ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการฟ้องคดีบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า ในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้กล่าวโทษบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าในประเด็นเรื่อง ‘การตลาดและการขายบุหรี่ไฟฟ้าชูรสที่มีกลิ่นหอม’ ให้กับเด็กๆ ในเมืองชิคาโก โดยเมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา สภาเมืองชิคาโกได้สั่งห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าชูรสที่วัยรุ่นชื่นชอบ ซึ่งนายกเทศมนตรี ชิคาโก ได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดการเสพติดและธุรกิจนี้ต่างก็มุ่งเป้าหมายไปที่คนหนุ่มสาวโดยหวังว่าจะพัฒนาพวกเขาให้เป็นลูกค้าตลอดชีวิต’

“โดยผลสำรวจการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนสหรัฐฯ ปี 2563 พบว่า เยาวชนสหรัฐฯ สูบบุหรี่ไฟฟ้าชูรส ถึง 82.9% ซึ่งการชูรสเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เยาวชนเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ก่อนหน้านี้บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกฟ้องร้องในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน โดยเขตการศึกษาในเมืองลอสแองเจอลิส ได้ฟ้องบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าในข้อหาสร้างการแพร่ระบาดของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อเยาวชนซึ่งขัดขวางการเรียนรู้และเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของนักเรียนมากกว่า 600,000 คนในเขตการศึกษา ทั้งนี้เมื่อเดือนมกราคม 2563 องค์การเดอะยูเนี่ยน ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพปอด ได้เสนอว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง ควรห้ามนำเข้าหรือขายบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องมาจากบริษัทบุหรี่มุ่งเป้าไปที่เยาวชน โดยต้องการเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปสูบบุหรี่ธรรมดาในกลุ่มเยาวชน ซึ่งผลต่อสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่เป็นที่ประจักษ์ จึงควรคำนึงถึงหลักการป้องกันไว้ก่อนที่จะมีความเสียหายเกิดขึ้นกับเยาวชน” ดร.วศิน กล่าว

ดร.วศิน ชี้ว่า จากกรณีปัญหาฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อเยาวชนอย่างชัดเจน ดังนั้นเพื่อคุ้มครองสิทธิในสุขภาพของเยาวชนไทย จึงสมควรอย่างยิ่งที่ประเทศไทยคงมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามขาย และห้ามบริการ บุหรี่ไฟฟ้าต่อไป