ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอศักดิ์ชัย” ย้ำบทบาท อปสข.–อคม. อนุกรรมการระดับเขตพื้นที่ กลไกหลัก สปสช. หนุนเดินนโยบาย “ยกระดับกองทุนบัตรทอง” ต่อยอดหลังเปลี่ยนภาพลักษณ์สิทธิบัตรทองจาก “สงเคราะห์” สู่ “สิทธิ” เพิ่มคุณภาพมาตรฐานบริการ สร้างความเท่าเทียม

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะอนุกรรมการระดับเขตพื้นที่ พบเลขาธิการ สปสช. ทั้งคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) และคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) ทั้ง 13 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีตัวแทน อปสข. และ อคม. เข้าร่วมประชุม พร้อมถ่ายทอดการประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากพื้นที่ โดย อปสข. และ อคม. เป็นกลไกสำคัญของการทำงานในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เดินไปข้างหน้า ซึ่งความเห็นทั้งหมดที่ได้รับวันนี้ สปสช.จะรวบรวมเพื่อนำไปพัฒนาระบบและปรับปรุงการทำงานต่อไป ทั้งนี้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ตัวระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ปัจจุบันได้ถูกฝั่งแน่นและเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพแล้ว แต่จะขับเคลื่อนได้ต้องมีองค์กรคือ สปสช. ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการและคณะทำงานชุดต่างๆ ทั้งที่ส่วนกลางและพื้นที่ รวมถึง อปสข. และ อคม. ในการทำงานร่วมกัน

ในฐานะเลขาธิการ สปสช. ซึ่งจะครบ 4 ปีแล้ว มองว่าความเปลี่ยนแปลงของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ คือการเปลี่ยนแปลงมุมมองระบบจากสงเคราะห์เป็นสิทธิ โดยการสงเคราะห์คือการดูแลขั้นต่ำให้พออยู่ได้ แต่พอเป็นสิทธิคือการให้ได้สิ่งดีที่สุดตามมาตรฐานคุณภาพและต้องมีความเท่าเทียม จึงทำให้การสงเคราะห์และสิทธิแตกต่างกัน ดังนั้นสิทธิจึงเป็นหัวใจสำคัญของระบบ ซึ่งในส่วนของสิทธิความครอบคลุมโรคและความเจ็บป่วย จากการรับฟังความเห็นส่วนต่างๆ ทำให้สิทธิประโยชน์ประเภทและขอบเขตบริการมีความครอบคลุมมากขึ้น ปัจจุบันได้ดูแลจนถึงโรคหายากแล้ว

อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่สิทธิ แต่ทำอย่างไรให้ประชาชนพอใจเวลาไปใช้บริการที่หน่วยบริการ การยกระดับบริการ ซึ่งเป็นนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่ต้องมองและช่วยกันคิดต่อไป ซึ่งต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เช่น การลดความแออัดในโรงพยาบาล การส่งยาทางไปรษณีย์ ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน รวมถึงบริการเจาะเลือดใกล้บ้านที่นำร่องในพื้นที่ กทม. เป็นต้น โดยการทำงานของ อปสข. และ อคม. มีขอบเขตบทบาทดูแลประชาชนทั้งในด้านการเข้าถึงสิทธิและความครอบคลุม การกำกับคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยในบริการ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ที่จะช่วยผลักดันการยกระดับระบบจากนี้

“เกือบ 20 ปีของการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ความพึงพอใจต่อระบบได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ให้บริการ จากที่แต่เดิมที่ระดับความพึงพอใจไม่มาก แต่ภายหลังคะแนนความพึงพอใจต่อระบบของผู้ให้บริการได้เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน อนาคตสิ่งที่ผมอยากฝากไว้คือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ต้องใช้ทรัพยากรดูแลสูงมาก การจัดการโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งคงไม่เพียงพอ จึงต้องดึงความร่วมมือจากทุกฝ่าย และการลดความเหลื่อมล้ำในระบบ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากการเดินหน้าต่อตามแผนปฏิรูปประเทศแล้ว ยังต้องขับเคลื่อนระบบต่อใน 5 ประเด็นความท้าทายจากนี้ คือ 1. การเข้าถึงบริการของประชาชน ทั้งกรณีของกลุ่มเปราะบางที่ยังตกหล่นและมีข้อจำกัดการใช้สิทธิ กลุ่มคนชั้นกลางที่ยังไม่เชื่อมั่นระบบ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและภาวะพึ่งพิง และดูแลประชากรให้เข้าถึงบริการสำคัญที่ยังเข้าถึงได้น้อย เช่น บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นต้น 2. ระบบบริการ โดยเพิ่มเติมบริการใหม่ๆ ที่สอดรับกับวิถีชีวิตใหม่ สิทธิประโยชน์ยารักษาและบริการใหม่ ระบบการแพทย์ดิจิทัล และการจัดหน่วยบริการแบบใหม่ที่หลากหลายเพื่อบริการประชาชน

3. บริหารจัดการองค์กร โดยปรับโครงสร้างและกลไกภายในให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอกองค์กร จัดระบบการตรวจสอบเบิกจ่ายรวดเร็วที่ต้องถูกต้องและทันเวลา การทำงานร่วมกับคณะกรรมการชุดต่างๆ ด้วยกลไกอภิบาล สร้างความร่วมมือและไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นต้น 4.การเงินการคลัง การจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จัดหาแหล่งงบประมาณอื่น พัฒนารูปแบบการจ่ายชดเชยที่ลดความเสี่ยงของหน่วยบริการและการควบคุมต้นทุน 5.ขยายสร้างการมีส่วนร่วม หน่วยบริการ องค์กรวิชาชีพ ประชาชน เครือข่ายผู้ป่วย รัฐบาล หน่วยงานภาคี และนักวิชาการ