ที่แยกกักตัวอาจมีด้วยกัน 3 ประเภท คือ โรงพยาบาลสนามซึ่งอาจรองรับได้ 4,000 คน โรงงานที่สามารถหาสถานได้สมทบอีกประมาณ 3,000 คน และการดัดแปลงหอพักต่าง ๆที่มีแยกผู้ติดเชื้อเป็นตึกหรือเป็นชั้นอีกประมาณ 3,000 คน ทั้งนี้สามารถขยายเพิ่มเติมได้หากความต้องการมีมากในระยะแรก แต่จะค่อยๆลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เป็นที่น่ายินดีที่ทางจังหวัดได้เริ่มดำเนินการแล้วและควรสนับสนุนให้รองรับได้เต็มศักยภาพภายในเดือนกุมภาพันธ์ หากผู้ติดเชื้อที่แยกไว้ตามโรงงานหรือหอพักหรืออื่น ๆที่มีอาการ ให้มีระบบรับส่งมาตรวจที่ รพ สนามในโซนนั้น ๆ
-
การขยายอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว (อสต) ที่เป็นผู้นำในกลุ่ม ประมาณ 5,000 คน (ปัจจุบันมีอยู่แล้วประมาณ 3,000 คน) โดยแต่ละคนรับผิดชอบดูแลแรงงานต่างด้าวประมาณ 100 คน ทำหน้าที่ให้ความรู้ ตักเตือนผู้ไม่ปฏิบัติตามหลักการป้องกัน คัดกรองผู้มีอาการและ ประสานการตรวจทุก 2 สัปดาห์ ตลอดช่วยนำแรงงานขึ้นทะเบียน เฝ้าระวังเหตุการณ์ และประสานเรื่องอื่น ๆ
-
ดูแลเรื่องรายได้และการบรรเทาความเดือดร้อนทางสังคม เพื่อให้ผู้ถูกแยกตัวได้รับรายได้ที่เหมาะสมจากการไม่ได้ทำงานรวม 10 วัน และอาสาสมัครที่ช่วยงานรวม 10 เดือน นอกจากนี้อาจยังต้องสนับสนุนเรื่องระบบสื่อสารในการใช้ Application หมอชนะหรือไทยชนะ
-
ควบคุมการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวด เพื่อมิให้ซ้ำเติมปัญหาเดิม หากจะเข้ามาให้ผ่านกระบวนการกักตัวเช่น local state quarantine หรือ organization quarantine สำหรับแรงงานที่อยู่ในจังหวัดยังคงต้องจำกัดการเคลื่อนย้ายมิให้ออกนอกเขตจังหวัดจนกว่าสถานการณ์กลับสู่ปกติ
-
จัดระบบเฝ้าระวัง แบบ sentinel โดยมีการสุ่มตรวจการติดเชื้อในชุมชนสำคัญทั้ง 40 แห่งอย่างต่อเนื่อง มีการสอบสวนให้ทราบสาเหตุการติดเชื้อที่เป็นกลุ่มก้อนและการติดเชื้อผิดปกติเพื่อปรับมาตรการต่าง ๆ
-
จัดระบบการสื่อสารสร้างความร่วมมือและความรู้ เนื่องจากเป็นการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน นายจ้าง ผู้ประกอบการหอพัก ประชาชนในสมุทรสาคร และประเทศโดยรวม ทุกฝ่ายและสาธารณะควรได้รับทราบแผนยุทธศาสตร์ และยินดีพร้อมใจให้ความร่วมมือ ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้ง การสื่อสารควรมีภาษาที่แรงงานใช้ด้วยเพื่อรู้วิธีการดความเสี่ยงโดยเฉพาะในที่พักในชุมชน
ข้อเสนอเพื่อดำเนินการ
-
ระดมความเห็นเพื่อสร้างฉันทามติเบื้องต้นในการกำหนดยุทธศาสตร์หลัก ส่งต่อร่างให้ ศบค. พิจารณา โดยสามารถปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามเหมาะสม และแปลงเป็นแผนปฏิบัติการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าภาพร่วมกัน
-
จัดตั้งคณะอำนวยการเพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะขึ้นตรงกับ ศบค. เพื่อดูแลด้านนโยบายและการประสานงานข้ามกระทรวง การระดมทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากรจากภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดที่จะทำหน้าที่หลักในการดำเนินการ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ตัวแทนภาคธุรกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น นักวิชาการ นักสังคมศาสตร์ และตัวแทนแรงงานไทยและต่างชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง
-
จัดงบประมาณให้ทีมวิจัยสหวิทยาการเพื่อศึกษาทางด้านระบาดวิทยา การควบคุมโรค สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้แลประเมินผลความสำเร็จพร้อมจัดทำข้อเสนอเป็นระยะ โดยรวมถึงนวทางในการสร้างระบบขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย มีสวัสดิการ และความเป็นอยู่ที่ไม่เอื้อต่อการระบาดของโรคในเช่นกรณีนี้
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะสามารถควบคุมการระบาดในจังหวัดสมุทรสาครได้ โดยมีการติดเชื้อรายใหม่ไม่เกินหลักสิบ แลสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปที่อื่น ๆ ลดผลกระทบการต้องปิดโรงงานหรือยุติการผลิต และระงับข่าวลือต่าง ๆ ตลอดจนสามารถสร้างต้นแบบระบบจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการควบคุมโรคระบาดสำหรับพื้นที่อื่น ๆ และสร้างความเชื่อมั่นต่อการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศ
ขอขอบคุณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เขตตรวจราชการที่ห้า กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแลข้าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หอการค้าไทยและอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นต่าง ๆ
คณะผู้จัดทำข้อเสนอ
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข: นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นพ.ธีนะวัฒน์ เหมะจุฑา นพ.ยศ ธีระวัฒนานนท์ นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนรัตน์ นพ.ภาสกร อัครเสวี นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ นพ.ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล
ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม: ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ดร.สมชัย จิตสุชน ทพ.กฤษฎา เรืองอารีรัตน์
- 224 views