ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.พระนั่งเกล้า พร้อมให้บริการ “จองสิทธิ-ฉีด” วัคซีนไข้หวัดใหญ่ แก่ 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิฟรี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. -31 มี.ค. ก่อนเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. -31 ส.ค.ด้านผู้ป่วยวัย 81 ปี ยืนยัน สร้างความสะดวกสบาย เหตุกระจายวัคซีนครอบคลุมระดับชุมชน

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช. ได้เปิดให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิ จองสิทธิวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้พบว่าหน่วยบริการต่างๆ ทั่วประเทศเริ่มมีการจัดเตรียมแผน และความพร้อมในการให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายบริการที่ตั้งไว้แล้ว จึงต้องขอขอบคุณหน่วยบริการทั่วประเทศที่ร่วมให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งนอกจากเป็นการร่วมดูแลสุขภาพประชาชน ยังทำให้การดำเนินสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองบรรลุเป้าหมายด้วย

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ปี 2564 นี้ สปสช. ได้จัดเตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 4 ล้านโดส สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิ และ 3.5 แสนโดสสำหรับหญิงมีครรภ์ทุกสิทธิ โดยประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง โดยจะเปิดให้จองสิทธิวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. - 31 มี.ค. 2564 และสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีน ได้ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ค.– 31 ส.ค. 2564 ส่วนหญิงตั้งครรภ์สามารถลงทะเบียนและฉีดวัคซีนได้ตลอดทั้งปี

สำหรับช่องทางการจองสิทธิ ประกอบด้วย 4 ช่องทาง ได้แก่ 1. สายด่วน สปสช. โทร. 1330 กด 1 หลังจากนั้นกด 8 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น. (ทั่วประเทศ) 2. หน่วยบริการประจำ หรือในระบบบัตรทอง (ทั่วประเทศ) 3. Line @UCBKK สร้างสุข (เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองหรือพักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร) ให้บริการจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30 - 18.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. 4. เฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีทางเลือกสามารถจองสิทธิผ่าน Health Wallet ภายในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งครอบคลุมผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ

 

ด้าน นพ.มณเฑียร เพ็งสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพประชากรใน จ.นนทบุรี และเขตพื้นที่ใกล้เคียง โดยที่ผ่านมา นอกจากการให้บริการรักษาพยาบาลดูแลผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แล้ว โรงพยาบาลยังได้จัดบริการเชิงรุกในด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ช่วยลดภาระเจ็บปวดรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบได้ด้วย

สำหรับการให้บริการของโรงพยาบาล มีการบริหารจัดการอย่างครบวงจร ทั้งลงทะเบียนรับจองสิทธิวัคซีนที่หน่วยบริการ การจัดระบบเก็บและกระจายวัคซีน การให้บริการฉีดวัคซีนทั้งที่โรงพยาบาลและหน่วยบริการลูกข่ายระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) โดยมีการบริหารจัดการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปยังหน่วยบริการลูกข่ายระดับปฐมภูมิ

ทั้งนี้ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนวัดเขตนอก จำนวน 1 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในเขต อ.เมือง จำนวน 15 แห่ง ในเขต อ.บางบัวทอง จำนวน 3 แห่ง ในเขต อ.ปากเกร็ด จำนวน 3 แห่ง ในเขต อ.บางใหญ่ จำนวน 1 แห่ง พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการกระจายวัคซีนไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล จำนวน 5 แห่ง

 

นายชาญ ปานไทย อายุ 81 ปี เปิดเผยว่า ได้เดินทางมายังโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเพื่อจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วยตัวเอง เนื่องจากตนเองมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและอายุเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง และที่ผ่านมาก็ได้เข้ามาใช้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฟรีของ สปสช. เป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนตัวมองว่าการเข้ามาจองฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้มีความยุ่งยาก เนื่องจากมีการกระจายการให้บริการไปตามจุดต่างๆ ที่สะดวก เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนวัดแคนอก ในกรณีที่มีคนมาฉีดไม่เยอะก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นการเอื้อให้ชาวบ้านได้รับบริการสะดวกขึ้น

นอกจากนี้ ส่วนตัวเป็นอาสาสมัครสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อยู่แล้ว ได้ร่วมรณรงค์ให้คนมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ที่โรคประจำตัวเข้าข่าย 7 กลุ่มเสี่ยง ซึ่งชาวบ้านในชุมชนก็ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมรับบริการเนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่าย

“ที่ผ่านมาโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าพยายามเข้าไปให้บริการและรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ถึงในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้รับความสะดวกสบายและมีภูมิคุ้มกันด้วยการออกมาฉีดวัคซีน” นายชาญ กล่าว

อนึ่ง 7 กลุ่มเสี่ยงที่เข้าข่ายรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ฟรี ได้แก่ 1. หญิงมีครรภ์ 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 7. โรคอ้วน มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร อย่างไรก็ตามหญิงมครรภ์แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เมื่อมีอายุ 4 เดือนขึ้นไป