ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศโรคภูมิแพ้ฯ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แนะผู้สูงอายุที่ป่วยหอบหืด-ผู้ป่วยหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง-ถุงลมโป่งพอง จำเป็นต้องรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันโรคกำเริบรุนแรง เตือน! คนที่มีประวัติแพ้วัคซีนต้องระวังเป็นพิเศษเพราะมีความเสี่ยง

ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง และผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด จำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากหากติดเชื้อมีโอกาสที่จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นกว่าปกติ

ศ.ดร.พญ.อรพรรณ กล่าวว่า ในส่วนของผู้สูงอายุที่เป็นโรคหอบหืดนั้น ถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงซ้ำทั้งในแง่ของอายุ และเนื้อปอด หากเกิดการติดเชื้อโควิด-19 จะยิ่งทำให้เนื้อปอดได้รับความเสียหาย ที่ผ่านมาจึงมีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสมาโดยตลอด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉะนั้นเมื่อ โควิด-19 เป็นไวรัสอีกตัวหนึ่ง การฉีดวัคซีนจึงมีประโยชน์ในแง่ที่จะไม่ทำให้หอบหืดกำเริบรุนแรง

สำหรับความกังวลต่อการแพ้วัคซีนนั้น ยืนยันว่าผู้ป่วยโรคหอบหืด ภูมิแพ้ ไม่ได้มีความเสี่ยงมากไปกว่าคนทั่วไป ยกเว้นเพียงแต่ผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงจากวัคซีนโควิด-19 เพราะในวัคซีนอาจมีสารประกอบที่ใกล้เคียงกันกับวัคซีนตัวอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น Polyethylene glycon (PEG) หรือ polysorbate อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีน ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคภูมิแพ้ก่อนรับวัคซีน ส่วนกรณีคนไข้โรคหืดที่เป็นเด็กนั้น เนื่องจากวัคซีนยังไม่ได้ทำการทดสอบในเด็ก และผู้ป่วยเด็กไม่ได้เสี่ยงต่ออาการติดเชื้อรุนแรงเหมือนผู้สูงอายุ ดังนั้นให้ดูแลตนเองด้วยการใช้ยาป้องกันหืดสม่ำเสมอ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ก็สามารถป้องกันโรคได้

“ผู้ป่วยที่ยังไม่มีความมั่นใจก็อาจจะต้องเข้าปรึกษาแพทย์ที่รักษาเพื่อวางแผนการรับวัคซีนไม่ให้ทับซ้อนกัน และควรเว้นระยะของวัคซีนแต่ละชนิดอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้วัคซีนได้ประสิทธิภาพ และกระตุ้น ภูมิได้ดีขึ้น ซึ่งอัตราการแพ้วัคซีนนั้นเกิดขึ้นน้อยมากเพียง 11 เคส ต่อการฉีดวัคซีนหนึ่งล้านโดส แต่ตัวเลขนี้ก็อาจจะเพิ่มขึ้นได้ถ้าในกรณีที่เริ่มมีการฉีดอย่างแพร่หลาย” ศ.ดร.พญ.อรพรรณ กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ฯ กล่าวต่อไปว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด การให้ยาโดยวิธีฉีดเป็นการรับยาด้วยวิธีที่รวดเร็วซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแพ้รุนแรงได้ เพราะฉะนั้นการรับยาฉีดต้องทำในสถานพยาบาลที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตครบ นอกจากนี้ยังต้องมีการเฝ้าระวังอาการในสถานพยาบาลหลังฉีดภายในเวลา 30 นาที

“ถ้าเกิดอาการแพ้แบบไม่รู้ตัวและได้รับการช่วยเหลือไม่ทันก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คาดเดายาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยฉีดวัคซีนตัวอื่นมาแล้วแพ้ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ โดยวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะมีโอกาสแพ้กี่เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลยังไม่มากพอที่จะบอกได้ว่าแพ้หรือไม่” ศ.ดร.พญ.อรพรรณ กล่าว